หัวเว่ย (Huawei) จัดงานใหญ่เปิดตัวศูนย์รักษาความปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลกแห่งที่ 7 อย่างเป็นทางการ มั่นใจศูนย์นี้ยืนยันได้ชัดอีกครั้งว่า Huawei สามารถเชื่อถือได้โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงความปลอดภัยของเครือข่าย เผยไม่ว่ารัฐบาลไหนจะทะเลาะกันแต่หัวเว่ยจะปิดหูปิดตาก้มหน้าทำงานต่อเพื่อแก้ปัญหาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดี ถือเป็นการยกดาบสู้ศึกสงครามการค้าอีกครั้งหลังจากที่ถูกสหรัฐฯ จ้องดิสเครดิต
เคน หู (Ken Hu) ประธานหมุนเวียนของหัวเว่ยกล่าวในงานเปิดตัวศูนย์รักษาความปลอดภัยไซเบอร์และความโปร่งใสในการปกป้องความเป็นส่วนตัว Cyber Security and Privacy Protection Transparency Centre ที่เมืองตงกวน ประเทศจีน ว่า ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายที่บางหน่วยงานยังมีความเข้าใจผิดถึงผลกระทบจากความปลอดภัยของเครือข่าย อุปกรณ์ และเทคโนโลยี ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
สิ่งที่ผู้บริหารหัวเว่ยกล่าวมานั้นมีต้นตอจากความขัดแย้งที่นำโดยสหรัฐฯ ต่อบริษัทสัญชาติจีน เช่น Huawei และแซตทีอี (ZTE) แน่นอนว่าทั้งคู่ปฏิเสธข้อกล่าวหาเสมอว่าไม่ได้ถูกใช้เป็นช่องทางให้รัฐบาลจีนเข้ามาสอดแนมในประเทศที่ติดตั้งโครงข่าย โดยล่าสุด ผู้บริหารหัวเว่ยควงแขนตัวแทนจากหลายประเทศที่ร่วมเป็นสักขีพยานในการเปิดตัวศูนย์ความปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งใหม่รอบนี้
งานนี้ผู้บริหารหัวว่ยชูภาพว่า บริษัทยังคงทำงานร่วมกับหลายประเทศ โดยเฉพาะอินโดนีเซียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) รวมถึงตัวแทนจากสมาคม GSMA ที่มองว่าการเปิดตัวศูนย์ของหัวเว่ยสอดคล้องกับงานของ GSMA ที่เน้นสร้างองค์ความรู้ความปลอดภัยบนเครือข่าย 5G ผ่านโครงการ 5G Secure Cybersecurity Knowledge Base
สำหรับศูนย์นี้ เถา ชิง (Tao Qing) ผู้อำนวยการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน (MIIT) แสดงความมั่นใจว่า ศูนย์นี้จะเป็นพื้นที่สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ทั่วโลกให้สามารถแลกเปลี่ยนความคิด ทำงานร่วมกัน และติดตามมาตรฐานเทคโนโลยี รวมถึงแนวทางการจัดการ เชื่อว่าจะมีบทบาทเชิงบวกต่อการส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงความร่วมมือในอุตสาหกรรม
ในขณะที่ทุกฝ่ายเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกันทั้งอุตสาหกรรมเพื่อรักษาความปลอดภัย หัวเว่ยย้ำว่า ศูนย์ความโปร่งใสด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวทางไซเบอร์นี้จะเป็นศูนย์การดำเนินงานที่ใหญ่ที่สุดของหัวเว่ย ถือเป็นแห่งแรกในจีน หลังจากที่ศูนย์ก่อนหน้านี้เปิดทำการในบรัสเซลส์ช่วงปี 2019 ซึ่งเป็นความพยายามครั้งสำคัญในการฟอกตัวเองให้เป็นซัปพลายเออร์ที่ปลอดภัย
ด้วยการเปิดตัวศูนย์นี้ หัวเว่ยพยายามเน้นประเด็นสำคัญทั้งความไว้วางใจ ความร่วมมือ หุ้นส่วนภาครัฐ การได้มาตรฐาน และการเป็นเทคโนโลยีโอเพ่นซอร์ส โดยเพื่อยืนหยัดในอุตสาหกรรมนี้ หัวเว่ยจำเป็นต้องมีศูนย์สำหรับทดสอบผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้หัวเว่ยมองว่าก้างชิ้นใหญ่ของธุรกิจโครงข่ายวันนี้ไม่ใช่การรักษาความปลอดภัยหรือความเป็นส่วนตัว แต่เป็นความกลัวใน "สิ่งที่ไม่รู้แน่ชัด" ของลูกค้าในบางพื้นที่
จอห์น ซัฟโฟล์ก (John Suffolk) เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลกและความเป็นส่วนตัวของหัวเว่ย ย้ำว่า การเปิดศูนย์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อเอาใจประเทศใด แต่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนลูกค้าของบริษัท และสำหรับกรณีที่รัฐบาลโจ ไบเดน (Jo Biden) ไม่ได้ส่งสัญญาณผ่อนปรนให้ผู้ขายแดนมังกร ก็ชัดเจนว่าสหรัฐฯ ยังมีแนวทางปฏิบัติเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของประเทศและลดความสามารถของ "ใครก็ตามที่มองว่าเป็นคู่แข่ง" ทำให้หัวเว่ยไม่เห็นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดในอนาคตอันใกล้
ที่สุดแล้ว หัวเว่ยเชื่อว่าบริษัทจะมีความก้าวหน้าและยกระดับความปลอดภัยได้ชัดเจน และไม่ว่ารัฐบาลไหนจะทะเลาะกัน หัวเว่ยก็จะปิดหูปิดตาก้มหน้าทำงานต่อไป เพื่อแก้ปัญหาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดีต่อเนื่อง