อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services : AWS) เผยอินไซต์ความท้าทายธุรกิจคลาวด์เซอร์วิสในกลุ่มสตาร์ทอัปปี 64 ระบุไอเดียการกระจายใช้คลาวด์หลายเจ้ายังไม่แพร่หลายเพราะเป็นเรื่องยากที่สตาร์ทอัปเกิดใหม่จะมีความรู้รอบด้านในทุกคลาวด์ ด้าน สตาร์ทอัปดาวรุ่งไทยอย่างบิทคับ (Bitkub) มองอุปสรรคใหญ่มัลติคลาวด์ไม่เกิดคือต้นทุนการเปลี่ยนค่าย หรือสวิตชิ่งคอสต์ที่สูงมาก เผยทรานเซกชันโตพันเปอร์เซ็นต์ต่อเดือนจนไม่มีเวลาชอปปิ้งฟีเจอร์คลาวด์ใหม่ ขณะที่อีทแล็ป (EATLAB) สตาร์ทอัปดาวรุ่งอีกรายวางแผนใช้คลาวด์ลดต้นทุนให้ได้ 20 เท่าทุก 3 ปี สนใจใช้เทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวติ้งบนคลาวด์เพื่อให้แข่งขันดีขึ้น
อรรณพ ศิริติกุล หัวหน้าฝ่ายขาย อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ “โซ, ยูอาร์ลอนชิ่งอะสตาร์ทอัป” (So, You’re Launching a Startup) ที่จัดโดย AWS ว่า AWS มองเห็นแนวโน้มว่าปีนี้จะเป็นปีที่สำคัญของสตาร์ทอัปหน้าใหม่ในไทยที่เกิดบน Cloud โดยจากข้อมูลของ CB Insights ในไตรมาส 3 ปี พ.ศ.2564 แสดงให้เห็นว่าปีนี้เป็นปีที่สำคัญสำหรับสตาร์ทอัปหน้าใหม่ที่เกิดบนคลาวด์ในประเทศไทย เห็นได้จากเม็ดเงิน 96.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 36.8% เทียบกับปี 2563 และ 24.3% ของเงินทุนทั้งหมดของไทยในปี 2564 ในการระดมทุนจากทั้งหมด 41 ดีล ซึ่งเพิ่มขึ้น 5.1% เมื่อเทียบปีต่อปี สำหรับ Early Stage Startup (ESS) ในไทย ตั้งแต่มกราคม-ตุลาคม พ.ศ.2564
“ในช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ เราเห็นบริษัททุกขนาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตาร์ทอัปแสดงความต้องการที่จะปรับไปอยู่บนคลาวด์อย่างรวดเร็ว เพื่อใช้ประโยชน์จากความคล่องตัวและความยืดหยุ่นที่คลาวด์มอบให้ได้ AWS ทำงานร่วมกับสตาร์ทอัปมากมาย และสิ่งที่น่าตื่นเต้นมากเกี่ยวกับโลกของสตาร์ทอัปคือความรวดเร็วในการเริ่มต้นธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปของสังคม สตาร์ทอัปนั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและบ่อยครั้งที่ช่วยแก้ปัญหาหรือจัดการกับช่องว่างทางโครงสร้างในสังคม โควิด-19 ได้พิสูจน์แล้วว่าโรคระบาดเป็นหนึ่งในความท้าทายที่มีผลกระทบมากที่สุดในชีวิตของเราและคนทั้งโลก และได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของทุกคนไปอย่างสิ้นเชิง บริษัทสตาร์ทอัปที่เราร่วมงานด้วยได้ใช้ประโยชน์จากคลาวด์เพื่อคิดค้นโซลูชันใหม่ๆ เพื่อช่วยลูกค้าตลอดจนสังคมโดยรวมท่ามกลางช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้”
ในภาพรวม สตาร์ทอัปด้านการเงินหรือฟินเทค (Fintech) ยังคงครองส่วนแบ่งการระดมทุนที่ใหญ่ที่สุดในปี 2564 สำหรับ ESS ในประเทศไทย (73.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 52.4% เมื่อเทียบปีต่อปี) โดยได้รับแรงหนุนจาก Easy Sunday (45 ล้านเหรียญสหรัฐ) รองลงมาคือสตาร์ทอัป Ecommerce, Travel & Logistics (13.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบปีต่อปี)
AWS พบว่า ภาพรวมสตาร์ทอัปในหลายอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เห็นชัดจากการเพิ่มขึ้นของบริการเทเลเฮลท์ (telehealth) อนาคตของธุรกิจด้านการเงิน และการช่วยให้อุตสาหกรรมดั้งเดิมใช้ประโยชน์จากดิจิทัล การเติบโตนี้ตอกย้ำว่าคลาวด์เป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการสร้างสตาร์ทอัป และนำเสนอสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อให้สตาร์ทอัปเติบโต
ค่าใช้จ่ายลดลง 100 เท่าตัว
สำหรับ AWS จุดแข็งบริการคลาวด์เซอร์วิสของบริษัทคือการไม่มีค่าใช้จ่ายล่วงหน้า สามารถช่วยให้สตาร์ทอัปเปิดตัวได้เร็วขึ้น เปิดกว้างให้ทดลองได้บ่อยด้วยความเสี่ยงต่ำ และการเน้นที่การสร้างคุณค่าของธุรกิจหลัก ทั้งหมดนี้ AWS ย้ำว่า บริการคลาวด์มีความคุ้มค่าอย่างไม่น่าเชื่อ และช่วยให้สตาร์ทอัปเข้าถึงการประมวลผลได้อย่างรวดเร็วตามที่ต้องการ ด้วยค่าบริการตามการใช้งานจริง โดยมีสถิติชี้ชัดว่า AWS Cloud ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้แอปพลิเคชันอินเทอร์เน็ตพื้นฐานจากประมาณ 150,000 ดอลลาร์ต่อเดือน เหลือเพียง 1,500 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งลดลงราว 100 เท่าตัว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชนิกานต์ ว่องวิริยะวงศ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอจาก EATLAB บริการที่ช่วยให้ร้านอาหารมีความสามารถด้าน AI เพื่อให้เข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ดี และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจโดยอาศัยข้อมูล กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะใช้ควอนตัมคอมพิวติ้งในคลาวด์เซอร์วิสเพื่อลดต้นทุนให้ได้ตามเป้าหมายคือ 20 เท่าภายในทุก 3 ปี โดยระบุว่า ช่วง 3 ปีแรกของการก่อตั้งสามารถลดต้นทุนได้กว่า 20 เท่าแล้ว เชื่อว่าคลาวด์จะเป็นเทคโนโลยีหลักที่ช่วยลดต้นทุนในช่วง 3 ปีถัดไปตามเป้าหมายที่กำหนดเพื่อให้ EATLAB ขยายบริการในระดับแมส
"เราได้รับการสนับสนุนจาก AWS ในส่วนของเครดิตในโปรแกรม AWS Activate ในตอนที่เริ่มสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ทำให้เราไม่มีแรงกดดันในเรื่องของค่าใช้จ่าย และการทดลองที่อาจจะยังมีความไม่แน่ใจว่าจะเป็นที่ต้องการของลูกค้าหรือไม่ รวมถึงการที่ทีม AWS มาช่วยเหลือในเรื่องการเตรียมการสัมภาษณ์ และการขายงาน การเจรจาต่างๆ เกี่ยวกับโอกาสทางการตลาดในระยะแรก ในฐานะที่เราวางตัวว่าเราเป็น SaaS ให้ร้านอาหาร แต่เวลามองจริงๆ เราเป็นโซลูชันที่แก้ปัญหาด้านประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมร้านอาหารทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งพอเราวางตำแหน่งไว้เช่นนั้น ทำให้ขนาดตลาดเปลี่ยนไป มุมมองในการสร้างธุรกิจของเราก็เปลี่ยนไปด้วย"
จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและ Group CEO จาก Bitkub บริษัทเกี่ยวกับบล็อกเชนและคริปโตเคอร์เรนซี กล่าวว่า สิ่งที่ AWS แตกต่างจากผู้ให้บริการคลาวด์รายอื่นๆ คือ ในฐานะที่ Bitkub เป็นธุรกิจ Fintech การยินยอมเห็นพ้อง หรือ ความร่วมมือ (Compliance) ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เริ่มแรกผู้มีอำนาจในการออกกฎหมาย (Regulator) จะมีความกลัวในเรื่องคลาวด์ ซึ่งการกลัวสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนเป็นเรื่องปกติ แต่ AWS เป็นรายแรกที่ผลักดันให้คลาวด์คอมพิวติ้งเป็นที่ยอมรับในประเทศไทย
“AWS เป็นผู้ที่เริ่มทำให้ผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายเกิดความเข้าใจ อีกทั้งยังเป็นที่แรกที่ทำให้บริษัทใหญ่ปฏิบัติตามกฎของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ย้ายจากเซิร์ฟเวอร์แบบดั้งเดิมไปสู่คลาวด์ โดยที่บริษัทเหล่านั้นต้องใช้คลาวด์ที่ผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายได้ให้การยอมรับแล้ว”
ในภาพรวม ผู้บริหาร Bitkub ชี้ว่าความท้าทายเรื่องคลาวด์เซอร์วิสของบริษัทช่วงปีนี้คือความยากลำบากในการติดต่อคลาวด์โพรไวเดอร์กว่า 50 รายที่บริษัทใช้บริการอยู่ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของบริษัทมากกว่า 1,000% ต่อเดือนในช่วงปีที่ผ่านมา ดังนั้น จึงมองว่าหากมีผู้ให้บริการศูนย์รวมที่จะสามารถติดต่อทั้ง 50 ค่ายคลาวด์ได้จากจุดเดียวจะสามารถตอบโจทย์ความท้าทายสตาร์ทอัปที่กำลังขยายตัวอย่าง Bitkub ได้ เบื้องต้น มองว่าสตาร์ทอัปยังคงใช้งานอยู่ที่คลาวด์เจ้าเดิมที่เริ่มใช้งานตั้งแต่ต้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนค่ายคลาวด์นั้นสูงมาก ตอกย้ำว่าตลาดมัลติคลาวด์นั้นไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เลยในตลาดธุรกิจเกิดใหม่หรือสตาร์ทอัป และจำกัดวงอยู่เฉพาะในองค์กรดั้งเดิมที่ต้องทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน