xs
xsm
sm
md
lg

NT เปิดแผนบริหารดาวเทียม ยันยังไม่มีการเซ็นสัญญากับไทยคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



NT ยืนยันรับช่วงต่อดาวเทียมจากไทยคมไม่สะดุด มั่นใจทีมวิศวกรและฝ่ายขาย พร้อม เผยตอนนี้ยังไม่มีการเซ็นสัญญาใดๆ กับไทยคมทั้งสิ้น เหตุอยู่ระหว่างการตรวจสอบสัญญาก่อนส่งมอบให้รอบคอบตามคำสั่งศาลและมติ ครม.เผยแผนบริหารดาวเทียมใช้ดวง 4 บริการสาธารณประโยชน์เพื่อให้คนห่างไกลเข้าถึงเทคโนโลยีและลดตุ้นทุนการลงทุนไฟเบอร์ ขณะที่ดวง 6 เตรียมลดราคาพร้อมขยายฐานสู่หน่วยงานภาครัฐ

น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กล่าวว่า หลังจากที่บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หมดสัญญาสัมปทานดาวเทียมดวงที่ 4 และ 6 กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา NT ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงดีอีเอสให้บริหารจัดการดาวเทียมต่อจากไทยคม ได้ดำเนินการให้ฝ่ายขายติดต่อลูกค้าเก่าในประเทศ รวมถึงต่างประเทศเท่าที่จะทำได้ ทันที ควบคู่กับการมองหาลูกค้าใหม่โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐด้วย

ขณะที่สัญญาการส่งมอบทรัพย์สินนั้นยังไม่มีการเซ็นรับแต่อย่างใด เพราะต้องอยู่ในกระบวนการตรวจสอบทั้งสัญญาและทรัพย์สินว่าถูกต้องและไม่ผิดกฎหมาย สัญญาได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และไม่ขัดคำสั่งศาลหรือไม่ เช่น กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (สัญญาฉบับที่ 5) เห็นควรให้ INTUCH ถือหุ้นใน THCOM ไม่ต่ำกว่า 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ตามคำสั่งศาล ซึ่งมีการแก้เมื่อปี 2547 เป็น 40% รวมถึงกรณีการอนุมัติโครงการดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) โดยให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา กำหนดให้ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ผนวกเข้ามาเป็นดาวเทียมภายใต้สัญญา และดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

"ตอนนี้ยังไม่มีการเซ็นสัญญาใดๆ กับไทยคมทั้งนั้น เรายังอยู่ในช่วงการตรวจสัญญาก่อนรับมอบทรัพย์สิน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้" น.อ.สมศักดิ์ กล่าว

น.อ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า แต่ทั้งนี้ การรับมอบดาวเทียมมาบริหารจัดการต่อนั้นไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามแผนเดิมที่ไทยคมเคยวางไว้ เพราะ NT ไม่ใช่เอกชน ดังนั้น การนำดาวเทียมมาบริหารจัดการต้องคำนึงถึงการให้บริการประชาชน สาธารณชน และหน่วยงานภาครัฐ เพราะ NT คือรัฐวิสาหกิจ ดาวเทียมที่ได้มาต้องนำมาส่งเสริมกับโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมอื่นๆ ที่ NT มี นำดาวเทียมไปใช้ในพื้นที่ห่างไกล ทดแทนการลากสายไฟเบอร์ที่เข้าไปไม่ถึง

ดังนั้น แผนการบริหารจัดการดาวเทียมดวงที่ 4 จะแตกต่างจากดวงที่ 6 เพราะดวงที่ 4 อายุวิศวกรรมอีกเพียง 2 ปี ซึ่งอาจจะอยู่ถึงหรือไม่ถึงก็ได้ การจะลงทุนใหม่อาจไม่คุ้มค่า ดังนั้นจึงควรนำไปให้บริการกับสาธารณประโยชน์ให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งตรงกับแนวคิดของรัฐวิสาหกิจที่ต้องช่วยให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยและห่างไกลได้เข้าถึงเทคโนโลยี ส่วนไทยคม 6 ยังมีอายุวิศวกรรมอีกประมาณ 8 ปี NT ต้องทำแผนการให้บริการเพื่อภาครัฐด้วย เพื่อให้ภาครัฐมีดาวเทียมใช้ในราคาประหยัด ซึ่ง NT สามารถลดราคาให้ได้ ซึ่งตอนนี้ NT มีความได้เปรียบตรงที่มีทรัพย์สินโทรคมนาคมทั้งของแคทเดิม และทีโอทีเดิมที่สามารถใช้งานร่วมกัน ทดแทนกัน และไม่ซ้ำซ้อนกันได้ ดังนั้น ลูกค้าจึงมั่นใจได้ว่าบริการของ NT จะไม่สะดุดเพราะเรามีโครงข่ายที่มากที่สุดและสำรองการใช้งานร่วมกันได้


กำลังโหลดความคิดเห็น