xs
xsm
sm
md
lg

Shopee ชนะ??

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ช้อปปี้ใช้เวลาเพียง 2 ปีในการเป็นแอปชอปปิ้งที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดของบราซิล หลังจากใช้เวลา 5 ปีในการเป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โลกจับตาช้อปปี้ (Shopee) แซงหน้าธุรกิจอีคอมเมิร์ซนอกแผ่นดินจีนของอาลีบาบา (Alibaba) สถิติล่าสุดชี้รายได้บริษัทแม่ของช้อปปี้อย่างซี (Sea Limited) เพิ่มขึ้นเบาๆ 160% คาดว่าตัวเลขนี้จะดีดตัวขึ้นอีกหลังจากการขยายเข้าสู่ตลาดใหญ่อย่างละตินอเมริกาและอินเดีย

ช้อปปี้ไม่เพียงแต่มีแววชนะลาซาด้า (Lazada) ธุรกิจอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศของอาลีบาบาขาดลอยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ยังมีสัญญาณพร้อมจะบดบังรัศมีของลาซาด้าในพื้นที่อื่นอีกด้วย สะท้อนภาพว่าในขณะที่อาลีบาบายังคงเป็นบริษัทอันดับหนึ่งในจีน แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดนอกประเทศบ้านเกิด 

สถานการณ์นี้แตกต่างจากช้อปปี้ วันนี้ราคาหุ้นของบริษัทแม่เพิ่มขึ้น 3,500% นับตั้งแต่เสนอขายหุ้น IPO และไม่มีสัญญาณการชะลอตัว ผลิตภัณฑ์ใหม่และตลาดใหม่ในประเทศกำลังพัฒนาล้วนปูทางทำให้มูลค่าตลาดของบริษัทเพิ่มขึ้น ช้อปปี้ใช้เวลาเพียง 2 ปีในการเป็นแอปชอปปิ้งที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดของบราซิล หลังจากใช้เวลา 5 ปีในการเป็น เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

***วัดกันที่แรงเจาะตลาดนอกบ้าน

นักสังเกตการณ์มองว่าความยิ่งใหญ่ของช้อปปี้กำลังตอกย้ำว่าอาลีบาบากำลังเดินตามแอมะซอน (Amazon) ที่ไม่สามารถเจาะตลาดนอกบ้านเกิดได้ ย้อนไปเมื่อ 17 ปีที่แล้ว แอมะซอนเข้าสู่ประเทศจีนอย่างเงียบเชียบด้วยการซื้อกิจการท้องถิ่นอย่างโจโย (Joyo) แม้ว่าระบบและบุคลากรของแอมะซอนจะเหนือกว่าอาลีบาบาอยู่หนึ่งหรือสองก้าว แต่ในที่สุดแอมะซอนก็พ่ายแพ้ต่อเถาเป่า (Taobao) และคว้าส่วนแบ่งในตลาดจีนได้เพียง 6% เท่านั้น

ช้อปปี้สามารถครองส่วนแบ่งตลาดเกิน 57% ของปริมาณธุรกรรมอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับกรณีของอาลีบาบาที่แจ็ค หม่า (Jack Ma) ตัดสินใจขยายตลาดสู่พื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2016 โดยการเข้าซื้อกิจการลาซาด้า ซึ่งในเวลานั้นเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค

จุดยืนของลาซาด้าเวลานั้นถือว่าไม่ธรรมดาทั้งด้านขนาดและอิทธิพล ในช่วงเวลานั้น ช้อปปี้ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Sea Limited ก็เติบโตอย่างช้าๆ จนไม่ถึง 5 ปีต่อมา ช้อปปี้สามารถครองส่วนแบ่งตลาดเกิน 57% ของปริมาณธุรกรรมอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งให้บริษัทแม่ของช้อปปี้กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และยังคงเป็นอยู่โดยมีมูลค่าตลาดเกือบ 173,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจุบัน ช้อปปี้ทิ้งห่างลาซาด้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นชัดจากการที่ Sea ประกาศผลประกอบการรายไตรมาสซึ่งมีอัตราการเติบโตเป็นเลข 3 หลัก บนรายรับที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 160% เมื่อเทียบเป็นรายปี (YoY) ตัวเลขนี้ถือว่าน่าตื่นเต้นมากเมื่อเทียบกับอาลีบาบาที่รายงานว่าธุรกิจระหว่างประเทศซึ่งมีลาซาด้ารวมอยู่ด้วยนั้นมีการเติบโตที่แข็งแกร่ง แต่การอัตราเติบโตนั้นอยู่ที่ระดับ 54%

นอกจากลาซาด้า บริการต่างประเทศในเครืออาลีบาบาอย่าง AliExpress, Trendyol และ Daraz ถูกระบุว่าสร้างรายได้ประมาณ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไตรมาสที่สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2021) ในขณะที่ธุรกิจของช้อปปี้เพียงอย่างเดียวในหลายพื้นที่ทั่วโลกสร้างรายได้ 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ น่าเสียดายที่อาลีบาบาไม่ได้ให้รายละเอียดลงลึกตัวเลขของแต่ละธุรกิจ แต่เมื่อพิจารณาถึงอิทธิพลทั่วโลกของ AliExpress หลายคนจึงตีความว่าลาซาด้าพ่ายแพ้ต่อช้อปปี้อย่างจริงจังในภูมิภาคนี้

ธุรกิจของช้อปปี้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก สร้างรายได้ 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ช่องว่างของช้อปปี้และลาซาด้ายิ่งกว้างขึ้นจนกระทั่งปี 2019 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของช้อปปี้เติบโตขึ้นเกือบ 7 เท่าตัว สำหรับตัวเลขคาดการณ์ในอนาคตตลอดปีการเงิน 2021 บริษัทแม่เชื่อว่าผลการดำเนินงานทั้งปีของช้อปปี้เพียงอย่างเดียวนั้นอยู่ที่ประมาณ 4,700-4,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจระหว่างประเทศที่อาลีบาบามีในปีเดียวกัน ผลจากเป้าหมายที่สตาร์ทอัปสัญชาติสิงคโปร์เตรียมไปบุกตลาดละตินอเมริกาทั้งบราซิล ชิลี โคลอมเบีย และเม็กซิโก รวมถึงตลาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกอย่างอินเดียที่กำลังจะเริ่มต้น

***เสี่ยงเสื่อมความนิยม

ความท้าทายในอนาคตของทั้งช้อปปี้และลาซาด้า คือความเสี่ยงที่ผู้ขายในภูมิภาคจะเดินหน้าสู่ป้ายต่อไปโดยไม่สนใจทั้ง 2 ค่าย เนื่องจากช้อปปี้และลาซาด้าล้วนเป็นตลาดออนไลน์ที่ไม่ยอมทำตัวเหมือนห้างสรรพสินค้าที่นักชอปสามารถเลือกดูสินค้าได้ตามต้องการ แต่ทั้งคู่ถูกมองว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่กำหนดอัลกอริธึม เพื่อควบคุมวิธีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์อย่างเต็มรูปแบบ

ปัญหานี้กำลังฝังรากลึก โดยเฉพาะผู้ค้าที่ต้องจ่ายมากขึ้นเพื่อให้สินค้าของตัวเองอยู่ในอันดับสูงในการค้นหา ขณะเดียวกัน เริ่มมีกระแสมองว่า การเปิดร้านบนช้อปปี้ ลาซาด้า หรืออีมาร์เกตเพลสทั่วไปอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ค้าหรือแบรนด์ที่ต้องการจัดการประสบการณ์ของลูกค้า รวมถึงการควบคุมการสร้างแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ และข้อมูลให้ดียิ่งขึ้น

ประเด็นนี้สำคัญ เพราะการชอปปิ้งออนไลน์ที่เติบโตอย่างไม่น่าเชื่อในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่มีผู้บริโภคดิจิทัลเพิ่มขึ้นอีก 70 ล้านคนนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 (ข้อมูลจากเฟซบุ๊กและบริษัทวิจัยเบนแอนด์คัมปานี)

นอกจากนี้ ในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ยังมีกระแสต่อต้านอีมาร์เกตเพลสรายใหญ่อย่างแอมะซอนที่ขยายตัวดุเดือดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นอีคอมเมิร์ซรายย่อย เช่น shopIN.nyc หรือ Bookshop.org ได้รับความสนใจมากขึ้นในฐานะร้านออนไลน์ในท้องถิ่นและต่อต้านทุนใหญ่อย่างแอมะซอน ธุรกิจขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอีในสหรัฐฯ เริ่มหันไปซบอกผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซรายอื่น เช่น Shopify เพื่อสร้างร้านค้าออนไลน์อิสระของตัวเอง

ไม่แน่ ช้อปปี้หรือยักษ์ใหญ่อีมาร์เกตเพลสรายอื่นอาจลื่นไถลตามรอยแอมะซอนที่กลายเป็นเหมือนตัวร้ายในโลกการค้าปลีก ทำให้มีความเสี่ยงรวมถึงความเป็นไปได้ที่จะถูกก้าวข้าม เพื่อไม่ให้บริษัทเทคโนโลยีที่เป็นเจ้าของข้อมูล มีทางเปิดตัวหรือชูแบรนด์ใหม่ขึ้นมาแข่งขันกัน

ราคาหุ้นของ sea บริษัทแม่ของ Shopee เพิ่มขึ้น 3,500% นับตั้งแต่เสนอขายหุ้น IPO
ที่สำคัญ ภาวะที่ช้อปปี้และลาซาด้าเติบโตต่อเนื่องในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ผู้ขายในภูมิภาคนี้ต้องการลดการพึ่งพามาร์เกตเพลสลง ปัจจุบัน ช้อปปี้มีผู้ประกอบการร้านค้าบนแพลตฟอร์มมากกว่า 1.6 ล้ายราย ซึ่งบริษัทหวังว่าโครงการที่มีจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนผู้ขายของบริษัทจะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

‘สุชญา ปาลีวงศ์’ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด ช้อปปี้ ประเทศไทย กล่าวว่า ช้อปปี้มีเจตนารมณ์สนับสนุนและช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงโอกาสที่มีอยู่อย่างมหาศาล และก้าวเข้าสู้โลกของอีคอมเมิร์ซได้อย่างสะดวกสบาย และไร้รอยต่อมากที่สุด ทั้งยังสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถ และเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจบนโลกอีคอมเมิร์ซให้เติบโตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ทั้งการยกระดับแพลตฟอร์มให้ตรงใจผู้ใช้งาน โดยเน้นความเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่าย ขยายความร่วมมือกับแบรนด์และร้านค้าพันธมิตร และให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุด

ทั้งหมดยังต้องลุ้นว่าจะมีแรงบันดาลใจอื่นให้ผู้ขายในอาเซียนต้องหาทางยืนหยัดด้วยตัวเองหรือไม่ ในยุคที่คนไทยยุคใหม่เปิดรับเทคโนโลยี และนิยมชอปปิ้งผ่านสมาร์ทโฟนด้วยออนไลน์เปย์เมนท์ การสำรวจล่าสุดพบว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อและขายสินค้าของคนในประเทศไทยและทั่วโลก โดยคนไทย 4 ใน 5 หรือกว่า 82% ได้ลองใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดแล้ว

‘สุริพงษ์ ตันติยานนท์’ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลล่าสุดว่าผู้บริโภคชาวไทยซื้อสินค้าออนไลน์บนสมาร์ทโฟนทุก 2 วัน หรือเฉลี่ย 14 ครั้งใน 1 เดือน และคาดว่าหลังคลายล็อกดาวน์การเติบโตของอีคอมเมิร์ซก็จะยังคงอยู่ต่อไป โดยปีนี้ ภาพรวมอีคอมเมิร์ซทั่วโลกจะเติบโตไม่น้อยกว่า 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และบางตลาดในเอเชียแปซิฟิกมีการเติบโตกว่า 30% ช่วงมี.ค.2021 ถือเป็นโอกาสที่ช้อปปี้จะชนะได้ ในขณะเดียวกันก็เป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วยเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น