Huawei ร่วมวงเสวนาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับเอเชีย-แปซิฟิก รวมกลุ่มผู้กำหนดกฎระเบียบและข้อบังคับ ผู้เชี่ยวชาญในภาคอุตสาหกรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ร่วมศึกษาความท้าทายทางไซเบอร์ นำเสนอแผนการทดสอบความปลอดภัยของอุปกรณ์โครงข่ายที่เป็นมาตรฐาน
อสีโกะ โอคุดะ ผู้อำนวยการระดับภูมิภาค สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) สาขาเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า ความปลอดภัยทางไซเบอร์กลายเป็นประเด็นสำคัญที่องค์กรธุรกิจต้องให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น โดยมีเหตุผลจากปริมาณการใช้งานสมาร์ทดีไวซ์ และอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดนี้ เมื่อมีการใช้งานมากขึ้น ความเสี่ยงก็มีมากยิ่งขึ้นเช่นกัน
“กลุ่มผู้สูงอายุได้กลายเป็นเหยื่อแก่ภัยคุกคามไซเบอร์ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด การเสริมทักษะทางดิจิทัลให้แก่คนทุกคนจึงกลายเป็นสิ่งที่ทางสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศให้ความสำคัญ ในการเสริมสร้างความรู้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหล้ง”
โดยแผนการทดสอบความปลอดภัยของอุปกรณ์โครงข่าย (Network Equipment Security Assurance Scheme) หรือมาตรฐาน NESAS ได้รับการกำหนดให้เป็นกลไกความร่วมมือและมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่สำคัญในประเด็นด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ แบ่งเป็นส่วนของการประเมินการพัฒนาผู้จัดจำหน่ายรวมถึงวงจรผลิตภัณฑ์ และส่วนของการประเมินผลิตภัณฑ์ที่เป็นองค์ประกอบด้านโครงข่าย
มาตรฐาน NESAS เปิดตัวในปี พ.ศ.2562 และได้รับการสนับสนุนเป็นวงกว้างจากในภาคอุตสาหกรรม โดยผู้ให้บริการเครือข่าย ผู้ผลิตอุปกรณ์ สถาบันและห้องแล็บที่มีหน้าที่ตรวจสอบ รัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ต่างร่วมกันส่งเสริมให้ NESAS เป็นมาตรฐานสากลในการออกใบรับรองด้านความปลอดภัยของการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือในยุค 5G ก่อนที่ NESAS 2.0 จะถูกพัฒนาขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ในขณะที่ พงษ์พิสิฐ วุฒิดิษฐโชติ กรรมการสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ (TISA) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.). กล่าวเสริมว่า ปัญหาหลักที่พบในประเทศไทยคือ บุคลากรไม่ให้ความระมัดระวังในการใช้งานออนไลน์ ดังนั้นการเฝ้าระวังในระดับโครงข่ายจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ดีขึ้น
“มาตรฐาน NESAS ได้สร้างกรอบการทำงานในเรื่องของความปลอดภัยให้แก่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อการเพิ่มระดับความปลอดภัยให้อุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ สำหรับในประเทศไทยเอง แผนงานในเรื่องของความปลอดภัยทางเทคโนโลยีกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา โดยจะมีการพัฒนาในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของผู้ใช้งาน ขั้นตอนต่างๆ ไปจนถึงเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ ซึ่งขณะนี้นโยบายหรือขั้นตอนส่วนกลางได้รับการเห็นชอบแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการสนับสนุนแผนการดำเนินงานสำหรับแต่ละประเทศ รวมถึงการร่วมมือระหว่างประเทศ”
นอกจากนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญในแต่ละประเทศให้ยังความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับบทบาทของภาครัฐ หรือรัฐบาลที่ต้องหันมาให้ความสนใจทางด้านภัยไซเบอร์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีที่มีปัญหาขาดแคลน และไม่มีแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปัจจุบัน