xs
xsm
sm
md
lg

Gateway, Uplink, Downlink ของดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 ต้องคืนชาติหรืออาจมีคนเข้าคุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ดร.โยธิน มานะบุญ
นักวิชาการอิสระ
ผศ.ดร.จตุรงค์ สุคนธชาติ
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ดาวเทียมไทยคม 6 และดาวเทียมไทยคม 4 (หรือ ไอพีสตาร์) ที่หมดอายุสัมปทานลงและต้องส่งคืนให้กับกระทรวงดีอีเอส แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส กลับออกมาพูดให้ข่าวว่า Gateway, Uplink, Downlink ไม่ต้องส่งคืนนั้น ทำให้ชาวบ้านทั่วไปงงว่าสามสิ่งนี้คืออะไร และเกี่ยวอะไรกับดาวเทียม บทความนี้พยายามวาดภาพและอธิบายให้ชาวบ้านได้เข้าใจง่าย ๆ ว่า Gateway, Uplink, Downlink ทำงานอะไร เชื่อมโยงอย่างไรกับดาวเทียม และถ้าไม่มีจะทำให้ดาวเทียมทำงานได้หรือไม่ และเหตุใดต้องส่งมอบคืนทั้งหมด

ดาวเทียมเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์คิดค้นและส่งขึ้นไปในอวกาศ เพื่อโคจรรอบโลก โดยอาศัยหลักการความสมดุลระหว่างแรงโน้มถ่วง (Gravitational force) ซึ่งเป็นแรงดึงดูดที่จะทำให้ดาวเทียมตกสู่พื้นโลก กับแรงหนีศูนย์กลาง (Centrifugal force) ที่เกิดจากดาวเทียมโคจรรอบโลกด้วยอัตราเร็วที่เหมาะสม ซึ่งเป็นแรงในทิศตรงกันข้ามกับแรงโน้มถ่วง ด้วยสภาวะดังกล่าวดาวเทียมจึงสามารถโคจรรอบโลกโดยไม่ตกลงสู่พื้นโลก

ดาวเทียมมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์ทางการทหาร การสื่อสาร การรายงานสภาพอากาศ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เช่น การสำรวจทางธรณีวิทยา การสังเกตการณ์สภาพของอวกาศ โลก ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวอื่น ๆ รวมถึงการสังเกตวัตถุท้องฟ้า และดวงดาวต่าง ๆ

ดาวเทียมดาวเทียมไทยคม 4 หรือ ไอพีสตาร์ (IPSTAR) เป็นดาวเทียมอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ (Broadband) ดวงแรกของโลกที่สามารถรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงสุดถึง 45 กิกะบิตต่อวินาที (Gigabyte per second) จัดว่าเป็นดาวเทียม High Throughput หรือ HTS ดวงแรกของโลก ประจำอยู่ที่วงโคจรค้างฟ้า (Geostationary orbit) ณ ตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก ส่งสัญญาณเคยูแบนด์ (Ku-band) และเคเอแบนด์ (Ka-band) ด้วยเทคโนโลยี spot beams แบบการสื่อสารสองทาง (Two-Way Communication)

ดาวเทียมไทยคม 6 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรที่ตำแหน่งยอดนิยม 78.5 องศาตะวันออก บริการด้วยระบบซีแบนด์ (C-band) และเคยูแบนด์ (Ku-band) กำลังสูง ให้บริการด้านการถ่ายทอดโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม (broadcast) และให้บริการด้านข้อมูล

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/feature/2192325
ดาวเทียมทั้งสองดวงต้องมี Gateway, uplink, และ downlink จึงจะทำให้ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมใช้งานได้ เราจะมาเรียนรู้หลักการทำงานของดาวเทียมและอุปกรณ์ส่วนควบของดาวเทียมอันได้แก่ Gateway, uplink, และ downlink อันเป็นสถานีภาคพื้นของดาวเทียม

Satellite Gateway คือประตูสัญญาณดาวเทียม

ในปัจจุบันดาวเทียมสื่อสารประเภท High Throughput เช่น ไทยคม 4 หรือ ไอพีสตาร์ ถูกออกแบบให้สามารถสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลจากทั่วโลกได้ แต่ดาวเทียมนี้จะไม่มีประโยชน์เลย และจะกลายเป็นขยะอวกาศ หากดาวเทียมไม่สามารถรับหรือส่งสัญญาณการติดต่อถ่ายทอดกับโครงข่ายอินเทอร์เน็ตของโลกได้ ซึ่งอุปกรณ์ที่จะต้องทำงานในส่วนนั้นเรียกว่า “ประตูสัญญาณดาวเทียม (Satellite Gateway)” ทำหน้าที่เป็นตัวต่อเชื่อมในการรับส่งหรือรับสัญญาณระหว่างดาวเทียมกับโครงข่ายอินเทอร์เน็ตของโลก ซึ่งประตูสัญญาณดาวเทียมจะมีส่วนประกอบทั้ง Hardware และ Software และหากดาวเทียมไม่มี “ประตูสัญญาณดาวเทียม (Satellite Gateway)” ดาวเทียมดวงนั้นก็จะเปล่าประโยชน์และไร้ค่าไปเลย

การทำงานของ “ประตูสัญญาณดาวเทียม (Satellite Gateway)” มีหลักการทำงานที่อธิบายอย่างง่าย ๆ ได้ดังนี้ กล่าวคือ เมื่อนาย A ซึ่งอยู่ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ต้องการจะติดต่อกับนาย B ซึ่งอยู่ที่ อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ด้วยการโทรศัพท์พูดคุยหรือส่งข้อความหรือภาพและเสียงผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ เมื่อนาย A ใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อ โทรศัพท์มือถือจะส่งสัญญาณคลื่นความถี่ไปยังเสาสัญญาณที่อยู่ใกล้เคียง แล้วส่งต่อไปยังชุมสายของเครือข่ายโทรศัพท์ จากนั้นจึงส่งสัญญาณผ่านใยแก้วนำแสงไปยังสถานีดาวเทียมพื้นฐานของโครงข่าย (Satellite Node) ที่ทำหน้าที่รับส่งสัญญาณ (uplink & downlink) โดย Node ดังกล่าวจะทำหน้าที่ส่งสัญญาณไปยังดาวเทียมและทำหน้าที่รับสัญญาณจากดาวเทียมเมื่อมีการขอตอบกลับ

ในรูปด้านล่างนี้ Gateway ต้องมีการแบ่งเวลาในการเข้าถึงหลายช่องทาง (Time-division multiple access :TDMA) อันเป็นวิธีการในการควบคุมการเข้าถึงและแบ่งปันเครือข่ายช่องสัญญาณ เพื่อให้ผู้ใช้จำนวนมากสามารถเข้าถึงและแบ่งปันช่องสัญญาณคลื่นความถี่เดียวกัน โดยการแบ่งสัญญาณออกเป็นช่องเวลา (Time slots) จำนวนมาก พูดง่ายๆ ก็คือ TDMA เป็นวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่เดียวกันให้สามารถใช้งานผ่าน Gateway ได้หลายราย ในรูปด้านล่าง Gateway จะอยู่ทางด้านซ้าย ส่วนทางด้านขวาเป็นจานรับส่งสัญญาณดาวเทียมซึ่งก็อาจจะจัดว่าเป็น Gateway ขนาดเล็กรูปแบบหนึ่งที่ติดตั้งในพื้นที่ห่างไกลหรือทุรกันดารซึ่งสายเคเบิ้ลใยแก้วต่อสายไปไม่ถึง หรืออาจจะเป็นพื้นที่กลางทะเลที่ไม่มีโอกาสเชื่อมต่ออินเตอร์ผ่านสายเคเบิ้ลใยแก้ว ดังนั้นการเชื่อมต่อด้วยดาวเทียมจึงทำให้พื้นที่ต่างๆ เหล่านั้นสามารถติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกได้

ที่มา ดัดแปลงจาก https://www.mdpi.com/1424-8220/20/5/1349/htm
ในบางกรณีเมื่อนาย ก ต้องการติดต่อสื่อสารกับนาย ข โทรศัพท์มือถือของนาย ก จะส่งสัญญาณผ่านระบบไวไฟ (WiFi) ไปยังจานรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อติดต่อสื่อสารรับส่งสัญญาณไปยังดาวเทียมโดยตรง จากนั้นดาวเทียมจะขยายสัญญาณแล้วส่งต่อไปยัง “ประตูสัญญาณดาวเทียม (Satellite Gateway)” โดยไม่ผ่านโครงข่ายเสาสัญญาณหรือชุมสายโทรศัพท์ ซึ่งการติดต่อสื่อสารรูปแบบนี้เหมาะสำหรับพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีโครงข่ายเสาสัญญาณหรือชุมสายโทรศัพท์ เช่น ธนาคารพาณิชย์ในเขตอำเภอห่างไกลที่สัญญาณอินเตอร์เน็ตยังไม่เสถียรก็จะใช้การติดต่อเพื่อส่งข้อมูลธุรกรรมทางการเงินผ่านดาวเทียมด้วยวิธีการนี้ ซึ่งรูปด้านล่างจะแสดงการเชื่อมต่อผ่านดาวเทียมในลักษณะนี้ ที่ประกอบด้วย Gateway 2 ประตู และมีจานดาวเทียมเป็นจุดรับส่งสัญญาณ (Spot) อีก 4 จุด เพื่อเชื่อมต่อไปยังดาวเทียมโดยตรง

ที่มา: http://www.vizocom.com/internet/future-high-throughput-satellites-service-providers/gateway-1024x526/
เนื่องจากสัญญาณที่ส่งและรับในแต่ละ Node นั้นไม่สามารถติดต่อกันได้โดยตรง ต้องสื่อสารผ่านการแปลงสัญญาณผ่าน “ประตูสัญญาณดาวเทียม (Satellite Gateway)” ดังนั้นเมื่อ Node ที่นาย A ใช้ส่งสัญญาณ (uplink) ด้วยคลื่นความถี่ไปยังดาวเทียมแล้ว ดาวเทียมจะส่งสัญญาณ (downlink) คลื่นความถี่นั้นมายัง “ประตูสัญญาณดาวเทียม (Satellite Gateway)” ก็จะทำหน้าที่แปลงและค้นหา Node ของนาย B เพื่อส่งสัญญาณดังกล่าวไปยังดาวเทียมอีกครั้ง แล้วจึงส่งสัญญาณมายัง Node ของนาย B จึงทำให้นาย A และนาย B สามารถใช้โทรศัพท์เพื่อการติดต่อสื่อสาร ด้วยการส่งข้อความหรือภาพและเสียงผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ โดยเฉพาะเจาะจงได้

สำหรับรูปด้านล่างนี้เป็นเครือข่ายของดาวเทียมบริการบรอดแบนด์ไอพีสตาร์ ประตูสัญญาณดาวเทียมไอพีสตาร์ (IPSTAR Gateway) จะเชื่อมโยงกับ ศูนย์ปฏิบัติการเครือข่าย (Network operations center) และศูนย์ข้อมูล (Data center) ซึ่งจะเชื่อมโยงกับเครือข่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ปัจจุบันนี้เป็นไฟเบอร์ออปติคส์เป็นหลัก โดยที่ Gateway จะรับส่งด้วยคลื่นความถี่ย่านเคเอแบนด์ (Ka-band) ส่วนระบบโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม (Satellite phone) ที่ใช้ในพื้นที่ห่างไกลสัญญาณโทรศัพท์มือถือและระบบสายสัญญาณสื่อสาร เช่น โทรศัพท์ผ่านดาวเทียมของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จะสามารถรับและส่งสัญญาณคลื่นความถี่ในย่านเคยูแบนด์ไปยังดาวเทียมไอพีสตาร์ได้โดยตรง

ที่มา: ดัดแปลงจากกรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม
สำหรับชุมชนห่างไกลสายไฟเบอร์ออปติคส์ของอินเตอร์เน็ตก็เข้าไม่ถึง เช่น หมู่บ้านที่เชิงเขา หรือกลางหุบเขาติดลำห้วยในป่าลึก ซึ่งอาจจะมีประชาชนอยู่อาศัยเพียงเล็กน้อย สามารถติดตั้งจานดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อรับและส่งคลื่นความถี่ในย่านเคยูแบนด์ไปยังดาวเทียมไอพีสตาร์ได้โดยตรงเช่นเดียวกัน

สรุปง่ายๆ Gateway คือประตูสัญญาณดาวเทียมขนาดใหญ่ที่มักเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตไฟเบอร์ออปติคส์หรือชุมสายโทรศัพท์ ส่วน uplink คือตัวส่งสัญญาณไปยังดาวเทียมที่ Gateway และ downlink คือตัวรับสัญญาจากดาวเทียมที่ Gateway

การสื่อสารผ่านดาวเทียมอาจจะไม่ต้องผ่าน Gateway ทั้งหมด แต่ผ่านโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมหรือจานดาวเทียมก็ได้ ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารที่โครงข่ายอินเตอร์เน็ตส์ใยแก้วหรือชุมสายโทรศัพท์ไปไม่ถึง

ถ้าไม่มี Gateway, Uplink, และ Downlink ดาวเทียมสื่อสารจะทำงานไม่ได้เลย จะเป็นแค่เพียงวัตถุอวกาศที่ลอยอยู่อย่างไร้ประโยชน์ ไม่ต่างอะไรกับขยะอวกาศ

ดังนั้นเพื่อให้ดาวเทียมไทยคม 4 (หรือ ไอพีสตาร์) และไทยคม 6 สามารถดำเนินการติดต่อสื่อสารได้อย่างสมบูรณ์ จึงต้องส่งมอบทั้งอัพลิงค์ ดาวน์ลิงค์ และเกตเวย์ ทั้งหมดมาด้วย ทั้งที่แครายและลาดหลุมแก้ว

สัญญาสัมปทานนั้นเป็นแบบ Built, Operate, Transfer เมื่อสร้างเสร็จทดลองใช้งานได้ ต้องถือว่าส่งมอบให้กระทรวงคมนาคม (ผู้รับผิดชอบในเวลานั้น) และทางราชการยินยอมให้ไทยคมใช้งานเพื่อประกอบกิจการเท่านั้น

ดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 ต้องส่งคืนเกตเวย์ทั้งหมดมาด้วย ให้ใช้งานได้ดีด้วย

ดาวเทียมไม่มีเกตเวย์ อัพลิงค์ ดาวน์ลิงค์ ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับเครื่องบินไม่มีปีก รถยนต์ไม่มีล้อ คอมพิวเตอร์ไม่มีหน้าจอและคีย์บอร์ด

ปกติการส่งมอบระบอบคอมพิวเตอร์ต้องส่งมอบอุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า computer peripheral ทั้งหมดด้วยเช่นกัน ถึงจะใช้งานได้

ถ้าไม่ส่งมอบ Gateway, Uplink, และ Downlink มาจะมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและต้องมีคนติดคุก

เรื่องอัพลิงค์ ดาวน์ลิงค์ และเกตเวย์ ที่ทาง รมว. ดีอีเอส กล่าวว่าไทยคมไม่ต้องคืนให้รัฐนั้นจึงอาจมองได้ว่าผิดสัญญาสัมปทานข้อ 15 เพราะต้องส่งคืนทั้งหมดในสภาพที่ใช้งานได้


สัญญาสัมปทานในปี 2535 ข้อ 15 การโอนกรรมสิทธิ์ การส่งมอบและรับมอบทรัพย์สิน ได้เขียนไว้ว่า
บริษัทยอมให้ดาวเทียมทุกดวงที่บริษัทจัดตั้งตามสัญญาฉบับนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงในวันผ่านการทดสอบใช้งานจากทั้งสองฝ่ายหลังจากดาวเทียมเข้าสู่ตำแหน่งวงโคจรแล้ว ส่วนสถานีควบคุมดาวเทียมรวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ตามข้อ 5 หลังจากบริษัทติดตั้งและได้ทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานเรียบร้อยแล้ว บริษัทยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงทันที และกระทรวงจะมอบทรัพย์สินดังกล่าวให้บริษัทครอบครองเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัญญาฉบับนี้ ทั้งนี้กระทรวงจะไม่ใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่างในทางใดที่อาจทำให้บริษัทไม่สามารถใช้สิทธิของบริษัทได้ตามสัญญานี้

อุปกรณ์ที่บริษัทจัดหามาภายหลังการส่งมอบทรัพย์สินตามวรรคแรกเพื่อใช้เกี่ยวกับการให้บริการวงจรดาวเทียมตามสัญญานี้จะต้องเป็นอุปกรณ์ที่เป็นที่ยอมรับแล้วว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดี
และได้รับความเห็นชอบจากกระทรวง ทั้งนี้ บริษัทยอมให้อุปกรณ์ดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงทันที และกระทรวงจะมอบให้บริษัทครอบครองไว้เพื่อใช้ดำเนินกิจการเช่นเดียวกับวรรคแรก

การตรวจสอบดาวเทียมสำรองภาคพื้นดิน (Ground Back Up) ตามข้อ 5.1.1 กระทรวงจะแต่งตั้งผู้แทนกระทรวงจำนวนสามคนเป็นผู้ตรวจสอบ โดยบริษัทเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบทั้งหมด

เมื่อสัญญานี้สิ้นสุดลงไม่ว่ากรณีใด บริษัทต้องส่งมอบทรัพย์สินที่กล่าวข้างต้นทั้งหมดคืนให้กระทรวงทันที โดยในวันส่งมอบทรัพย์สิน สถานีควบคุมดาวเทียมและอุปกรณ์ต่างๆ ต้องอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี ส่วนดาวเทียมจะต้องอยู่ในสภาพใช้งานได้ ณ ตำแหน่งวงโคจร
และบริษัทต้องส่งมอบสัญญาและเอกสารหลักฐานหรือเอกสารใดๆ ที่เกี่ยวกับการตกลงใช้บริการวงจรดาวเทียมของผู้ใช้วงจรดาวเทียมทุกรายให้แก่กระทรวงโดยทันทีด้วย

การส่งมอบรับมอบทรัพย์สินตามข้อนี้ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะได้ทำหนังสือส่งมอบและรับมอบพร้อมบัญชีรายการทรัพย์สินให้ไว้แก่กันในวันส่งมอบและรับมอบ

ส่วนในสัญญาสัมปทานดาวเทียมข้อ 5 ได้ระบุไว้ว่า

ข้อ 5 การดำเนินงานและแผนดำเนินงาน
5.1 บริษัทตกลง

5.1.1 จัดสร้างและจัดส่งดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศดวงที่หนึ่งขึ้นสู่ตำแหน่งวงโคจร (Orbital Position) ของกระทรวงตามที่กำหนดในข้อ 12 ซึ่งต่อไปในสัญญานี้จะเรียกว่า “ตำแหน่งวงโคจร” พร้อมกับจัดให้มีระบบดาวเทียมสำรอง (Backup) ในลักษณะดาวเทียมสำรองภาคพื้นดิน (Ground Back Up) รวมทั้งจัดให้มีดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองดวงที่สองและดวงต่อๆ ไปขึ้นทันใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องกับการสิ้นอายุของดาวเทียมดวงก่อน

5.1.2 ก่อสร้างสถานีควบคุมดาวเทียม (Telemetry, Tracking, Command and Monitoring: TTC&M) ณ สถานที่ที่กระทรวงและบริษัทกำหนดร่วมกัน

5.1.3 จัดหาและติดตั้งเครื่อง เครื่องมือทดสอบ และอุปกรณ์อื่นๆ ใดๆ ซึ่งต่อไปในสัญญานี้จะเรียกรวมกันว่า “อุปกรณ์” ที่จำเป็นในการดำเนินงานตามสัญญานี้

5.1.1 จัดส่งดาวเทียมสำรองตามข้อ 5.1.1 ขึ้นอยู่ในตำแหน่งวงโคจร (In-Orbit Back Up) หลังจากดาวเทียมดวงแรกเริ่มให้บริการแล้วไม่เกินสิบสองเดือน

จากสัญญาสัมปทานใน ข้อ 5 เห็นได้ชัดเจนว่า Gateway, uplink และ downlink นั้นถือว่าเป็นอุปกรณ์จำเป็นในการดำเนินงานตามสัญญานี้ และต้องติดตั้งในสถานีควบคุมดาวเทียม TTC&M

จากสัญญาสัมปทานในข้อ 15 เห็นได้ชัดเจนว่าบริษัทไทยคมต้องส่งมอบทรัพย์สินที่กล่าวข้างต้นทั้งหมดคืนให้กระทรวงทันที โดยในวันส่งมอบทรัพย์สิน สถานีควบคุมดาวเทียมและอุปกรณ์ต่างๆ ต้องอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี ส่วนดาวเทียมจะต้องอยู่ในสภาพใช้งานได้ ณ ตำแหน่งวงโคจร ซึ่งหมายความรวมถึง Gateway, Uplink และ Downlink ด้วยเช่นกัน

และเนื่องจากสัญญาสัมปทานดาวเทียม เป็นสัญญาแบบ Built, Operate, Transfer: BOT ดังนั้นในสัญญาสัมปทานข้อ 15 จึงได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ส่วนสถานีควบคุมดาวเทียมรวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ตามข้อ 5 หลังจากบริษัทติดตั้งและได้ทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานเรียบร้อยแล้ว บริษัทยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงทันที ซึ่งหมายความรวมถึง Gateway, Uplink และ Downlink ด้วย

เอกสารแนบมาด้านล่างนี้คือรายงานการประชุมคณะทำงานเพื่อเจรจารายละเอียดด้านเทคนิค ในโครงการสัมปทานดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ครั้งที่ 13 ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2534 โดยที่นักโทษชาย ดร. ทักษิณ ชินวัตร ได้เข้าร่วมประชุมด้วย

นักโทษชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตรได้ยืนยันด้วยตนเองว่า สถานีภาคพื้นดิน อัพลิงค์ และดาวน์ลิงค์ ต้องอยู่ในสัมปทานดาวเทียมจึงจะดำเนินการได้ และต้องอยู่ที่สถานีภาคพื้น TTC&M โดยที่ประชุมมีมติว่าแต่บริษัทต้องดำเนินการขออนุญาตในเรื่องนี้ต่อไปด้วยตนเองเพื่อให้ดาวเทียมดำเนินการได้ โดยใช้สถานที่ของกรมไปรษณีย์โทรเลขที่แคราย

ผมคิดว่ารัฐมนตรี ดีอีเอส มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของชาติ ถ้ารับมอบดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทยคม 6 ที่ไม่มี Gateway, Uplink และ Downlink กลับมาแล้วใช้งานไม่ได้เลย ก็ไม่ต่างอะไรกับการรับมอบขยะอวกาศ จึงเท่ากับ รมว. ดีอีเอส บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ แล้วนี่นักโทษชาย ดร. ทักษิณ ชินวัตรเองก็ยืนยันว่าต้องมีสิ่งเหล่านี้ดาวเทียมจึงทำงานได้

เท่าที่สืบทราบ Gateway, Uplink และ Downlink ต้องมีสองชุด เพราะคลื่นถูกรบกวนโดยพายุฝนได้ง่าย เช่น ถ้าที่แครายฝนตก ก็ไปใช้ Gateway ที่ลาดหลุมแก้วแทน ในทางกลับกัน ถ้าฝนตกหนักที่ลาดหลุมแก้วก็ต้องไปใช้ที่แคราย ในทางวิศวกรรมจำเป็นต้องมี redundant สำรองไว้กรณีฉุกเฉิน

ข้อมูลที่ทราบมา Gateway, Uplink และ Downlink ที่ลาดหลุมแก้ว เป็นที่ดินของเอกชน แต่ Gateway, Uplink และ Downlink ที่แคราย ติดตั้งบนสถานีภาคพื้นบนพื้นที่ของทางราชการคือกรมไปรษณีย์โทรเลข

ผมคิดว่า Gateway, Uplink และ Downlink เป็นอุปกรณ์ที่ลาดหลุมแก้วก็ต้องถอดออกมาส่งมอบให้กระทรวง DES ทั้งหมด ส่วน NT (บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ) เอง ในส่วนของการสื่อสารแห่งประเทศไทย (CAT) ก็มีสถานีภาคพื้นมากถึง 3 แห่ง ก่อนมาควบรวมกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (TOT) เป็น NT ย่อมนำ Gateway, Uplink และ Downlink จากลาดหลุมแก้วไปติดตั้งที่สถานีภาคพื้นของตน 1 ใน 3 แห่งเป็นอุปกรณ์สำรองได้เช่นกัน

ทั้งนี้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ ได้บัญญัติไว้ว่า

ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


คุกนะครับคุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว. ดีอีเอส โปรดรักษาผลประโยชน์ของชาติ อย่ารักษาผลประโยชน์ของเจ้านายเก่าเลยครับ

อ้อช่วยเลิกสนใจเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า หันมาสนใจดาวเทียมตามหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริตเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติหน่อยครับผม










กำลังโหลดความคิดเห็น