หัวเว่ย (Huawei) จับมือมูลนิธิอาเซียนเดินหน้าส่งเสริมการพัฒนาพลเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มั่นใจการปลูกฝังความสามารถทางดิจิทัลจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างระบบนิเวศน์ดิจิทัลในท้องถิ่น นำไปสู่การฟื้นตัวและการเติบโตหลังเกิดโรคระบาดได้
Yang Mee Eng กรรมการบริหาร มูลนิธิอาเซียน องค์กรไม่แดวงหากำไรซึ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการพัฒนาพลเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าการลงนามร่วมกับหัวเว่ยจะเป็นความร่วมมือลงทุนด้านดิจิทัลผ่านโครงการ Seeds for the Future ซึ่งมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2020 มีเป้าหมายเพื่อช่วยพัฒนาผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือ ICT ในภูมิภาค โดยจะเน้นปรับปรุงการถ่ายทอดความรู้ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในชุมชนดิจิทัล
“โปรแกรมนี้ไม่เพียงแต่ฝึกทักษะด้านเทคนิคให้เยาวชนเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีสำหรับทุกคนในการประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้มากับการทำงานจริง”
แถลงการณ์นี้เกิดขึ้นในการประชุม Asia Pacific Innovation Day 2021 ที่ Huawei จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา โดย Yang ย้ำว่าผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการ จะมีโอกาสเข้าร่วมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึง โดยโครงการจะอิงจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และจะมีการมอบเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการดาวรุ่งให้เกิดขึ้นได้จริง
สำหรับ Seeds for the Future จะมีตัวแทนจาก 10 ประเทศอาเซียนเข้าร่วมแบ่งปันข้อมูล สำหรับประเทศไทย ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คือผู้ขึ้นกล่าวในงานประชุมครั้งนี้ ถึงแนวทางการสนับสนุนจากภาครัฐที่ส่งเสริมให้นักศึกษาไทยพัฒนาทักษะดิจิทัลอย่างเต็มที่
แนวคิดน่าสนใจที่ถูกพูดถึงบนเวทีนี้ มีตั้งแต่การวิพากษ์เรื่องการทำข้อสอบแบบเก่านั้นเป็นวิธีการวัดผลแบบล้าสมัยที่ไม่สามารถใช้ได้ในขณะนี้ โดยสะท้อนว่าโครงการนี้ไม่ได้วางเป้าหมายที่การได้มาซึ่งความรู้ทางเทคนิคเท่านั้น เพราะสิ่งที่จำเป็นต่อการเติบโตในเศรษฐกิจดิจิทัลคือกรอบความคิดที่เหมาะสม ทั้งด้านความคิดและวัฒนธรรม
ขณะเดียวกัน ผู้ที่มีความสามารถควรจะมุ่งความสนใจไปที่กรอบความคิดที่จะมุ่งมั่นทำสิ่งที่เป็นไปได้ และปรับทักษะใหม่ให้กับทันสมัยตามความจำเป็น นอกจากนี้ การท้าทายสภาพที่เป็นอยู่หรือการคิดใหม่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ไม่เกิดภาวะยึดติดกับวิธีแก้ปัญหาเดิมๆ ขณะเดียวกันก็ไม่ควรทิ้งเรื่องการทำความเข้าใจปัญญาประดิษฐ์ คลาวด์คอมพิวติ้ง อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งหรือ IoT รวมถึง 5G ที่ล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็น
จากการศึกษาล่าสุดพบว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีประมาณ 47 ล้านคนภายในปี 2573 และข้อมูลอินไซต์ Digital Talent Insight ปี 2022 จาก Huawei มีการเรียกร้องให้ทุมฝ่ายช่วยกันเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลในวงกว้าง ซึ่งถือว่ามีความสำคัญเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่เพิ่งฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิด-19.