xs
xsm
sm
md
lg

“กมธ.ดีอีเอส” หวั่น “ITU” ยึดวงโคจรหากส่งดาวเทียมไม่ทันกำหนด ห่วง กสทช.ซวย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กัลยา รุ่งวิจิตรชัย
“กมธ.ดีอีเอส” หวั่น “ITU” ยึดวงโคจรหากส่งดาวเทียมไม่ทันกำหนด ห่วง กสทช.มีความผิดหากรักษาสมบัติชาติตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ “สรอรรถ” ชี้ ธุรกิจดาวเทียมใช้เงินเยอะ เหตุไร้ผู้ลงทุนเพิ่ม แนะหารือ “ไทยคม” กำหนดทิศทางรักษาประโยชน์ชาติ

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา กมธ.ดีอีเอส ได้มีการประชุมพิจารณาเรื่องการออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารให้กับ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) โดยมีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้าร่วมชี้แจง โดยที่ประชุมได้สอบถามถึงการจัดชุดข่ายงานดาวเทียม ที่ตอนนี้อยู่ในขั้นสมบูรณ์แล้วจำนวน 4 ชุด (Package) ซึ่งเป็นวงโคจรที่เราได้สิทธิ์มาจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) โดยจากการประมูลชุดเครือข่ายดาวเทียมที่ผ่านมาทั้ง 4 ชุด ซึ่งมีการยกเลิกไปเนื่องจากมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว คือ บ.ไทยคม

“ใน พ.ร.บ. กสทช. ปี 62 กำหนดไว้ว่า กสทช. มีหน้าที่ในการรักษาสิทธิ์วงโคจร ซึ่งการได้สิทธิ์มาจาก ITU มีข้อกำหนดเรื่องเวลาการนำดาวเทียมขึ้นไปสู่วงโคจรภายในเวลา 7 ปี นับตั้งแต่ได้รับสิทธิ์ ซึ่งในวงโคจร 50.5 องศาตะวันออก และวงโคจร 142 ตะวันออก มีเวลาเหลือไม่ถึง 2 ปี ในการยิงดาวเทียมขึ้นไป จึงสอบถามว่า กสทช. มีแผนรองรับอย่างไรไม่ให้เสียสิทธิ์ในวงโคจรนี้ไป” น.ส.กัลยา กล่าว

โดยตัวแทนจาก กสทช.ตอบว่า กสทช.ได้พยายามดำเนินการอย่างเต็มที่ ในการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในการรักษาไว้ซึ่งสิทธิ์ที่ประเทศไทยมี ซึ่ง กสทช.จำเป็นต้องเร่งจัดหาผู้ประกอบการเพื่อส่งดาวเทียมขึ้นไป เพื่อรักษาสิทธิ์ตรงนี้ไว้ การที่กสทช.ยกเลิกการประมูลไปนั้นก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ดี ก็อาจจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เรื่องคุณสมบัติ การอนุญาต เงื่อนไขการอนุญาต เพื่อจูงใจให้มีผู้เข้าร่วมขอใบอนุญาตมากขึ้น เราจะพยายามรักษาสิทธิ์ตรงนี้ไว้อย่างเต็มที่

“ยอมรับว่า ตรงนี้เป็นความเสี่ยงของประเทศไทย กสทช. ก็น้อบรับและพยายามทำให้ดีที่สุด” ตัวแทน กสทช. ระบุ

น.ส.กัลยา กล่าวต่อว่า อย่างที่ทราบเรากังวลว่าชุดเครือขายดาวเทียมในชุดที่ 1 ที่มีตำแหน่งอยู่ที่ 50.5 องศาตะวันออก กับชุดที่ 4 ที่มีตำแหน่ง 142 องศาตะวันออก ที่อยู่ขั้นสมบูรณ์แล้ว โดยจะเห็นว่าทั้งสองชุดนี้กำหนดให้รีบเอาดาวเทียมขึ้นให้ได้ภายใน 1 ปี เข้าใจว่าเวลาเหลือไม่มาก โอกาสคนชนะการประมูลแล้วเอาดาวเทียมขึ้นจะทันหรือไม่ อีกทั้งถ้าส่งดาวเทียมขึ้นไม่ทัน หรือไม่มีใครมาเอาสิทธิการใช้งานวงโคจรไปใช้ น่าจะมีปัญหาเกี่ยวเนื่องกับ พ.ร.บ. กสทช. 2562 เช่น มาตรา 18 และมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติให้รัฐต้องรักษาคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าถึงวงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งก็จะมีคำถามตามมาเกี่ยวกับการรักษาวงโคจรนั้นจะยังคุ้มค่าอยู่หรือไม่ และวงโคจรดาวเทียมถือเป็นสมบัติของชาติหรือไม่

สรอรรถ กลิ่นประทุม
ด้าน นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวเสริมว่า เข้าใจว่า ธุรกิจดาวเทียมเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล เกี่ยวข้องกับความมั่นคง แต่เมื่อถึงเวลาประมูลไม่เห็นมีใครสนใจเข้ามาลงทุนเลย นั่นหมายความว่าไม่คุ้มกับการลงทุน ก็ไม่เข้าใจว่าจะไปบีบ บ.ไทยคม ออกไปเพื่ออะไร ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่เขาลงทุน ดำเนินการมา เข้าใจว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นการเอาใครเข้ามาทำก็แล้วแต่ ก็ต้องพึ่งองค์ความรู้เครือข่ายจากเขาเพื่อให้เดินต่อไปได้

“ผมคิดว่าต้องมานั่งคุยกันว่าไทยคมจะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้อย่างไร เราต้องการให้เขาปรับปรุง เอื้อสิทธิประโยชน์ให้กับประเทศได้มากน้อยขนาดไหน น่าจะเป็นประเด็นอย่างนี้มากกว่า และเห็นว่า การเปิดประมูลครั้งต่อไป ก็ยังไม่มีเข้ามาร่วม เพราะเป็นการลงทุนที่ใช้เงินลงทุนมากจริงๆ” นายสรอรรถ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น