xs
xsm
sm
md
lg

'MatePad Pro 12.6' แท็บเล็ตที่รอก้าวข้ามแรงบันดาลใจ iPad Pro

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับตั้งแต่ปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้การพัฒนาทางด้านผลิตภัณฑ์คอนซูเมอร์ของ ‘หัวเว่ย’ (Huawei) พัฒนาช้าลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในกลุ่มสมาร์ทดีไวซ์

โดยมีปัจจัยหลักมาจากการที่สหรัฐฯ สั่งแบนไม่ให้บริษัทในสหรัฐฯ และประเทศที่ทำการค้ากับสหรัฐฯ ร่วมงานกับหัวเว่ย ด้วยการกล่าวอ้างถึงปัญหาความมั่นคงปลอดภัย ในความกังวลว่า หัวเว่ย มีการลักลอบส่งข้อมูลให้แก่รัฐบาลจีน จึงทำให้หัวเว่ยไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ได้

ปัญหาหลักๆ ที่เกิดขึ้นก็คือ การปิดกั้นไม่ให้หัวเว่ยทำงานร่วมกับกูเกิล ส่งผลให้ไม่สามารถนำระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชันปกติที่ทางกูเกิลพัฒนามาใช้งานได้ ถัดมาก็คือเรื่องของชิปเซ็ต ที่จากเดิมเคยทำงานร่วมกับทางควอลคอมม์ ที่เป็นผู้ผลิตชิปเซ็ต และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก ก็ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อีกต่อไป

แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐฯ จะเปลี่ยนมาอยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจ ไบเดน แล้ว แต่ก็ยังไม่มีคำสั่งปลดการแบน ‘หัวเว่ย’ ออกจากบัญชีดำ ในขณะที่คำสั่งแบนบริษัทสัญชาติจีนอื่นๆ อย่างเท็นเซนต์ หรือเสียวหมี่ ได้ถูกเพิกถอนไปหมดแล้ว ทำให้ปัจจุบัน ในฝั่งธุรกิจคอนซูเมอร์ของหัวเว่ย จากที่เคยยิ่งใหญ่ในตลาดสมาร์ทโฟนด้วยการขึ้นเป็นเบอร์ 3 ในตลาดโลก ปัจจุบัน หัวเว่ย หลุดออกจากท็อป 5 ไปเรียบร้อยแล้ว จากการที่สมาร์ทโฟนไม่สามารถใช้งาน Android ได้

ส่งผลให้แนวทางการทำธุรกิจของหัวเว่ย คอนซูเมอร์ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้ปรับเปลี่ยนมาเน้นการผลักดันอีโคซิสเต็มของโน้ตบุ๊ก และแท็บเล็ต ควบคู่ไปกับการเร่งพัฒนาระบบปฏิบัติการ Harmony เพื่อเชื่อมต่อการใช้งานสมาร์ทดีไวซ์ของหัวเว่ยเข้าด้วยกัน

จะเห็นได้ว่า ในช่วงเวลานี้ชื่อของ Huawei MateBook และ Huawei MatePad ได้กลายเป็น 2 ผลิตภัณฑ์หลักของหัวเว่ย ในการทำตลาดในประเทศไทยไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยการนำเสนอโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูง ในราคาที่เข้าถึงได้ เช่นเดียวกับแท็บเล็ต ที่เน้นเรื่องของสเปก และฮาร์ดแวร์ที่รองรับการใช้งานทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการทำงาน

จนล่าสุด หัวเว่ยได้ทำการเปิดตัว Huawei MatePad Pro ซีรีส์ และ HarmonyOS 2.0 ออกมาอย่างเป็นทางการ และได้โอกาสแนะนำผลิตภัณฑ์รุ่นแรกของหัวเว่ยที่ใช้งาน HarmonyOS อย่างเต็มตัวเข้าสู่ตลาดประเทศไทย พร้อมชูจุดเด่นในเรื่องของความพรีเมียมมาจับกระแสความต้องการของผู้บริโภค

***แรงบันดาลใจจาก iPad Pro



ถ้าไม่คำนึงถึงข้อจำกัดในแง่ของการนำระบบปฏิบัติการ Android ไปใช้งาน สมาร์ทโฟน ของหัวเว่ยทั้ง Huawei P ซีรีส์ และ Mate ซีรีส์ นั้นถือว่าก้าวผ่านแรงบันดาลใจ ด้วยการขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอนวัตกรรมออกสู่ตลาดสมาร์ทโฟนมาแล้วทั้ง P ซีรีส์ ที่นับตั้งแต่ร่วมมือกับทางไลก้า ก็พัฒนาอย่างก้าวกระโดดในแง่ของคุณภาพในการถ่ายภาพ โดยเฉพาะในเรื่องของการถ่ายภาพในที่แสงน้อย ในขณะที่ Mate ซีรีส์ จะเป็นรุ่นที่หัวเว่ย ใช้แนะนำชิปเซ็ตที่พัฒนาขึ้นอย่าง Kirin มาแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่แท้จริง

แม้ว่าจุดเริ่มต้นในการพัฒนาสมาร์ทโฟนของ หัวเว่ยจะมาจาก iPhone ก็ตาม แต่หัวเว่ย ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็พร้อมที่จะก้าวข้าม iPhone และสร้างจุดยืนของตัวเองขึ้นมา

กลับกันในการนำเสนอ MatePad Pro ในครั้งนี้ของหัวเว่ย กลับย้อนไปในจุดเริ่มต้นของสมาร์ทโฟน ด้วยการนำแรงบันดาลใจของ iPad Pro มาพัฒนาเป็นแท็บเล็ตระดับพรีเมียม ที่เน้นการนำเสนอว่าทำได้มากกว่าในราคาที่คุ้มค่ามากกว่า

สิ่งที่ Huawei MatePad Pro 12.6 พยามสื่อออกมาทั้งเรื่องของหน้าจอใหญ่ ระบบเสียงรอบทิศทาง มีฟังก์ชันรองรับการทำงานได้ทุกที่ จนถึงการใช้งานได้อเนกประสงค์ พร้อมอุปกรณ์เสริมอย่างคีย์บอร์ด และปากกา

ทุกจุดเด่นเหล่านี้ ถ้าตัดเรื่องชื่อ MatePad Pro 12.6 ออกไป ก็ไม่แตกต่างจาก iPad Pro 12.9 นิ้ว แต่อย่างใด โดยเฉพาะเรื่องการตั้งชื่อที่ลงท้ายด้วย Pro ต่อด้วยขนาดหน้าจอ ชื่อของปากกาอย่าง M Pencil 2nd Generation เทียบกับ Apple Pencil 2nd Generation หรือแม้แต่คีย์บอร์ด Smart Magnetic Keyboard กับ Smart Keyboard Folio

จุดที่เหมือนกันยังไม่ได้มีแค่เรื่องของชื่อ แต่นับรวมถึงฟีเจอร์ในการใช้งานอุปกรณ์เสริมอย่าง M Pencil ที่ใช้การแปะข้างตัวเครื่องเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ เช่นเดียวกับบน iPad Pro ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2018


แม้แต่ฟีเจอร์ในการทำงานร่วมกับโน้ตบุ๊กอย่าง HUAWEI Multi-screen Collaboration with laptop ที่ใช้หน้าจอ MatePad Pro เป็นจอเสริมให้กับโน้ตบุ๊ก ก็เป็นสิ่งที่ Apple ทำมาแล้วในฟีเจอร์อย่าง Sidecar ในปี 2019

รวมถึงความสามารถในการใช้ปากกา M Pencil 2nd Gen เขียนลายมือลงในช่องค้นหาแบบ Freescript ที่ Apple Pencil เปิดตัวฟีเจอร์ Scribble ตั้งแต่ปีที่แล้ว และรองรับการใช้งานกับ iPad ทุกรุ่นที่สามารถติดต่อ iPadOS ได้

***หน้าจอดี-ลำโพงดัง-แบตเตอรี่อึด


ในภาพรวมของแท็บเล็ต ต้องยอมรับ MatePad Pro 12.6 ถือเป็นแท็บเล็ตที่ให้หน้าจอแสดงผลที่ดีรุ่นหนึ่งในท้องตลาดเวลานี้ จากการที่นำจอ OLED ความละเอียด 2K มาใช้งาน พร้อมการแสดงผลบนขอบเขตสี DCI-P3 100%

แต่ก็น่าเสียดายที่เมื่อเทียบกับ iPad Pro 12.9 ที่เพิ่งเปิดตัวมาเหมือนกัน แม้จะใช้จอแบบ mini-LED แต่ด้วยการที่ให้ Refresh Rate แบบ ProMotion ที่ 120 Hz ทำให้การแสดงผลของ iPad Pro 12.9 ดูลื่นไหล และคมชัดมากกว่า

ถัดมาในส่วนของลำโพง MatePad Pro 12.6 ถือว่าทำการบ้านในแง่การให้เสียงเพื่อความบันเทิงมาได้เป็นอย่างดี ด้วยการร่วมมือกับ harman/kardon ปรับแต่งเสียงลำโพงสเตอริโอแบบ 8 ลำโพง ทำให้เสียงที่ได้ครอบคลุมทุกย่านคลื่นความถี่

สุดท้ายเรื่องของแบตเตอรี่ที่ให้มาถึง 10,050 mAh ที่สามารถใช้เล่นวิดีโอแบบออฟไลน์ได้มากกว่า 14 ชั่วโมงต่อเนื่อง และยังรองรับระบบชาร์จเร็ว Huawei Super Charge 40W ทำให้สามารถชาร์จได้เต็มภายในเวลา 2 ชั่วโมง ทำให้เรื่องของการใช้งานบน MatePad Pro ทำได้สมบูรณ์

***HarmonyOS ที่ยังต้องพัฒนา


นอกเหนือจากเรื่องฮาร์ดแวร์ และฟีเจอร์การใช้งานแล้ว สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้เลยคือการที่ MatePad Pro ไม่สามารถเข้าถึง PlayStore ได้ จึงทำให้ขาดแอปพลิเคชันสำคัญๆ ในการใช้งานโดยเฉพาะบริการต่างๆ ของ Google ทั้งในแง่การทำงานอย่าง Workplace ที่รวมแอปพลิเคชัน Docs Sheets และ Slide และ Gmai ที่เข้าใช้งานได้เฉพาะผ่านเว็บเบราว์เซอร์

จนถึงด้านความบันเทิงที่แม้ว่าจะเริ่มมีแอปพลิเคชันให้ดาวน์โหลดบน Huawei App Gallery มากกว่า 1.3 แสนแอปพลิเคชันแล้วก็ตาม แต่แอปที่คนไทยใช้งานอย่างเพื่อรับชมสตรีมมิ่งมากที่สุดอย่าง YouTube และ Netflix ก็ยังไม่มีมาให้

หรือแม้แต่แอปทางด้านโซเชียลมีเดียทั้ง Facebook ก็ยังต้องเข้าผ่านเว็บเบราว์เซอร์ เช่นเดียวกับ LINE ที่การติดตั้งใช้งานนั้นยังไม่สามารถใช้งานได้สมบูรณ์ เพราะขาดการอัปเดตแอปพลิเคชันมานานมากแล้ว

ถัดมาในแง่ของประสบการณ์ใช้งาน HarmonyOS ที่หัวเว่ยนำมาใช้งานนั้นไม่แตกต่างจาก Android ที่หัวเว่ยใช้มาก่อนหน้านี้มากนัก เพียงแต่ว่าความเสถียร และภาพรวมการใช้งานยังมีจุดที่ต้องพัฒนาให้ประสบการณ์ใช้งานดียิ่งขึ้น

โดยเฉพาะเรื่องความเสถียรในการใช้งานระหว่างอีโคซิสเต็มด้วยกัน ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และโน้ตบุ๊ก เพราะเมื่อเป็นการใช้งานแบบไร้รอยต่อผ่านเครือข่ายไร้สาย ถ้าการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ไม่เสถียรก็จะส่งผลต่อการใช้งานในที่สุด

***ราคาที่ต้องคิดก่อนตัดสินใจ


การเปิดราคาของ MatePad Pro 12.6 มาที่ 28,990 บาท นั้นต้องยอมรับว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับข้อจำกัดต่างๆ ในการใช้งาน ทำให้ หัวเว่ย ใช้กลยุทธ์การจูงใจด้วยการแถมอุปกรณ์เสริมทั้งคีย์บอร์ด ปากกา ให้ใช้งานกันไปฟรีๆ

คำถามที่ตามมาคือ เมื่อเทียบกับ iPad Pro รุ่นเริ่มต้น 11 นิ้ว ที่ราคา 27,990 บาท หรือจะเป็นรุ่น iPad Pro 12.9 นิ้ว ที่ 37,990 บาท ไม่นับรวม Apple Pencil อีก 4,490 บาท และคีย์บอร์ดอีกประมาณหมื่นบาท จะเห็นได้ว่า ราคาเฉพาะตัวเครื่องนั้นแตกต่างกันไม่มาก แต่ต้องอย่าลืมว่า กลุ่มลูกค้าที่จะทำการเลือกซื้อแท็บเล็ตในช่วงระดับราคาเกือบ 3 หมื่นบาท ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งต้องการอุปกรณ์ที่ใช้งานได้คุ้มค่า หรือตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในการใช้งานเป็นหลัก

ทำให้มีความแตกต่างกับแท็บเล็ตระดับราคาไม่ถึงหมื่นบาท ที่ซื้อมาใช้งานเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก ซึ่งหัวเว่ยต้องพิสูจน์ถึงความคุ้มค่าให้ได้ว่าเกือบ 3 หมื่นบาทที่นำไปซื้อโน้ตบุ๊กสเปกดีๆ ใช้งานได้ กับ MatePad Pro อะไรจะคุ้มค่ามากกว่ากันสำหรับผู้ที่มีงบประมาณจำกัด

เชื่อว่าเมื่อทุกอย่างพร้อมทั้งแอปพลิเคชันที่รองรับการใช้งานทุกกลุ่ม และ HarmonyOS ที่พัฒนาให้ลงตัว และเชื่อมต่อใช้งานภายในอีโคซิสเต็มได้มากกว่านี้ อนาคตของ MatePad Pro ที่จะมาแย่งชิงตลาดพรีเมียมแท็บเล็ตที่ iPad Pro ครองตลาดนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ไม่ใช่ในช่วงเวลานี้อย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น