แม้ว่าในปีนี้งานประชุมนักพัฒนา Worldwide Developers Conference (WWDC) ของแอปเปิล (Apple) ที่หันมาจัดขึ้นในรูปแบบของออนไลน์ จะไม่มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แต่ภายในงานแอปเปิล ยังคงสร้างความประทับใจให้แก่ทั้งนักพัฒนา และผู้ใช้ที่เตรียมจะได้รับอัปเกรดระบบปฏิบัติการใหม่ให้ใช้งานในช่วงปลายปีนี้
เคร็ก เฟเดอริกิ รองประธานอาวุโสฝ่ายวิศวกรรมซอฟต์แวร์ของ Apple กล่าวว่า ในปีนี้แอปเปิลจะเน้นการนำเสนอบริการที่จะเข้าไปยกระดับชีวิตประจำวันของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสร้างประสบการณ์ในการใช้งานร่วมกัน
รวมถึงการนำเสนอเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะช่วยลดสิ่งรบกวน เพิ่มสมาธิให้โฟกัสกับการใช้งานได้อย่างเต็มที่ ทำให้ระบบปฏิบัติการเวอร์ชันใหม่ในทุกดีไวซ์ทำงานร่วมกันภายในอีโคซิสเต็มของแอปเปิลได้สมบูรณ์แบบมากขึ้น
***ดีไวซ์รุ่นเก่าได้ไปต่อ
อย่างแรกเลยคือ การที่แอปเปิลเลือกอัปเดตทั้ง iOS 15 iPadOS 15 และ watchOS 8 ซึ่งเปิดให้ผู้ที่มีดีไวซ์ซึ่งรองรับ iOS 14 iPadOS 14 และ watchOS 7 ใช้งานได้ต่อเนื่อง จะมีก็แต่ macOS Monterey เท่านั้นที่มีการปรับรุ่นที่รองรับการใช้งานให้ใหม่ขึ้น ซึ่งก็คือผู้ที่ใช้งาน iPhone 6s iPad รุ่นที่ 5 และ Apple Watch ซีรีส์ 3 ยังสามารถอัปเกรดมาใช้งานระบบปฏิบัติการใหม่นี้ได้ด้วย นั่นแปลว่าแอปเปิลยังมีการอัปเกรด OS ให้แก่ลูกค้าที่ซื้อเครื่องใช้งานไปแล้วกว่า 6 ปี
โดยมีการคาดการณ์ว่า ส่วนหนึ่งที่การอัปเกรดระบบปฏิบัติการใหม่ของแอปเปิลในครั้งนี้ อยู่บนพื้นฐานของระบบปฏิบัติการเดิมเป็นหลัก เพราะต้องระมัดระวังในเรื่องของวิกฤตการขาดแคลนชิปเซ็ตที่ส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก
ดังนั้น ถ้ามีการอัปเดตระบบปฏิบัติการแล้วมีรุ่นที่ไม่ได้ไปต่อ จะส่งผลกระทบในแง่ความต้องการของตลาดที่มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นด้วย ไม่ใช่เฉพาะ iPhone รุ่นใหม่ แต่รวมถึงการที่ปัจจุบัน iPad Pro M1 ที่เพิ่งเปิดตัวไปก็ยังไม่สามารถจัดส่งได้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า
***เสริมประสบการณ์ใช้งานในอีโคซิสเต็ม
ถัดมาเมื่อมองถึงฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่แอปเปิลเลือกนำเสนอในทุกๆ ระบบปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความสามารถของ FaceTime ให้รองรับการประชุมหลายสาย และแชร์คอนเทนต์ให้รับชมร่วมกัน
จนถึงการเปิดให้สามารถสร้างห้องประชุมผ่านลิงก์ เปิดโอกาสให้ผู้ที่ใช้งานระบบปฏิบัติการอื่นสามารถเข้าร่วมประชุมได้ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ ได้กลายเป็นวิธีการดึงดูดให้ผู้คนเข้าสู่อีโคซิสเต็มของแอปเปิลอย่างเต็มตัว
อีกความน่าสนใจที่เกิดขึ้นคือ การพัฒนา macOS Monterey ที่เพิ่มความสามารถครั้งใหญ่ ในการใช้งานคู่กับ iPhone และ iPad ด้วยการเปิดให้ผู้ใช้ iPhone สามารถแชร์คอนเทนต์ทั้งวิดีโอ เพลง (AirPlay) ไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์แมคได้ ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ใช้งาน iPad ร่วมกับ Macbook หรือ iMac จะสามารถใช้เมาส์ หรือทัชแพดในการควบคุมข้ามอุปกรณ์ได้ทันที (Universal Control) รวมถึงรองรับการโยนไฟล์ข้ามระหว่างอุปกรณ์ ฟีเจอร์ต่างๆ เหล่านี้ได้เข้ามาเสริมให้การใช้งานอีโคซิสเต็มของแอปเปิล สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
***มาตรฐานระบบเสียงตามตำแหน่ง
อุปกรณ์หูฟังไร้สายอย่าง AirPods Pro และ AirPods Max ที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งาน iPhone ถือเป็นอีกหนึ่งดีไวซ์ที่ได้รับการอัปเกรดประสิทธิภาพภายในงาน WWDC ครั้งนี้ โดยเฉพาะการเพิ่มความสามารถในการใช้งานระบบเสียงตามตำแหน่ง (Spatial Audio)
ก่อนหน้านี้ แอปเปิลเริ่มนำเสนอระบบเสียงตามตำแหน่งให้ใช้งานร่วมกับบริการสตรีมมิ่งอย่าง Apple TV+ และผู้ให้บริการรายอื่นๆ เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมความบันเทิง เปิดประสบการณ์ในการรับฟังเสียงแบบรอบทิศทางมากขึ้น
จนมาถึงล่าสุดคือ การยกระดับการฟังเพลงผ่านระบบสตรีมมิ่งของ Apple Music ที่นอกจากจะให้เสียงคุณภาพสูง (Lossless) แล้วยังรองรับระบบเสียงตามตำแหน่งที่รองรับ Dolby Atmos ช่วยเปิดประสบการณ์ฟังเพลงแบบ 3 มิติให้แก่ผู้ใช้
***เก็บข้อมูลสุขภาพเชิงลึก
อีกเรื่องที่แอปเปิลให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องในช่วงหลังมานี้ คือ การเข้าไปช่วยผู้ใช้ในการเก็บข้อมูลสุขภาพ ทั้งจากความสามารถของดีไวซ์อย่าง Apple Watch ที่เก็บข้อมูลสำคัญอย่างอัตราการเต้นของหัวใจ ออกซิเจนในเลือด จนถึงการวัดค่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
ใน iOS 15 ที่จะเปิดให้อัปเดตนี้ จะมีการเพิ่มตัวเลือกในการเก็บข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกัน และผลตรวจสุขภาพต่างๆ ไว้ภายในแอปพลิเคชัน จนถึงใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้สะดวกขึ้น
นอกจากนี้ ภายในแอป Health ยังเปิดให้แชร์ข้อมูลสุขภาพกับผู้ที่ไว้วางใจ หรือแม้แต่หมอประจำตัว ที่เริ่มเปิดให้บริการแล้วในสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุ ที่เมื่อไปพบแพทย์ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปวิเคราะห์เพื่อให้การดูแลสุขภาพทำได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น
พร้อมกับเพิ่มความสามารถในการตรวจจับความมั่นคงในการเดิน ด้วยการนำเซ็นเซอร์บน iPhone มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงในการเคลื่อนไหว โดยทางแอปเปิลชี้ให้เห็นว่า มีผู้คนกว่า 37 ล้านคนต้องเข้ารับการรักษาจากอาการหกล้ม
ในกรณีที่ตรวจพบว่าการเคลื่อนไหวไม่มั่นคงจะมีคำแนะนำให้มีการออกกำลังกาย พร้อมภาพประกอบ โดยเป็นข้อมูลที่ได้รับการยอมรับเพื่อเพิ่มความแข็งแรง และสร้างสมดุลให้แก่ร่างกายด้วย
***ยกระดับความเป็นส่วนตัว
ในประเด็นสุดท้ายคือ การที่แอปเปิลเดินหน้าเน้นย้ำเรื่องความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยของผู้ใช้ให้สูงขึ้น ครอบคลุมทุกระบบปฏิบัติการที่เผยโฉมภายในงานทั้ง iOS15, iPadOS 15, macOS Monterey และ watchOS 8
โดยหนึ่งในบริการที่แอปเปิลเลือกนำเสนอเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวในการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้มากขึ้นคือ iCloud+ ที่ยกระดับบริการ iCloud เดิมให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ด้วยการนำ Private Relay มาใช้เพื่อเข้ารหัสการใช้งานอินเทอร์เน็ต ป้องกันไม่ให้บุคคลใดๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานได้
การนำ Private Relay มาใช้งานนั้น ถือเป็นการยกระดับความปลอดภัยเพิ่มเติมจากความสามารถในการ ‘ลงชื่อเข้าด้วย Apple’ (Sign in with Apple) ที่เดิมจะทำการซ่อนอีเมลจากเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันที่ล็อกอินเข้าใช้งาน ด้วยการเพิ่ม IP แบบไม่ระบุตัวตนเข้าไปให้ติดตามได้ยากขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริการ Private Relay จะไม่ได้เปิดให้บริการในทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้อย่างจีนที่รัฐบาลต้องการสอดส่องการใช้งาน รวมถึงในอีก 9 ประเทศคือ เบลารุส โคลัมเบีย อียิปต์ คาซัคสถาน ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เติร์กเมนิสถาน ยูกันดา และฟิลิปปินส์
ภายใน iCloud+ ยังได้มีการเพิ่มความสามารถในการซ่อนอีเมล และรองรับการทำงานร่วมกับกล้องวงจรปิดภายในบ้านเพิ่มเติม ให้สามารถบันทึกข้อมูลขึ้นไปเก็บไว้บนคลาวด์ได้ทันที ถือเป็นการขยายธุรกิจคลาวด์ของแอปเปิล ให้นำไปใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น
นอกเหนือจากนั้น ภายใน iOS 15 และ iPadOS ยังมีการเพิ่มหน้าจอรายงานความเป็นส่วนตัวของแอปพลิเคชันที่เข้าถึงตำแหน่งที่ตั้ง รูปภาพ กล้อง ไมโครโฟน และรายชื่อ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถพิจารณาการเข้าถึงข้อมูลของแต่ละแอป
จะเห็นได้ว่าจากงานประชุมนักพัฒนาในครั้งนี้ แอปเปิลจะเน้นนำเสนอถึงฟีเจอร์ และบริการที่เปิดกว้างให้นักพัฒนาสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาแอปพลิเคชันเป็นหลัก ไม่ได้เน้นการนำเสนอถึงความสามารถผลิตภัณฑ์ตามสไตล์ของงาน WWDC ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
4 เยาวชนนักพัฒนาไทยชนะรางวัล Swift Student Challenge
ในช่วงก่อนงาน WWDC แต่ละปี แอปเปิลจะมีการเปิดแข่งขัน Swift Student Challenge ที่ให้เยาวชนจากทั่วโลกร่วมพัฒนาแอปพลิเคชันบนพื้นฐานของ Swift เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาในสังคม ซึ่งในปีนี้มีเยาวชนที่ชนะการแข่งขันถึง 350 คน จาก 35 ประเทศทั่วโลก
โดยในปีนี้มี 4 เยาวชนไทยที่ได้รับทุนสำหรับนักเรียนที่สนใจในการเขียนโปรแกรม เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งมีผู้ชนะ 2 คน และช่วยให้เยาวชนนักพัฒนาไทยมีโอกาสในเวทีระดับโลกมากยิ่งขึ้น
คนแรกเลยคือ อภิภูมิ ชื่นชมภู (คนที่ 2 จากซ้าย) นักเรียนชั้นมัธยม 5 โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่พัฒนาแอปพลิเคชัน Sudokuza! ที่ออกแบบเกมการแข่งขัน Sudoku ให้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จนได้รับการคัดเลือกจากทางแอปเปิล โดยก่อนหน้านี้ อภิภูมิ ได้พัฒนาแอปอย่าง OpenAPI ขึ้นบนแอปสโตร์ที่สามารถใช้ Video Call และแชตได้จากในแอป รวมถึงสามารถตั้งเตือนให้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เหมาะสำหรับการเรียนหรือการทำงานเป็นกลุ่ม และถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในโรงเรียน
คนถัดมาคือ ปรีณาพรรณ เสาร์เขียว (ขวาสุด) นักศึกษาแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่นำปัญหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในที่สาธารณะมาพัฒนาเป็นแอป Girl Guard เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หญิง ซึ่งจะมีฟีเจอร์อย่างเสียงสนทนาปลอมไว้คุยขณะเดินทาง และการส่งเสียงขอความช่วยเหลือเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง
ยังมีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่ นัธทวัฒน์ เขมัษเฐียร (คนที่ 3 จากซ้าย) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนวารี เชียงใหม่ พัฒนาแอปที่รวบรวมข้อมูลภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และขั้นตอนการปฏิบัติตัวหากประสบภัยพิบัติต่างๆ ในรูปแบบของตัวอักษร และเสียงให้ทำตามได้ทันที
สุดท้ายแอปพลิเคชันแจ้งข้อมูลสิ่งของ Unzheimer ซึ่ง ศรีศุภดิตถ์ รัตนประเสริฐ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนวารี เชียงใหม่ พัฒนาขึ้นมาแก้ปัญหาผู้ใหญ่ที่มีปัญหาโลกอัลไซเมอร์ทำให้หาสิ่งของไม่เจอ ด้วยการให้บันทึกข้อมูลต่างๆ ว่าวางสิ่งของไว้ที่จุดใดในบ้าน
ทั้งนี้ เยาวชนนักพัฒนาทั้ง 4 คน จะได้รับโอกาสในการเข้าร่วมพูดคุยกับวิศวกรของแอปเปิลเพื่อต่อยอดพัฒนาแอปพลิเคชันให้เหมาะกับการนำไปใช้งานจริง และเปิดโอกาสในการพัฒนาผลงานต่อไปในอนาคต