xs
xsm
sm
md
lg

เปิดวิสัยทัศน์ ‘AIS’ ปี 65 มุ่งสู่ Cognitive Telco

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุตสาหกรรมโทรคมนาคมกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ จากปัจจุบันที่อยู่ในมือของ 1 เจ้าของ กับ 2 มืออาชีพ เดินหน้าแปรร่างไปสู่ 2 เจ้าของแทน เพราะ 1 มืออาชีพตาน้ำข้าวอาศัยความพลิ้วและความเขี้ยวในตัว ฉกชิงจังหวะหวังถอนตัวจากประเทศไทยแบบได้เงินถุงเงินถังกลับบ้าน ไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนเหตุการณ์ขายส้มแค่บาทเดียว ในขณะที่อีกฟากก็จนปัญญาสร้างเรื่องราวใหม่ๆ คำว่าควบรวมจึงเป็นทางออกของเรื่องราวที่จินตนาการได้ไม่รู้จบ สร้างเทพนิยายขายฝันได้อีกหลายรอบ เพราะแค่เรื่องวัฒนธรรมในการทำงานระหว่างฝรั่งกับจีนก็ไม่ต้องเดาได้แล้วว่าไปกันไม่รอดแน่นอน เชื่อได้ว่าเบื้องต้นของการแข่งขันย่อมรุนแรงเพื่อช่วงชิงฐานลูกค้าและส่วนแบ่งการตลาด แต่ระยะยาวไม่มีอะไรดีเท่า 2 เจ้าของจับเข่าคุยกันเพื่อรักษาผลกำไรให้มากที่สุด ลูกค้าประชาชนก็แทบไม่เหลือทางเลือกอะไรได้มากมายนักยามนั้น

​ในฐานะของผู้นำตลาดเวลานี้ AIS จึงไม่สามารถหยุดอยู่ที่การเป็น Digital Service Provider หรือผู้ให้บริการดิจิทัลที่เดินหน้าสร้างรากฐานร่วมกับพันธมิตรมาอย่างต่อเนื่อง แต่จำเป็นต้องปรับกระบวนท่าสู่การเป็น ‘Cognitive Telco’ ในลักษณะขององค์กรอัจฉริยะ

​ภาพของการเป็น Cognitive Telco ที่ AIS สื่อสารออกมาในช่วงแรกคือ การเปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมนั้นก้าวผ่านจากการแข่งขันในแง่ของความเร็ว ความแรง หรือดีกว่ากันอย่างไร แต่จะเป็นการแข่งขันเพื่อเข้าใจลูกค้า และตอบสนองความต้องการให้ลูกค้าในทุกกลุ่ม


สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมในปีหน้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน เพราะถ้าเกิดการควบรวมธุรกิจ ทำให้ผู้เล่นในตลาดเปลี่ยนไป วิสัยทัศน์ในการให้บริการก็จะเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่ในมุมของคู่แข่งเท่านั้นที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ในมุมของ AIS เองก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วย จากการปรับโครงสร้างของผู้ถือหุ้นใหม่อย่าง GULF ที่เข้ามาถือหุ้นใน Intouch เมื่อรวมกับองค์ความรู้ทางด้านโทรคมนาคมที่แข็งแรงมากๆ ของ Singtel จะทำให้ AIS ได้ประโยชน์จาก 2 กลุ่มธุรกิจนี้อย่างแน่นอน

​“การเข้ามาถือหุ้นของ GULF จะเพิ่มการคิดธุรกิจในแง่ของเจ้าของ เพื่อให้เห็นธุรกิจในภาพรวมมากยิ่งขึ้น รวมถึงได้ความเชี่ยวชาญธุรกิจในท้องถิ่น ที่เดิม Singtel อาจจะไม่ถนัด และที่สำคัญคือการขับเคลื่อนของธุรกิจจะรวดเร็วกว่าเดิม โดยเฉพาะการสร้างบิสิเนสโมเดลใหม่ๆ จากการที่สามารถตัดสินใจได้ทันที”

​เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงเกิดแนวคิดในการให้บริการแบบใหม่ที่จะเป็นวิสัยทัศน์ในการให้บริการในปี 2565 ด้วยการเข้าไปสร้างความแตกต่าง ทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดีขึ้น และประทับใจในการใช้งาน

​“ที่ผ่านมาในยุคแอนะล็อก รูปแบบการนำเสนอแพกเกจ หรือโปรโมชันต่างๆ จะใช้วิธีการแบบหนึ่ง แต่พอมาอยู่ในยุคดิจิทัล เมื่อลูกค้าแต่ละรายมีความต้องการแตกต่างกัน สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือการนำข้อมูลที่มีอยู่มาตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ตรงจุดมากที่สุด”​​

เห็นได้ว่าหลักใหญ่ของการทำ Cognitive Telco คือการนำข้อมูล (Data) ที่ AIS มีอยู่มหาศาลมาใช้งาน เพราะปัจจุบันด้วยการที่พอเป็นดิจิทัลทำให้ผู้ให้บริการสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ตลอดเวลา และเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าแต่ละบุคคลรวมถึงการนำ AI (Artificial Intelligence) และ ML (Machine Learning) มาใช้กับการให้บริการเครือข่ายที่จะสามารถให้บริการได้ต่อเนื่อง และพร้อมที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องรอให้ลูกค้าเข้ามาแจ้งปัญหาด้วย

​เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อยื่นข้อเสนอเฉพาะบุคคล เพื่อให้ตรงกับการใช้งานมากที่สุด แน่นอนว่าถ้ามองในมุมของแพกเกจอาจจะไม่ใช่ว่ามีการปรับแพกเกจให้ลูกค้าแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่จะเป็นการนำแพกเกจที่มีอยู่มาเสนอให้ลูกค้าได้เป็นตัวเลือกในการใช้งานที่คุ้มค่ามากที่สุด

​นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการพัฒนาระบบอัตโนมัติต่างๆ ภายใต้แนวคิดอย่าง Zero Touch ที่ในการเข้าไปใช้บริการในศูนย์บริการจะติดต่อกับพนักงานให้น้อยที่สุด เพื่อความรวดเร็ว และลดความเสี่ยงในช่วงสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งการพัฒนาแอปเพื่อให้ลูกค้าใช้ทำธุรกรรมต่างๆ ได้เข้ามาสร้างประสบการณ์ดิจิทัลให้แก่ลูกค้าแล้วก็จะขยายในจุดนี้ต่อไป

​โดยเป้าหมายหลักของการปรับองค์กรสู่ Cognitive Telco จะมีอยู่ 3 ส่วนด้วยกันคือ 1.เพิ่มประสิทธิภาพ และให้บริการลูกค้าในธุรกิจไร้สายอย่างต่อเนื่อง 2.สร้างการเติบโตในธุรกิจเน็ตบ้าน และธุรกิจองค์กรที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ 3.เข้าไปลงทุนในธุรกิจดิจิทัลเพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต อย่างการเข้าไปร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ ในการตั้ง AISCB ขึ้นมาเพื่อเตรียมปล่อยสินเชื่อรายย่อย ซึ่งจะเห็นรายละเอียดมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 1 ปี 65

***ฉายภาพธุรกิจโทรคมไทย ก้าวสู่ปีที่ 32


ขณะเดียวกัน สมชัย ยังเล่าถึงการลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม และประเทศไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมากว่าล้านล้านบาท โดยเป็นเงินที่มอบให้ประเทศราว 523,000 ล้านบาท กับการลงทุนเครือข่าย และใบอนุญาตอีก 481,000 ล้านบาท พร้อมกับเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการให้บริการของ AIS ในปี 2534 ที่เข้ามาลงทุนติดตั้งสถานีฐานจากวันแรกที่มี 140 สถานีฐาน จำนวนผู้ใช้บริการ 45,000 ราย

​ก่อนเดินหน้าเข้าสู่ยุค 3G ในปี 2556-2558 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีกว่าเหตุผลที่ 3G ในประเทศไทยเกิดช้าเนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ จนต่อมาในปี 2559-2562 ที่ประเทศไทยเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านจากยุคของ 3G สู่ 4G ที่ทำให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ดุเดือดทั้งการแย่งลูกค้า การทำโปรโมชันลดราคาเครื่องเพื่อให้ลูกค้าย้ายมาใช้งาน และในที่สุดคือปี 2563 ประเทศไทยก็ก้าวสู่ยุคของ 5G ซึ่งถือเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้จากการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ก่อนใครในอาเซียน ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในภูมิภาคนี้อย่างแข็งแกร่ง

​ตลอดระยะเวลา 31 ปีที่ผ่านมา AIS ได้ขยายสถานีฐานเพิ่มเป็นถึง 1.86 แสนสถานี แบ่งเป็น 17,000 สถานีฐานบนเครือข่าย 2G, 46,000 สถานีฐาน 3G, 112,000 สถานีฐานสำหรับ 4G และ 11,000 สถานีฐานสำหรับ 5G และขยายเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องทำให้ปัจจุบันเครือข่าย 2G/3G/4G ของ AIS ครอบคลุม 98% ของประชากรทั่วประเทศไทย และเครือข่าย 5G ครอบคลุม 76% ของประชากรแล้ว ด้วยจำนวนฐานลูกค้ารวมกว่า 44 ล้านราย มีส่วนแบ่งการตลาดในเชิงรายได้ถึง 46.8% พร้อมกับตั้งเป้าหมายว่าในปี 2565 เครือข่าย 5G จะขยายความครอบคลุมเพิ่มขึ้นเป็น 80-90% ของประชากร เพื่อช่วยเปิดโอกาสให้คนไทยสามารถเข้าถึงดิจิทัล รวมถึงสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจไทยด้วย

​โดยปัจจุบัน AIS ถือเป็นผู้นำในการให้บริการ 5G ที่ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และ EEC ทั้งหมด 100% เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับเริ่มนำ 5G mmWave ที่ให้ความเร็วสูงสุด 4 Gbps เข้าไปใช้งานในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการรวมคลื่น 5G CA บริการโทร.ด้วยเสียงผ่าน 5G (VoNR) บนเครือข่าย 5G SA ด้วย

***ยกระดับเน็ตบ้านสู่ 2 Gbps


อีกธุรกิจที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ AIS มุ่งมั่นลงทุนคือ AIS Fibre ที่หลังจากเปิดให้บริการในปี 2558 ปัจจุบัน AIS Fibre มีฐานลูกค้ากว่า 1.7 ล้านครัวเรือน มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 13% พร้อมกับขยายพื้นที่ให้บริการครอบคลุมกว่า 3.5 ล้านครัวเรือนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมกว่า 8 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ 77 จังหวัด เพื่อเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำเทคโนโลยีในการให้บริการ จึงได้ประกาศยกระดับเน็ตบ้านมาตรฐาน 2 Gpbs รายแรก และรายเดียวในไทยเวลานี้ โดยใช้ความสามารถของการที่มีเครือข่ายไฟเบอร์แท้ 100% รวมกับการพัฒนาอุปกรณ์ Smart Optical Converter (2.5 Gbps) เพื่อช่วยให้สามารถส่งความเร็ว AIS Fibre ระดับ 2 Gbps สู่บ้านของผู้บริโภคได้อย่างเต็มความเร็ว

​“การใช้งานอินเทอร์เน็ตภายในบ้านจะกลายเป็นอีกบริการที่ทุกบ้านให้ความสำคัญ เพราะไม่ได้ถูกนำไปใช้งานเฉพาะความบันเทิงอย่างเล่นเกม หรือดูภาพยนตร์ ซีรีส์ ความละเอียดสูงระดับ 8K เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการนำไปใช้ควบคุมอุปกรณ์สมาร์ทโฮมต่างๆ ด้วย”

​แน่นอนว่า ในแง่ของการให้บริการความเร็ว 2 Gbps ในครั้งนี้ ไม่นานคู่แข่งก็สามารถตามมาได้ ทำให้ AIS ต้องหาสิ่งที่จะมาสร้างความแตกต่างในการให้บริการ ด้วยการนำเสนอประสบการณ์ที่ดีขึ้นจากการเข้าไปร่วมกับพันธมิตรเพื่อตอบสนองการใช้งานของลูกค้า

​อย่างในกลุ่ม AIS Fibre ที่ให้บริการเน็ตบ้าน 2 Gbps ให้กลุ่มลูกค้าเซเรเนด จะมีค่าบริการรายเดือน 1,699 บาท จะได้รับสิทธิยืมอุปกรณ์เราเตอร์กระจายสัญญาณ WiFi 6 จาก Linksys ที่สามารถทำระบบ Mesh WiFi ให้ครอบคลุมพื้นที่ภายในบ้านได้ รวมถึงอุปกรณ์ AIS PLAYBOX พร้อมแพกเกจ PLAY Premium Plus ให้ใช้งาน 2 ปีด้วย

​ในกรณีที่มีเราเตอร์ประสิทธิภาพสูงใช้งานในบ้านอยู่แล้ว AIS Fibre มีแพกเกจ BYOD 2 Gbps ค่าบริการ 1,299 บาท ลดค่าแรกเข้าเหลือ 800 บาท จะได้รับสิทธิยืมอุปกรณ์ Smart Optical Converter (2.5 Gbps) มาเชื่อมต่อใช้งานได้ความเร็ว 2000/500 Mbps เพียงแต่ในช่วงแรกจะเปิดให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ

​นอกจากนี้ ยังเพิ่มแพกเกจ SuperMESH WiFi 1.5 Gbps เข้ามาเป็นทางเลือก คิดค่าบริการเดือนละ 1,299 บาท รับสิทธิยืมอุปกรณ์กระจายสัญญาณ T3 Wi-Fi 6 AX5400 จำนวน 1 เครื่อง และ T3 Wi-Fi 6 AX1800 อีก 1 เครื่องพร้อม PLAYBOX กับแพกเกจ PLAY Premium Plus ดูฟรี 2 ปีเช่นกัน โดยจะเปิดให้บริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และอีก 15 จังหวัดคือนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา นครปฐม ระยอง อยุธยา สงขลา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต พิษณุโลก ขอนแก่น และอุดรธานี

​กิตติ งามเจตนรมย์ หัวหน้าฝ่ายงานบริหารธุรกิจฟิกซ์ บรอดแบนด์ AIS กล่าวเสริมว่า การผนึกกำลังร่วมกันทั้งองค์กร เพื่อพัฒนาทั้งโครงข่ายมือถือ และไฟเบอร์ที่แข็งแกร่ง ทำให้สามารถส่งมอบบริการให้ลูกค้าได้อย่างครบถ้วนทุกมิติทั้งในปัจจุบันและรองรับอนาคต

​“การยกระดับมาตรฐานเน็ตบ้านในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันภายในองค์กรด้วยการพัฒนาโครงข่ายอัจฉริยะที่สามารถบริหารจัดการเครือข่ายแบบอัตโนมัติจากการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และทำให้สามารถคาดการณ์เทรนด์ และพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ตอบโจทย์การใช้งานได้ดีที่สุด”


กำลังโหลดความคิดเห็น