xs
xsm
sm
md
lg

6 ไฮไลต์หลักกระหึ่มงาน Google I/O

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ซุนดาร์ พิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Alphabet บริษัทแม่ของกูเกิล ในงาน Google I/O 2021
หลังจากปีที่แล้วที่การประชุมนักพัฒนาซอฟต์แวร์ของกูเกิล (Google) ถูกยกเลิกไป ล่าสุด งาน Google I/O กลับมาแล้วในปีนี้พร้อมการประกาศ 6 ไฮไลต์ใหม่ที่ดึงดูดสายตาของชาวโลกได้อยู่หมัด

กล้องเก่งขึ้น

กูเกิลย้ำว่า กำลังสร้างกล้องสมาร์ทโฟนที่แสดงโทนสีผิวได้แม่นยำยิ่งขึ้น โดยซาเมียร์ ซามัต (Sameer Samat) ผู้บริหารกูเกิลยกตัวอย่างความเห็นของคนผิวสีที่มักได้ภาพถ่ายตัวเองแบบไม่ถูกใจแม้แต่ในบริการของกูเกิลเอง สิ่งที่กูเกิลกำลังทำคือการเปลี่ยนแปลงระบบการประมวลผลค่าสีของกล้อง เพื่อให้สามารถปรับสมดุลสีอัตโนมัติ ให้ได้โทนสีน้ำตาลตามธรรมชาติ

โทนสีน้ำตาลของผิว ถูกปรับให้สมจริงตามธรรมชาติในระบบกล้องใหม่ของกูเกิล
นอกจากนี้ กูเกิลยังย้ำว่ากำลังทำงานกับอัลกอริทึมใหม่ เพื่อให้กล้องแยกแยะวัตถุจากพื้นหลังได้ดีขึ้น โดยพัฒนาการใหม่ของระบบกล้องจะพร้อมใช้งานในกูเกิลพิกเซล (Google Pixel) รุ่นใหม่ซึ่งจะออกสู่ตลาดในปลายปีนี้

ดึง AI ดูแลอัลบั้มภาพ

กูเกิลระบุว่า บริการอย่างกูเกิลโฟโต้ส์ (Google Photos) จะใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการดูแลคอลเลกชันภาพ เพื่อให้ผู้ใช้แบ่งปันถึงกันได้อย่างสะดวกสบายและรู้ใจยิ่งขึ้น

กูเกิลไม่ใช่คนแรกที่ใช้ AI จัดการอัลบั้มภาพ เพราะบริการเมมโมรีส์ (Memories) บนแอปเปิล (Apple) และเฟซบุ๊ก (Facebook) มีการนำร่องไปก่อนแล้ว การใช้ AI จะทำให้ผู้ที่ต้องประสบช่วงเวลาที่ยากลำบากในชีวิต เช่น สัตว์เลี้ยงตาย หรือเลิกรากับคนรัก ระบบจะสามารถแสดงเมนูคำถามเกี่ยวกับการลบรูปภาพออกจากอัลบั้ม ซึ่ง AI จะวิเคราะห์เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถควบคุมได้ว่า ต้องการจะเห็นหรือไม่เห็นรูปภาพใด โดยให้ทุกคนลบภาพบุคคลหรือช่วงเวลาที่ต้องการออกไปได้

ยังมีฟีเจอร์ชื่อ "ลิตเติลแพตเทิร์นส์" (little patterns) รูปแบบเล็กน้อยจะทำให้ AI สแกนรูปภาพและสร้างอัลบั้มตามความคล้ายคลึงกันภายในรูป ตัวอย่างเช่น ภาพที่ผู้ใช้สวมเสื้อตัวเดียวกัน โซฟาตัวเดียวกัน หรือถ้วยกาแฟที่คล้ายกัน

ผู้ใช้กูเกิลจะสามารถควบคุมได้ว่า ต้องการจะเห็นหรือไม่เห็นรูปภาพใด
กูเกิลยังพร้อมใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งเพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า "ช่วงเวลาแห่งภาพยนตร์" หรือ cinematic moments ซึ่งจะเชื่อมภาพ 2 หรือ 3 ภาพที่ถ่ายในช่วงเวลาใกล้กัน แล้วสร้างเป็นภาพที่เคลื่อนไหวคล้ายกับไลฟ์โฟโต้ส์ (Live Photos) ของ Apple

เข้าใจภาษา

เวทีนี้ กูเกิลเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ที่เรียกว่า “สมาร์ทแคนวาส” (Smart Canvas) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อระหว่างบริการเอกสาร “กูเกิลด็อคส์” (Google Docs) กูเกิลมีต (Meet) กูเกิลชีต (Sheets) ทาสก์ (Slides) และสไลด์ (Slides) ขณะเดียวกัน ก็มีเครื่องมือช่วยเขียน หรือ assisted writing เพื่อให้การเขียนเอกสารทำได้ง่ายขึ้น

งานสร้างเอกสารจะทำได้ง่ายขึ้นบนระบบของกูเกิล
รอบนี้กูเกิลยังปรับให้ระบบสามารถแนะนำสถานะทางเพศ หรือ gendered terms ให้คำได้ เช่นผู้ใช้ที่เขียนว่า “Chairman” จะถูกถามว่าต้องการใช้คำที่เป็นคนหรือเป็นสิ่งของ ทั้งหมดนี้จะมีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

Android 12 มาแล้ว

กูเกิลย้ำว่า ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ Android 12 เวอร์ชันใหม่จะเป็น "การเปลี่ยนแปลงการออกแบบครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์" การอัปเดตรอบนี้จะมีฟีเจอร์ความเป็นส่วนตัวใหม่ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถควบคุมปริมาณข้อมูลที่ถูกส่งให้แอปในเครื่อง

โทนสีเขียวของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ Android 12 เวอร์ชันใหม่
เวอร์ชันใหม่จะมีการแสดงไฟที่ด้านบนของหน้าจอ เพื่อบอกให้ผู้ใช้ทราบว่าแอปกำลังใช้กล้องหรือไมโครโฟนของอุปกรณ์หรือไม่ ผู้ใช้สามารถเลือกแบ่งปันตำแหน่งที่อยู่โดยประมาณแทนตำแหน่งที่แน่นอนได้ด้วย

ประชุมวิดีโอ 3 มิติ

นอกจากระบบปฏิบัติการใหม่ กูเกิลยังประกาศว่ากำลังทำงานกับระบบวิดีโอแชตแบบใหม่ซึ่งบุคคลปลายสายที่สนทนาด้วยจะสามารถปรากฏตัวต่อหน้าผู้ใช้ได้แบบภาพ 3 มิติ ตัวโครงการมีชื่อทางการว่า "สตาร์ไลน์" (Starline) จุดมุ่งหมายสำคัญคือการสร้างภาพที่สมจริงเป็นพิเศษสำหรับวิดีโอแชต

กูเกิลระบุว่าจะใช้การสร้างภาพ 3 มิติเพื่อทำให้ผู้ใช้บริการวิดีโอแชตดูเหมือนว่าได้อยู่ที่นั่นจริง
ฟีเจอร์นี้เรียกความตื่นเต้นได้มากเพราะการแพร่ระบาดทำให้โลกใช้การประชุมวิดีโออย่างแพร่หลาย ทำให้หลายส่วนมุ่งความสนใจไปที่ยักษ์ใหญ่ไอทีว่าจะปรับปรุงการประชุมทางวิดีโอในทางใด สำหรับ Starline กูเกิลระบุว่า จะใช้การสร้างภาพ 3 มิติเพื่อทำให้ผู้ใช้บริการวิดีโอแชตดูเหมือนว่าได้อยู่ที่นั่นจริง แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ยังต้องใช้กล้องหลายตัว และไม่เข้ากับเทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้ยังต้องใช้เวลาพัฒนาอีกระยะหนึ่ง

Google AI วิเคราะห์สภาพผิวได้

อีกสิ่งน่าสนใจคือ กูเกิลเปิดตัวเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยระบุสภาพผิว ผม และเล็บโดยพิจารณาจากภาพที่ผู้ป่วยอัปโหลดเข้าสู่ระบบ เบื้องต้น บริษัทวางกรอบว่าจะเปิดตัวในปลายปีนี้ และแอปจะได้รับเครื่องหมาย CE สำหรับใช้เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ในยุโรป

AI จะสามารถตรวจจับสภาพผิวได้ต่างกัน 288 สภาพ แต่ก็ยังไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทดแทนการวินิจฉัยทางการแพทย์
พัฒนาการนี้เป็นประโยชน์ในการวินัจฉัยโรค โดยผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งกล่าวว่า ความก้าวหน้าของ AI สามารถช่วยให้แพทย์สามารถให้การรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยได้มากขึ้น เบื้องต้น AI จะสามารถตรวจจับสภาพผิวได้ต่างกัน 288 สภาพ แต่ก็ยังไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทดแทนการวินิจฉัยทางการแพทย์และการรักษาแบบเต็ม 100%




กำลังโหลดความคิดเห็น