xs
xsm
sm
md
lg

เร่งดันแผนพลังงานแห่งชาติ แย้มไร้โรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- ก.พลังงานเตรียมเสนอร่างแผนพลังงานแห่งชาติตอบโจทย์ลดภาวะโลกรวนของไทยภาพใหญ่ลุยมุ่งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงานคาดชงกพช.เคาะเร็วๆนี้หวังประกาศใช้ก.ย. แย้มไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่เพราะไม่สอดรับเทรนด์โลก พลังงานหมุนเวียนสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ดันไทยสู่สังคมคาร์บอนด์ต่ำ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เร็วๆนี้กระทรวงพลังานจะจะสรุปโมเดลแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด์ไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกของไทยร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อนำมาประกอบจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) ที่คาดว่าจะเสนอกรอบเบื้องต้นให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มีนายกรัฐมนตรีพิจารณาปลายมิ.ย.นี้ หรือ ต้นเดือน ก.ค.นี้จากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนคาดว่าจะประกาศใช้แผนพลังงานแห่งชาติได้ในช่วงเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งจากแนวดังกล่าวจะส่งผลให้ไทยต้องมุ่งสู่พลังงานสะอาดมากขึ้นสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน(RE)จะเพิ่มขึ้น โรงไฟฟ้าใหม่ต้องไม่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินเนื่องจากไม่ตอบโจทย์การลดโลกร้อน

“พลังงานเป็นสาขาที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากสุด 30% เราก็ต้องหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)ว่าจะมีเป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์หรือความกลางทางคาร์บอน(Car neutrality )ปีไหน อย่างยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐปี 2050 แต่จีน 2060 เมื่อเทรนด์เป็นอย่างนี้ในภาคไฟฟ้าเองก็ชัดเจนว่าโรงไฟฟ้าต้องไม่เป็นถ่านหินโรงสุดท้ายที่เรายอมก็จะเป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ที่ทดแทนแม่เมาะ 650 เมกะวัตต์เท่านั้น เช่นเดียวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศที่การรับซื้อไฟฟ้าใหม่จะไม่รับซื้อไฟฟ้าจากจากถ่านหินเช่นกัน ขณะเดียวกันจะต้องมาดูว่าจะปรับโรงไฟฟ้าเก่าๆที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะมีการบริหารจัดการอย่างไร แต่ภาพรวมโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตของประเทศไทย(พีดีพี)เดิมที่มีอยู่แล้ว 18%ก็จะลดสัดส่วนลงไปเรื่อยๆ” นายกุลิศกล่าว

นอกจากนี้ แผนพลังงานฯ สัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน(RE)จะต้องเพิ่มขึ้นจากแผนเดิมที่กำหนดไว้ 30% โดยจะเป็นสัดส่วนเท่าใดก็คงจะต้องรอสรุป และ RE ส่วนหนึ่งจะเป็นการส่งเสริมการลงทุน การส่งออก เพราะปัจจุบันหลายประเทศเริ่มมีเงื่อนไขทางการค้าที่มีการตรวจสอบย้อนหลังว่าใช้พลังงานสะอาดหรือไม่ ทำให้การลงทุนขณะนี้ต้องการพลังงานสะอาด 100% มากขึ้น และรัฐก็ต้องส่งเสริมแพลทฟอร์มนี้ให้เกิดการตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุน RE เพิ่มขึ้นเช่น ชีวมวล ชีวภาพ โซลาร์ฟาร์ม ขยะ รวมถึงการซื้อพลังน้ำจากสปป.ลาว อย่างไรก็ตามจะเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นหรือไม่ ก็คงจะต้องมีการหารือถึงความเหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้แผนพลังงานชาติก็จะสอดคล้องกับแผนลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศ แผน BCG แผนพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต่างๆ ที่ต้องปรับปรุงให้เหมาะและก้าวสู่การเป็น ENERGY TRANSITION ทั้งท่อก๊าซ ท่อน้ำมัน สายส่ง โรงกลั่นฯ และอื่นๆ อาทิ ก๊าซธรรมชาติ จะต้องบริหารจัดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) จากต่างประเทศ ที่จะมีการนำเข้าหลังเปิดเสรีก๊าซฯระยะที่ 2 มากขึ้น โดยราคาจะต้องไม่กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า และอาจพิจารณาการเก็บสำรองLNG เพื่อบริหารความเสี่ยงในช่วงที่LNG ตลาดโลกมีราคาแพงในฤดูหนาวด้วย

ขณะที่ด้านน้ำมัน จะต้องดูเรื่องของไฮโดรเจน ที่เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นหลังเกิดโควิด-19 เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี ไบโอไฮโดรจีเนทดีเซล (Bio - Hydrogenated Diesel ) หรือ BHD เพื่อผลิตแทนดีเซล หรือ น้ำมันเครื่องบิน เป็นต้น รวมถึง เมื่อโรงกลั่นฯพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานยูโร 5 แล้ว จะไปต่ออย่างไร ก็คงจะต้องวางแผนร่วมกันต่อไป

“เมื่อเราได้แผนพลังงานแห่งชาติก็จะนำไปสู่การวางแผนพลังงานที่เป็นแผนปฏิบัติการลงรายละเอียดให้เป็นไปตามเป้าหลัก ได้แก่ (PDP)ฉบับใหม่หรือPDP 2022 แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ”นายกุลิศกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น