ข่าวปนคน คนปนข่าว
**ล้างอาถรรพ์! ส.ว.โหวตผ่าน 5 กสทช. “ธนพันธุ์-พิรงรอง-ต่อพงศ์-หมอสรณ-ศุภัช” ผงาด “อาณาจักรสายลม” ลุยประมูลดาวเทียม-คลื่น 5G
หลังหายใจไม่ทั่วท้องกันมานาน
ที่สุดการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รอบล่าสุด ก็ไม่ล้มคว่ำ เหมือนอาถรรพ์ที่เคยเกิดกับ “ว่าที่ กสทช.” หลายชุด ที่มีอันต้องถูก “ล้มกระดาน” การสรรหาไปหลายต่อหลายครั้ง ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรืองอำนาจ
หลัง “สภาสูง” วุฒิสภา ได้จัดประชุมวาระสำคัญให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กสทช.ไปเมื่อวานนี้ (20 ธ.ค. 64)
ภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการสามัญ (กมธ.) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. ที่มี “พล.อ.อู้ด เบื้องบน” ส.ว. เป็นประธาน กมธ.ได้จัดส่งรายงานผลการตรวจสอบประวัติฯให้วุฒิสภา
หลังเปิดประชุมลับเพื่อรายงานผลการตรวจสอบประวัติฯ ก่อนเปิดให้ลงคะแนนลับในคูหา
ผลลงมติปรากฏว่า “ว่าที่ กสทช.” ได้รับความเห็นชอบ 5 จาก 7 ราย ประกอบด้วย
ด้านกิจการกระจายเสียง “พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ” ให้ความเห็นชอบ 212 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 5 คะแนน ไม่ออกเสียง 6 คะแนน
ด้านกิจการโทรทัศน์ “ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต” ให้ความเห็นชอบ 213 ไม่ให้ความเห็นชอบ 4 คะแนน ไม่ออกเสียง 6 คะแนน
ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค “ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์” ให้ความเห็นชอบ 210 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 6 คะแนน ไม่ออกเสียง 7 คะแนน
ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน “นายต่อพงศ์ เสลานนท์” ให้ความเห็นชอบ 196 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 19 คะแนน งดออกเสียง 8 คะแนน
ด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ดังนี้ (ข) ด้านเศรษฐศาสตร์ คือ “รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย” เห็นชอบจำนวน 205 คะแนน ไม่เห็นชอบ 11 คะแนน ไม่ออกออกเสียง 7 คน
มี “ว่าที่ กสทช.” ไม่ผ่านการลงมติ 2 ราย คือ ด้านกิจการโทรคมนาคม “นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ” ให้ความเห็นชอบ 63 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 145 คะแนน ไม่ออกเสียง 15 คะแนน
และด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ดังนี้ (ก) ด้านกฎหมาย คือ “ร.ท.ดร.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ” เห็นชอบจำนวน 60 คะแนน ไม่เห็นชอบ 142 คะแนน งดออกเสียง 21 คน
ทำให้ “กิตติศักดิ์-ธนกฤษฏ์” ที่ได้รับเสียงเห็นชอบน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ไม่ได้ไปต่อ แถมหมดสิทธิ์ลุ้นเข้าสรรหาเป็น กสทช. ในการสรรหาใหม่ด้วย
ส่วนเหตุผลที่ทั้ง 2 ราย ถูกตีตกนั้น นอกเหนือจากกระแสข่าวว่า “มีธง” จากฝ่ายผู้มีอำนาจแล้ว ยังมีกระแสข่าวถึงข้อมูลในมือ กมธ. ตรวจสอบประวัติ ว่า “กิตติศักดิ์” อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด เคยเป็นที่ปรึกษาด้านโทรคมนาคมให้กับบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งมีคดีฟ้องร้องกับ กสทช. อยู่
ส่วน “ธนกฤษฏ์” นั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเข้าสู่ตำแหน่งรองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ของ “ธนกฤษฏ์” อาจไม่สามารถนำมาใช้อ้างเป็นลักษณะตาม 14/2(2) ได้ เนื่องจากมีข้อเท็จจริงว่า เข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 64 ก่อนมาสมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กสทช. เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 64 เท่ากับว่า ดำรงตำแหน่ง เพียง 12 วัน ก่อนสมัครรับการสรรหาฯ
คาดว่า จะเป็นเหตุผลที่ทำให้ทั้ง 2 ราย ไม่ได้ไปต่อกับเพื่อนอีก 5 คน
สำหรับขั้นตอนต่อไป พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มาตรา 16 วรรค 2
ระบุว่า “…หรือเมื่อจำนวนผู้ได้รับเลือกรวมกับกรรมการ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่รวมแล้วไม่น้อยกว่า 5 คน ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจัดให้ผู้ได้รับเลือก หรือผู้ได้รับเลือกและกรรมการซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ แล้วแต่กรณีประชุมร่วมกันเพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ แจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ เพื่อแจ้งนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง”
ซึ่งก็ทำให้ กสทช.ชุดเดิม อยู่โยงมาร่วม 10 ปี ต้องเตรียมเก็บกระเป๋ากลับบ้าน หลังต้องอยู่รักษาการต่อ แม้จะหมดวาระ และบางรายอายุเกินกว่าคุณสมบัติที่กฎหมายกำหนดไว้
หากไม่มี “อุบัติเหตุ” ว่าที่ กสทช.ทั้ง 5 ราย จะได้เข้าประจำการที่ “อาณาจักรสายลม” คุมกิจการ 3 ด้าน คือ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มูลค่านับแสนล้าน
สำหรับภารกิจเร่งด่วนที่คอยท่าอยู่ ก็มี อาทิ การจัดประมูลใบอนุญาตการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ที่ก่อนหน้านี้ ได้สั่งยกเลิกการประมูล และรอให้ กสทช.ชุดใหม่ เข้ามาดำเนินการ หากล่าช้าอาจถูก สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ยกเลิกสิทธิการใช้วงโคจร
กับการประมูลคลื่น 3500MHz สนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในประเทศไทย
ท่ามกลางผลประโยชน์มหาศาล ก็ต้องรอดูว่า กสทช.ชุดใหม่ จะทำหน้าที่ได้สมการรอคอยหรือไม่ !!
**“วิฑูรย์ นามบุตร” เลือด ปชป.ที่ไหลเข้าเพื่อไทย ร่วมปฏิบัติการแลนด์สไลด์
หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนกติกาการเลือกตั้งมาใช้บัตร 2 ใบ เพิ่มจำนวน ส.ส.เขต จากเดิม 350 คน เป็น 400 คน ลด ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 150 คน เหลือ 100 คน ทำให้นักการเมืองทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ เคลื่อนไหวกันคึกคัก
อย่างเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี ที่โคราช ก็มีการเปิดตัวสมาชิกใหม่อย่าง “พิทักษ์ชน ช่างเหลา” บุตรชาย เอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ “น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์” บุตรสาว สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ “นัจมุดดิน อูมา” อดีต ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ “ธวัชชัย อนามพงษ์” อดีต ส.ส.จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์ และ “คารม พลพรกลาง” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ด้วย
นักเลือกตั้งมองว่า กติกาใหม่จะไปเข้าทางพรรคใหญ่ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่คุ้นเคยกับการเลือกตั้งแบบนี้ ถึงขนาดนายใหญ่ “โทนี่ วู้ดซั่ม” ประกาศจะชนะแบบแลนด์สไลด์ เพื่อกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง
เมื่อสัปดาห์ก่อน “จาตุรนต์ ฉายแสง” ที่ออกจากพรรคเพื่อไทย ตามยุทธศาสตร์ “แตกแบงก์พัน” ไปอยู่พรรคไทยรักษาชาติ แต่พรรคถูกยุบก่อนการเลือกตั้ง ก็พาคนในตระกูล “ฉายแสง” กลับมาสังกัดพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิมแล้ว
ล่าสุด พรรคเพื่อไทยก็เพิ่งแถลงข่าวเปิดตัว “สุขุมพงศ์ โง่นคำ” อดีต ส.ส. สองสมัยพรรคไทยรักไทย ...เมื่อพรรคไทยรักไทยถูกยุบ ก็มาเป็น ส.ส.พรรคพลังประชาชน และเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในรัฐบาล “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ต่อมาพรรคพลังประชาชนถูกยุบอีก “สุขุมพงศ์” ในฐานะกรรมการบริหารพรรค ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไป 5 ปี
วันนี้ “สุขุมพงศ์” ขอกลับมาแจ้งเกิดอีกครั้งกับพรรคเพื่อไทย
แต่ที่ฮือฮากว่านี้เห็นจะเป็นกรณี “วิฑูรย์ นามบุตร” อดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.หลายสมัย บ้านใหญ่เมืองอุบลราชธานี ที่ก่อนหน้านี้ เป็นลูกพระแม่ธรณีบีบมวยผม และเป็นถึงรองหัวหน้าพรรคภาคอีสาน กำลัง “มีดีล” กับพรรคเพื่อไทย ตามเป้าหมายยึด ส.ส.อุบลฯ ยกจังหวัด!!
“วิฑูรย์” ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค. 64 ด้วยเหตุผลคล้ายๆ กับคนอื่นที่ออกจากพรรค คือหลังจากแพ้เลือกตั้ง ไม่ได้เป็น ส.ส.ก็ “ไม่มีที่ยืน” เขาโพสต์ในไลน์กลุ่มของพรรค ระบายความน้อยอกน้อยใจ ว่า พรรคไม่ให้ความสำคัญกับภาคอีสาน อยู่มา 30 ปี ไม่เคยคิดจะไปไหน แต่สุดท้ายก็ไม่มีที่ยืน !!
การเลือกตั้งครั้งล่าสุด เขาเป็นถึงรองหัวหน้าพรรคภาคอีสาน ควรจะได้ลงบัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ แต่พรรคให้อยู่ลำดับที่ 40 ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าไม่มีทางได้เป็น ส.ส. เมื่อไม่ได้เป็น ส.ส.ก็ไม่มีตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรค และ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรค เคยตกลงกันว่า จะให้เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี สุดท้ายก็ไม่ได้เป็น
นอกจากนี้ ที่เคยรับปากว่า จะให้ “วุฒิพงศ์ นามบุตร” ส.ส.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นหลานชาย เป็นประธาน กมธ.เกษตรและสหกรณ์ แต่สุดท้ายก็วืด
เมื่อประชาธิปัตย์ไม่ให้ความสำคัญกับ ส.ส.อีสาน จึงคิดว่าไปอยู่พรรคใดก็ได้ เพราะเชื่อว่า คนอุบลฯ ยังให้โอกาสกับตระกูลนามบุตร เป้าหมายที่ว่าคือ พรรคเพื่อไทย !!
หลังจากนี้ เมื่อมีสัญญาณเลือกตั้ง “ท่อน้ำเลี้ยงเปิด” นักเลือกตั้ง เครือข่ายหัวคะแนน ก็จะคึกคักเป็นพิเศษ เรื่องเลือดไหลออก เลือดไหลเข้า จะมีให้เห็นจนชินตา