อีลอน มักส์ (Elon Musk) คนดังวงการไอทีผู้ก่อตั้งค่ายรถไฟฟ้าเทสล่า (Tesla) ออกมาปฏิบัติการตอกฝาโลงบิตคอยน์ (Bitcoin) โดยเปลี่ยนใจจากการเปิดให้ลูกค้าจ่ายเงินซื้อรถเทสล่าด้วย Bitcoin มาเป็นไม่รับแล้วเพราะกังวลปัญหาสิ่งแวดล้อม
ที่ผ่านมา Bitcoin ถูกไฮไลต์ว่าเป็นเงินดิจิทัลที่ผลาญพลังไฟมหาศาล หลายสำนักมองภาพรวมแล้วคาดการณ์ว่า สถานการณ์อาจเลวร้ายลงไปอีก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Bitcoin มีมูลค่าสูงมาก รายได้จากการร่วมเครือข่ายขุดที่เรียกว่า “miner” จึงยั่วใจให้เหล่านักขุดยอมหลับตามองข้ามความสิ้นเปลืองพลังงานโลกไป
แต่ตอนนี้ทุกสิ่งกำลังเปลี่ยนแปลง Bitcoin ที่เป็นแชมป์เงินดิจิทัลที่มีมูลค่าสูงที่สุดในตาราง กำลังประสบปัญหามูลค่าร่วงระนาวในช่วงสัปดาห์ครึ่งแรกของเดือนพฤษภาคม 64 เพราะการประกาศของมักส์ ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับอนาคตของสินทรัพย์ดิจิทัล แถมยังแยกการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการขุด Bitcoin ออกมาวิจารณ์โดยเฉพาะ
อีลอน มักส์ ทวีตโชว์แนวโน้มการใช้พลังงานของ Bitcoin ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาว่าถึงขั้น “บ้าบอ" โดยแชร์แผนภูมิจากดัชนีการใช้ไฟฟ้า Cambridge Bitcoin Electricity Consumption Index (CBECI) แน่นอนว่าแผนภูมิแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของการใช้พลังงานซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2559 และเร่งขึ้นอย่างรวดเร็วทุกปีจนในปี 2564 พลังไฟที่สูญไปกับการขุดเหมือง Bitcoin แตะระดับปัจจุบันที่ 149 เทราวัตต์ต่อชั่วโมง (TWh) สูงสุดตลอดกาล
จอร์จ คามิยา (George Kamiya) นักวิเคราะห์จากสำนักงานพลังงานนานาชาติ International Energy Agency (IEA) เทียบ 149 TWh กับการใช้พลังงานทั้งหมดของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิล (Google) ที่ใช้พลังไฟประมาณ 200TWh กับศูนย์ข้อมูลทั้งหมดในโลก ซึ่งรายงานจากบริษัทดอยช์แบงก์ (Deutsche Bank) ก็เคยเปรียบว่าหาก Bitcoin เป็นประเทศหนึ่งของโลก ก็จะเป็นประเทศที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในปริมาณเท่ากันกับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ใช้ทั้งปี
IEA ยังคาดการณ์ว่า สถานการณ์อาจเลวร้ายลง เพราะหากเหล่า miner ทุ่มเทใช้อุปกรณ์แบบเต็มที่มากที่สุด การบริโภคไฟฟ้าของเหมือง Bitcoin อาจเพิ่มขึ้นเป็น 500TWh ซึ่งทำให้เทสล่ากลับลำไม่ยอมรับ Bitcoin เป็นวิธีการชำระเงินสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าอีกต่อไป
การประกาศนี้ทำให้มูลค่าของ Bitcoin ลดลง 15% สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง นับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม เมื่อเทสล่าประกาศว่าจะยอมรับชำระเงินเป็นสกุลเงินดิจิทัล หลังจาก ประกาศเทเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์เพื่อลงทุนใน Bitcoin ในช่วงเวลานั้น ข่าวของ Bitcoin กระตุ้นให้เกิดการลงทุนปั้นศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่ทุ่มเทประมวลผลให้แก่ Bitcoin มากขึ้น เพราะหลายคนมองว่าคุ้มค่ากับค่าเงินที่ได้ ซึ่ง Bitcoin มีมูลค่าตลาดทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์ไปเมื่อต้นปีนี้ก่อนที่จะลดลง
ราคาของ Bitcoin ที่สูงขึ้นตามมาพร้อมกับการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น เพราะระบบที่ออกแบบมาให้ Miner ที่แข่งขันกันแก้สมการได้รับเหรียญเป็นรางวัลในทุก 10 นาที โดยเมื่อเดือนที่แล้ววารสารวิทยาศาสตร์ “เนเจอร์” (Nature) ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาที่ระบุว่า การปล่อยก๊าซจากการขุดเหมืองเงินดิจิทัลในประเทศจีน ซึ่งครองตลาดเกือบ 80% ของการค้าสกุลเงินดิจิทัลทั่วโลก อาจส่งผลต่อเป้าหมายการลดโลกร้อนของประเทศ เนื่องจากจีนยังใช้ถ่านหินประเภทลิกไนต์ที่ก่อมลพิษเป็นพิเศษ เพื่อสร้างพลังไฟสำหรับขับเคลื่อนการขุดบางส่วน
ตรงนี้สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) คาดการณ์ว่า จะต้องใช้เวลาอีก 40 ปีกว่าที่จีนจะสามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเงินคริปโต ด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อโลก
ดังนั้น ทางออกที่จะลดการใช้พลังงานของ Bitcoin จึงอยู่ที่การเลิกใช้โมเดล "proof of work” หลักการพิสูจน์การทำงานที่ต้องใช้โปรเซสเซอร์ แข่งขันโหมประมวลผลเพื่อแก้สมการให้ได้รับรางวัลเป็นเหรียญ Bitcoin ให้เปลี่ยนมาเป็นหลักการอื่น เหมือนที่สกุลเงินดิจิทัลเบอร์ 2 อย่างอีเธอเรียม (Ethereum) ทำ
นักวิเคราะห์ฟันธงถึงความยากที่จะจินตนาการว่า Bitcoin จะเปลี่ยนแปลงโมเดล เพราะอาจทำให้เครือข่ายมีความปลอดภัยและกระจายอำนาจน้อยลง แต่เดิม Bitcoin คือสกุลเงินเสมือนที่ถูกตั้งขึ้นมาสำหรับการทำธุรกรรมบนโลกไอที ถูกบัญญัติความหมายไว้ในพจนานุกรมออกซฟอร์ดว่า “สกุลเงินดิจิทัลในการทำธุรกรรมซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องผ่านธนาคารกลาง” ซึ่งหลังจากถูกเปิดตัวครั้งแรกในปี 2009 โดยฝีมือการพัฒนาของเซียนคอมพิวเตอร์ผู้ลึกลับที่ใช้ชื่อว่าซาโตชิ นากาโมโตะ (Satoshi Nakamoto) Bitcoin จึงใช้หลักการเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การดูแลของระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เพื่อลดบทบาทของธนาคารในการกำหนดค่าเงิน การพิมพ์-แจกจ่ายธนบัตร และการบันทึกมูลค่าการโอน-ฝากเงิน
แทนที่จะต้องให้ธนาคารเป็นผู้ดูแลการโอนเงินของผู้ใช้ แต่ Bitcoin ออกแบบให้ชาว Bitcoin ทุกคนสามารถรับรู้และช่วยยืนยันการโอนเงินซึ่งกันและกัน ผ่านซอฟต์แวร์และไฟล์ข้อมูลเฉพาะทางที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทั่วโลก โดยมูลค่าของเงิน Bitcoin จะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงไม่คงที่ เนื่องจากการกำหนดค่าเงิน 1 Bitcoin จะเกิดจากการคำนวณผ่านกลุ่มบุคคลทั่วโลกที่อุทิศคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงของตัวเองเพื่อเปิดซอฟต์แวร์ของ Bitcoin ให้ทำงานตลอดเวลา จนสามารถแก้ไขสมการซับซ้อนได้เสำเร็จ โดยคนกลุ่มนี้จะได้รับ Bitcoin กลับมาเป็นการตอบแทน
แต่ Ethereum และอีกหลายเหรียญไม่ได้ใช้วิธีนี้ เฉพาะ Ethereum ที่มูลค่าพุ่งแรงทะลุ 4,300 ดอลลาร์ในสัปดาห์นี้จนทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ด้วยการเติบโตเกือบ 500% ในปีนี้ กลับไม่ถูกโจมตีเรื่องพลังงาน
จริงอยู่ที่วัตถุประสงค์ของการทำเหมืองเงินดิจิทัลนั้นมี 2 ส่วน คือ เพื่อสร้างเหรียญใหม่ และเพื่อเก็บรักษาบันทึกการทำธุรกรรมทั้งหมดของโทเคนดิจิทัลในระบบ แต่การขุด Ethereum จะเน้นหลักการให้น้ำหนักกับจำนวนเงินที่ถือ ผู้ขุดจะไม่ต้องแข่งขันเพื่อรับเหรียญรางวัล แต่จะได้รับเป็นค่าธรรมเนียมธุรกรรมแทน ทำให้ประหยัดพลังไฟในระบบมากกว่า
ดังนั้น การเคลื่อนไหวของอีลอน มัสก์ และเทสล่าอาจเป็นการปลุกธุรกิจและผู้บริโภคที่ใช้ Bitcoin ซึ่งไม่เคยพิจารณาถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก่อน ขณะเดียวกัน ก็ยังสะท้อนว่าการใช้เงินสกุลคริปโตฯ โดยธุรกิจ ผู้บริโภค และนักลงทุนยังคงมีความไม่แน่นอนสูงในระยะยาว แม้แต่โดชคอยน์ (Dogecoin) เหรียญหมาที่อีลอน มักส์ ระบุว่ากำลังร่วมมือกับนักพัฒนาเพื่อยกระดับเงินดิจิทัลแบบใกล้ชิด
ไม่ว่าใครจะใช้เงินมหาศาลที่ได้จากการขุดเงินคริปโตฯ กับอะไร ล่าสุดมีรายงานว่า วิทาลิก บูเทอริน (Vitalik Buterin) ผู้ก่อตั้ง Ethereum วัย 27 ปี ซึ่งมีเงินดิจิทัลมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในมือ ได้บริจาคเงินดิจิทัลช่วยบรรเทาพิษ COVID-19 ในอินเดีย โดยไม่เพียงบริจาคเงิน Ethereum แต่ยังบริจาคเงินหมาชิบะ “ชิบะ อินุ” (Shiba Inu) ซึ่งเป็นสกุลเงินเสียดสีที่มีความผันผวนมากกว่า ซึ่งหลังประกาศบริจาค เหรียญ Shiba Inu ก็มูลค่าลดลงจาก 0.0038 ดอลลาร์สหรัฐในวันจันทร์เป็น 0.00002043 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินบริจาคช่วงแรกประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดเหลือราว 500 ล้านเหรียญสหรัฐในเวลาไม่นาน