xs
xsm
sm
md
lg

สภาฯตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาควบรวมธุรกิจสื่อสาร-ค้าปลีก ไร้เงา รบ.ร่วม ภท.แนะแก้ พ.ร.บ.กสทช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาฯ เริ่มขยับตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาการควบรวมธุรกิจสื่อสาร-ค้าปลีก ตั้ง กมธ. 25 คน พิจารณา 90 วัน พบ “รัฐบาล” ไม่ส่งคนร่วมพิจารณา ด้าน “ส.ส.ภท.” แนะให้แก้ พ.ร.บ.กสทช.

วันนี้ (23 ธ.ค.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบให้ตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) และกลุ่มเทเลนอร์หรือดีแทค และการค้าปลีกค้าส่ง หลังจากที่มี ส.ส.อภิปรายไปในทิศทางเดียวกัน คือ สนับสนุน ทำให้ นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ใช้อำนาจของประธานสภาฯ ตามข้อบังคับให้ตั้ง กมธ.วิสามัญดังกล่าว โดยไม่มีการลงมติ และตั้ง กมธ. พิจารณารวม 25 คน โดยไม่มีกมธ.ที่เสนอโดย คณะรัฐมนตรี อาทิ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย, น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นายสาธิต วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์, นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย, นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ, นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ เป็นต้น โดยมีระยะเวลาพิจารณา 90 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายของ ส.ส. ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนให้ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณา นั้น ได้อภิปรายเสนอแนะให้พิจารณาในรายละเอียดที่สำคัญ อาทิ การแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 เพราะพบว่าเงื่อนไขของกฎหมายกล่าวไม่สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน ที่พบนวัตกรรมและการแข่งขันธุรกิจด้านโทรคมนาคมพัฒนาไปกว่ากฎหมาย

โดย พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายในญัตติด่วนเรื่องผลกระทบจากการควบรวมบริษัท ทรูกับดีแทค ว่า กรณีที่เกิดขึ้นคือการส่งสัญญาณ ที่ทำให้สภาฯ ต้องพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. เพราะมีบทบัญญัติที่ไม่เหมาะสมกับการบังคับใช้ในภาวะที่เทคโนโลยีก้าวหน้าและการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมยุคใหม่ โดยเฉพาะประเด็นการจัดสรรคลื่นความถี่ ที่กำหนดให้ใช้การประมูลคลื่นความถี่ และใช้ราคาเป็นตัวกำหนด แม้ว่าการประมูลจะเป็นวิธีตามหลักสากล แต่ควรต้องปรับให้สอดคล้องสภาพปัจจุบัน รวมถึงแก้ไขรายละเอียดที่ต้องคำนึงถึงอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า

“ปัจจุบันพบว่า ธุรกิจบริการแพร่ภาพและเสียยงผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือ โอเวอร์ เดอะ ท็อป มีบทบาทในกิจการโทรคมนาคมมาก เช่น กูเกิล ไลน์ ที่ไม่อยู่ใต้การควบคุมของ พ.ร.บ.กสทช. ฉบับปัจจุบัน ถือเป็นรอยรั่ว อีกทั้งในอนาคตมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงมาก และเกิดการควบรวมกิจการ เหมือนหลายประเทศ เช่น สเปน สิงคโปร์ ที่พบการควบรวมกิจการของธุรกิจ โดย พ.ร.บ.กสทช.ปี 2553 ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ทันกับนวัตกรรมสื่อสารใหม่ๆ ดังนั้น ควรปรับปรุงเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ และ เกิดการแข่งขันแท้จริงในตลาดกิจการโทรคมนาคม” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวด้วยว่า กับระบบโอเวอร์ เดอะ ท็อป ที่ก้าวหน้า พบว่า ปัจจุบันมีบริษัทเน็ตเวิร์กขนาดใหญ่ คือ สตาร์ลิงก์ สามารถให้บริการกิจการโทรคมนาคมได้ทั่วโลก โดยไม่เข้าประมูลคลื่นความถี่ของไทย และในอนาคตจะกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญ ดังนั้นการประมูลความถี่ที่ใช้มา 10 ปี ไม่สามาาถใช้ได้ โดยมีผลการศึกษาที่ชัดเจน ว่าการประมูลคลื่นความถี่ที่ยึดราคาไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นควรแก้ไขเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่ยุติธรรม และ เสรี ได้ประโยชน์ประชาชน










กำลังโหลดความคิดเห็น