xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตที่พร่ามัวของ ‘NT’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เหมือนคนเป็นต้อกระจก มองอะไรไม่เห็นเด่นชัด พร่ามัว คล้ายอนาคต ‘เอ็นที’ ยามนี้ ยิ่งเมื่อทรูควบรวมดีแทค ยิ่งทำให้ต้องย้อนกลับมามองเอ็นทีว่าเหลือทางรอดอะไรบ้าง ไม่ว่าธุรกิจมือถือที่ฝันสลายเรื่องหาพันธมิตรคลื่น 700 MHzและควรหาทางคืนคลื่นให้กสทช. ธุรกิจบรอดแบรนด์ที่จำเป็นต้องใช้การหาพันธมิตร ที่สามารถใช้วิธีโซนนิ่งเลือกพันธมิตรได้มากกว่า 1 ราย และแนวทางปรับลดขนาดองค์กรที่นอกจากจ่ายจริงจ่ายหนัก ต้องอิงยุทธศาสตร์เปลี่ยนคู่แข่งเป็นคู่ค้า หาทางผ่องถ่ายคนไปบริษัทตั้งใหม่ รวมทั้งต้องเน้นเรื่องเน็ตเวิร์ก แชร์ริ่ง และ ลาสไมล์ แชร์ริ่งที่จะกลายเป็นขุมทองใหม่ของเอ็นที

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที ระบุว่าการควบรวมทรูกับดีแทค บนความร่วมมืออย่างเท่าเทียมระหว่างกลุ่มเทเลนอร์กับเครือซีพี (Equal Partnership) ส่งผลกระทบที่รุนแรงถึงเอ็นที เพราะสภาพเอ็นทีตอนนี้ยืนอยู่บนปากเหวแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต้องอยู่บนโลกแห่งความจริงที่ไม่ใช่มีแค่บนทุ่งลาเวนเดอร์หอมตลบอบอวล ที่ยังคิดว่าตัวเองสามารถแข่งขันกับเอกชนได้อย่างมีศักยภาพในบางบริการ

เอ็นทีวันนี้ยังประสบปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาใหญ่ที่ขั้วอำนาจยังไม่ชัดเจนในระดับสูง เห็นได้ชัดง่ายๆจากตำแหน่งกรรมการบอร์ดที่ชงมาใหม่ 4 ตำแหน่งประกอบด้วยพล.อ.สุชาติ ผ่องพุฒิ, วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา, พิมพ์วิมล วงษ์สุวรรณ และพีระกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา ปรากฎว่า พีระกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา ถูกสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สั่งถอดรายชื่อออกมา ภาพในกระจกที่สะท้อนออกมานอกจากเห็นเอ็นทีมีเงาของ ‘ลุง’ ทาบทับอยู่แบบอ้วนท้วนแล้วยังมีเงาของ ‘ลุง’ ร่างใหญ่อีกคนซ้อนทับอยู่ด้วยเช่นกัน ความไม่ชัดเจนของขั้วอำนาจส่งผลถึงการสรรหาตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ประกาศรับสมัครอยู่ เพราะยังหาตัวไม่ได้สังเกตได้จากระยะเวลาที่เปิดรับสมัครหากในสถานการณ์ปัจจุบันคาดว่าอาจจะต้องยืดเวลาออกไปอีก

‘คนมีฝีมือที่รู้ว่าเป็นใคร ก็ไม่อยากถูกจับมาเป็นตัวประกันตอนนี้ โซลูชั่นของการสรรหา คือ ต้องหาคนที่ผู้ใหญ่เชื่อว่าสั่งได้มาเป็นกจญ.แล้วให้ผู้บริหารคนในที่เรารู้ว่าเป็นใคร เป็นคนทำงานให้ แล้วปล่อยให้เป็นเรื่องของแค่การตามน้ำ ก็มีคนพร้อมทำให้อยู่แล้ว’

โจทย์ใหญ่วันนี้ของเอ็นทีคือต้องรู้จักตัวเอง เริ่มจาก 1.ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ เลิกคิดได้แล้วว่าสามารถแข่งขันกับเอกชนได้ ปัญหาหลักเกี่ยวกับธุรกิจโทรศัพท์มือถือของเอ็นทีคือการประมูลความถี่ 700 MHz มาด้วยราคาแพงลิบลิ่ว 34,000 ล้านบาทในขณะที่โอเปอเรเตอร์ 3 ค่ายได้ไปประมาณ 17,000 ล้านบาทต่อความถี่จำนวน 10 MHz เท่ากัน เพราะไม่ว่าจะนั่งคิดหรือนอนคิด ก็ไม่สามารถหาแผนธุรกิจไหนที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงได้โดยองค์กรไม่ลงเหวไปก่อน ทำให้ม.ล.ชโยทิต กฤดากร มือดีด้านการเงินต้องไขก๊อกจากตำแหน่งประธานบอร์ดเอ็นที

‘ความฝันหาพันธมิตรสลายไปนานแล้ว เพราะตอนนั้นเอไอเอสเข้ามาเสนอตัวเพื่อขวางทรูที่ข้อเสนอแตกต่างกัน ราวฟ้ากับเหว แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว เอกชนได้แต่บอกว่าตูจะเอาไปทำไม’

หากกล้าตัดสินใจทางออกที่ดีที่สุดคือต้องจับเข่าคุยกับกสทช.คืนไลเซ่นต์คืนความถี่ 700 MHz ไปสะเลิกฝันลมๆแล้งๆได้แล้วว่าจะหาพาร์ทเนอร์ได้ แล้วไม่ต้องกังวลว่าจะติดเงื่อนไขโน่นนั่นนี่

เพราะที่นี่เมืองไทย อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ

แค่ทำใจให้ได้ว่าต้องโดนปรับพอสมควรแต่ดีกว่าเสียเวลากับเรื่องที่ไม่อาจเกิดขึ้นจริงอย่างแผนธุรกิจ แต่สิ่งที่เอ็นทีควรทำคือเอาโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่จำนวนมากทั้งท่อ เสา สาย ที่เข้มแข็งมาเปลี่ยนเป็นการให้เช่าใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ตามยุทธศาสตร์ ‘เปลี่ยนคู่แข่งเป็นคู่ค้า’ สร้างประโยชน์จากทรัพย์สินที่มีอยู่แทน

‘ที่สำคัญในมุมของรัฐวิสาหกิจอาจต้องมีแพะกับการตัดสินใจแบบนี้ ก็ต้องไปหาทางออกกันเอง ว่าระหว่างองค์กรกับแพะจะเลือกอะไร’

2.ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เอ็นทีอย่าได้ฮึกเหิมว่าเป็นผู้นำตลาดหรือสามารถแข่งขันกับเอกชนได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ แต่บรอดแบนด์สามารถสนองตอบแนวยุทธศาสตร์เปลี่ยนคู่แข่งเป็นคู่ค้าได้เหมาะสม ยกตัวอย่างง่ายๆ ในพื้นที่กทม.ต้องยอมรับว่าทรูเป็นเจ้าตลาดที่แข็งแรง ในขณะที่เอไอเอสก็เร่งเครื่องเอไอเอส ไฟเบอร์ มาสุดกำลัง เอ็นที อาจเลือกเป็นพันธมิตรกับเอไอเอส น่าจะดูเหมาะสมกว่าทรูที่เป็นเจ้าตลาด ในขณะที่ในส่วนภูมิภาค เอ็นที สามารถใช้วิธีการโซนนิ่ง เลือกเป็นพันธมิตรกับทรูที่อยากขยายส่วนแบ่งในตลาดภูมิภาคในบางพื้นที่ และ สามารถเลือกเป็นพันธมิตรกับ 3BB ในบางพื้นที่เช่นกัน

3.ลดขนาดขององค์กรในช่วง 3-4 ปีข้างหน้าให้สำเร็จจากจำนวนพนักงานราว 1.7 หมื่นคนตอนนี้ควรเหลือเพียง 4,000 คนหรือถ้าไม่อยากหักดิบอย่างน้อยก็ควรลดให้เหลือราว 8,000 คนผ่านโครงการเออรี่รีไทร์ที่จ่ายครบจ่ายเต็มจ่ายถึงใจในช่วงปีนี้ปีหน้า โดยทางออกส่วนหนึ่งคือการผ่องถ่ายพนักงานจากบริษัทแม่ ไปยังบริษัทลูกอย่างบริษัทจัดตั้งใหม่กับพันธมิตรบรอดแบนด์ ซึ่งทำให้พนักงานเห็นทิศทางจำใจจากไปเริ่มต้นใหม่ในบริษัทลูกได้ชัดเจน

4.เทคโนโลยีอวกาศซึ่งคาดว่าเป็นเรื่องดาวเทียมวงโคจรต่ำที่เครือซีพีกับเทเลนอร์จับมือกันตะลุยนั้นกว่าจะเกิดขึ้นจริงอาจใช้เวลาประมาณ 4-5 ปีต่อจากนี้ ในมุมเอ็นที อาจเป็นได้แค่ยูสเซอร์ในห่วงโซ่อาหาร แต่สิ่งที่ถึงแม้มีเรื่องดาวเทียมวงโคจรต่ำแล้วก็ตาม จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง ซึ่งเอ็นทีสามารถเข้ามาให้บริการในส่วนนี้ทั้งเรื่องเน็ตเวิร์กแชร์ริ่งและลาสไมล์ แชร์ริ่ง ที่เอ็นทีมีความถนัดและแข็งแรงมากยามนี้

แหล่งข่าวระบุว่าทางรอดของเอ็นทีจำเป็นต้องเกิดขึ้นภายใต้การควบคุมแบบเบ็ดเสร็จไม่ว่าจะเป็นการเมืองผ่านทางรมว.ดีอีเอส กรรมการบอร์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่ เพราะหมากเดิมที่วางไว้วันนี้เรียกได้ว่าล่มสลายไปเกือบหมดแล้ว โดยเฉพาะคนที่จะมานั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่ถูกผลักเข้าสู่การทำลายล้างตามกระบวนการ ‘นารีพิฆาต’ ทำให้มีแนวคิดว่าจะดันมือทำงานขึ้นมาเป็นแทน แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนที่จะมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ เป็นที่รับรู้กันว่า ‘เท้าลอย’ ต้องพร้อมจะไปได้ทุกเมื่อแล้วแต่สถานการณ์การเมือง

‘แนวคิดแก้ปัญหาเอ็นที ให้ดีเลิศเลอแค่ไหน แต่ถ้าผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วย หรือ ไม่ให้ความสำคัญกับเอ็นที่มากกว่าให้ความสำคัญกับการเมืองเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็เปล่าประโยชน์’


กำลังโหลดความคิดเห็น