xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.จ่อตั้งสถาบันฯ ดูแลลดโลกร้อน หนุน SME ไทยเข้าถึงพลังงานสะอาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. เตรียม MOU กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกวันที่ 30 มิ.ย.นี้ลุ้นดึง “กกพ.” ร่วมด้วยเพื่อเดินหน้าตั้ง สถาบันการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแบบครบวงจร หนุนลดภาวะโลกร้อนของประเทศ โฟกัสช่วยหาพลังงานสะอาดให้ SME ไทยรับมือกติกาโลกเปลี่ยนหลังผู้ผลิตไทยแห่ขอไฟพลังงานสะอาด 100% ตามแนวทางบริษัทแม่ จ่อคลอดพีดีพีภาคประชาชนเดือน ก.ย.นี้

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนและในฐานะประธานคณะทํางานส่งเสริมและสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะจัดตั้งสถาบันเพื่อบริหารจัดการการลดก๊าซเรือนกระจกแบบครบวงจรและการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาดในการเดินหน้าลดภาวะโลกร้อน โดยมีเป้าหมายที่จะลงนามความตกลง (MOU ) วันที่ 30 มิ.ย.นี้ กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และอยู่ระหว่างหารือที่จะดึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เข้าร่วมด้วย

“สถาบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาชื่อที่เหมาะสม แต่จะเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่แบบครบวงจรทั้งการประสาน การจัดหาพลังงานสะอาดให้แก่เอกชน การเทรดคาร์บอน การส่งเสริมประหยัดพลังงาน (EE) และการวางมาตรฐานภาพรวมให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล ซึ่งเรามองถึงระดับอาเซียน โดยกำลังหารือกับภาครัฐที่จะนำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี 2565“ นายสุวิทย์กล่าว

ทั้งนี้ สถาบันฯ จะมุ่งโฟกัสการดูแลวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทยเนื่องจากพบว่าเป็นภาคที่กำลังประสบปัญหาเพราะส่วนใหญ่เป็นผู้รับจ้างการผลิตสินค้า (OEM) ที่ขณะนี้จำเป็นต้องเดินตามนโยบายจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ที่ประกาศจุดยืนตามทิศทางประเทศในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2050 ตามทิศทางของประเทศและรองรับกติกาการค้าโลกที่มุ่งพลังงานสะอาดในการลดโลกร้อน เช่น กลไกการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ที่จะเก็บภาษีคอร์บอนต่อสินค้านำเข้าจากประเทศที่มีมาตรฐานการลดคาร์บอนที่ต่ำกว่าอียู เพื่อให้เท่าเทียมกับสินค้าอียูที่มีต้นทุนสูงจากการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2565

“จากกติกาโลกที่เริ่มเปลี่ยนทำให้เอกชนเข้ามาหารือกับกลุ่มฯ ถึงความต้องการไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE) 100% จำนวนมากคิดเป็นสัดส่วนหลายพันเมกะวัตต์เนื่องจากต้องวางแผนรับมือ แค่เฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์นั้นมีโรงงานมากถึง 3 หมื่นแห่งมีความต้องการไฟจาก RE 100% จำนวนนับ 100 เมกะวัตต์ที่จะเพิ่มจากเดิมก็ใช้อยู่แล้ว จึงเป็นที่มาที่เราเลยต้องตั้งสถาบันฯ เพื่อเข้ามาดูแลในภาพรวม ซึ่งหากเราปรับตัวได้เร็วเราก็จะสามารถสู้เวียดนาม อินโดนีเซีย ฯลฯ ได้เพราะ RE ของไทยค่อนข้างพร้อมกว่า ถือว่าวิกฤตก็จะพลิกเป็นโอกาสได้” นายสุวิทย์กล่าว

นายสุวิทย์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างแผนพลังงานแห่งชาติฉบับภาคประชาชนหรือแผนพีดีพีฉบับประชาชนในความหมายเดียวกันที่ ส.อ.ท.กำลังจัดทำอยู่ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนี้หรือภายในกันยายน โดยเนื้อหาหลักของแผนจะมุ่งเน้นการตอบโจทย์ของกติกาโลกที่จำเป็นต้องวางสมดุลของภาคพลังงานไทยโดยเฉพาะพลังงานจากฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียนที่จะเป็นเทรนด์ของโลก โดยแผนดังกล่าวจะมุ่งปรับทุกปีเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ต่างๆและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วในยุคปัจจุบัน พร้อมกันนี้ยังได้ทำการปรับปรุงแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ฉบับภาคประชาชนที่ก่อนหน้านี้ได้จัดทำไปแล้วให้ทันเหตุการณ์มากขึ้น และบรรจุแผนการลดก๊าซเรือนกระจก แผนเชื้อเพลิงชีวภาพ และพลังงานจากความร้อนเข้าไปเพิ่มเติม


กำลังโหลดความคิดเห็น