“เศรษฐพงค์” หนุนแก้ไขหลักเกณฑ์ใบอนุญาตใช้ดาวเทียมต่างชาติ บริการอินเทอร์เน็ต เชื่อทำให้เกิดการแข่งขัน ฝาก กสทช.พิจารณาบนประโยชน์ของชาติ-ความมั่นคง
วันนี้ (27 ต.ค. 64) พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กมธ.ดีอีเอส ได้มีการประชุมพิจารณาเรื่องประกาศของสำนักงานคณะคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรณีการแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ ซึ่งทาง กสทช. ชี้แจงว่า สิทธิที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ ประกอบด้วย 1. กรณีดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (Geostationary-Satellite Orbit: GSO) สิทธิที่ผู้รับอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติแต่ละสิทธิ เป็นการอนุญาต หนึ่งสิทธิต่อการเป็นตัวแทนผู้ประกอบการดาวเทียมต่างชาติแต่ละดวง โดยผู้รับอนุญาตสามารถขอรับอนุญาตเพื่อเป็นตัวแทนผู้ประกอบการดาวเทียมต่างชาติ ได้หลายดวง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการดาวเทียมต่างชาติสามารถมีตัวแทนในประเทศไทย ได้หลายรายเช่นกัน และ 2. กรณีดาวเทียมวงโคจรไม่ประจำที่ (Non-Geostationary-Satellite Orbit: NGSO) ให้การอนุญาตหนึ่งสิทธิต่อการเป็นตัวแทนผู้ประกอบการดาวเทียมต่างชาติหนึ่งสิทธิต่อระบบ
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า กสทช.ชี้แจงอีกว่า การพิจารณาปรับแก้ เนื่องจากมีความต้องการใช้งานและการให้บริการรูปแบบและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในด้านการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ LEO โดยผู้ขอรับอนุญาตจะต้องมีคุณสมบัติ เช่น เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจํากัดหรือบริษัทมหาชนจํากัด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยโดยมีสถานประกอบการในประเทศไทย, เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการดาวเทียมต่างชาติที่มีคุณสมบัติสอดคล้องตามนโยบายที่รัฐกำหนด, ประเทศไทยอาจตั้งเงื่อนไขการเข้าสู่ตลาดของดาวเทียมต่างชาติด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง, การอนุญาตให้ใช้ดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ ผู้ประกอบกิจการดาวเทียมไทยที่ประสงค์จะใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมของรัฐเจ้าของดาวเทียมที่เป็นสมาชิก WTO รวมถึงผู้ประกอบกิจการดาวเทียมต่างชาติของรัฐเจ้าของดาวเทียมที่เป็นสมาชิก WTO และหลังบังคับใช้ 3 ปี ให้ประเมินผลกระทบเพื่อปรับปรุงนโยบายการพิจารณาอนุญาตฯ
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า กมธ.ดีอีเอส เห็นว่า การพิจารณาการออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องมีการพิจารณาผลกระทบฯ หลังจากนี้ ในข้อดีก็จะทำให้มีการแข่งขันมากขึ้น แต่จะต้องมีการรักษาสมดุลต่อความมั่นคงและผู้ประกอบการที่ให้บริการอย่างเดียวกัน แต่ด้วยเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น การให้บริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม LEO ที่ไม่มีต้นทุนค่าความถี่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการบรอดแบนด์ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ได้มีการจ่ายเงินค่าประมูลความถี่เป็นมูลค่าที่สูงมาก การพิจารณาการออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เนื่องจากโครงข่ายโทรคมนาคม ถือว่าเป็นโครงข่ายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ทาง กสทช. จะมีแนวทางกำกับดูแลเรื่องนี้กับทาง สกมช. อย่างไร หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่อาจต้องคำนึงถึงแนวทางกำกับดูแลในการส่งข้อมูลส่วนบุคคลข้ามขอบเขตประเทศไทย แนวทางเรื่องนี้จะมีการดำเนินการอย่างไรระหว่าง กสทช. และหน่วยงานกำกับดูแล
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า การพิจารณาการออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ ต้องพิจารณาว่าการอนุญาตเป็นการอนุญาตดาวเทียมแต่ละดวง หรือแต่ละกลุ่มดาวเทียม ไม่ควรให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการฯ แล้วปล่อยให้สามารถใช้ดาวเทียมต่างชาติรายใดๆ โดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งสำนักงาน กสทช. กำลังพิจารณาทำประกาศฉบับนี้อยู่ โดยการให้ใบอนุญาตครั้งนี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการสื่อสารโทรคมนาคมครั้งใหญ่ ซึ่งมีผลกระทบต่อโอเปอเรเตอร์ทุกราย ดังนั้น การพิจารณาให้ใบอนุญาตเป็นสิ่งที่เราควรสนับสนุน เพื่อให้การบริการแก่ประชาชนในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีความครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัล แต่เราจะต้องพิจารณาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และคำนึงถึงด้านความมั่นคงของชาติด้วย