xs
xsm
sm
md
lg

Google ยันไม่ได้แอบฟัง-ไม่เคยขายข้อมูลใคร พร้อมขานรับผู้ใช้หวงข้อมูลส่วนตัวยิ่งขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แพลตฟอร์มฮิตทั้ง Gmail, Google Drive} Google Photos และอื่นๆ ล้วนถูก Google ยืนยันว่าทุกข้อมูลยังคงเป็นส่วนตัว
กูเกิล (Google) ย้ำจุดยืนไม่ขายข้อมูลผู้ใช้บนแพลตฟอร์มฮิตทั้งจีเมล (Gmail) กูเกิลไดร์ฟ (Google Drive) หรือโฟโต้ส์ (Google Photos) ยืนยันทุกข้อมูลยังคงเป็นส่วนตัวสอดรับกับแนวโน้มผู้บริโภคที่หวงแหนข้อมูลของตัวเองมากขึ้น ปฏิเสธไม่เคยดักฟังบทสนทนาเพื่อแสดงโฆษณา แต่การที่ผู้ใช้ได้เห็นโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือบริการทันทีหลังจากที่เพิ่งพูดถึงกับครอบครัวหรือเพื่อนนั้นเป็นเพราะหลายปัจจัยรวมกัน

เกรก แฟร์ (Greg Fair) ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ ด้านการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของกูเกิล กล่าวในการประชุมสื่อมวลชนว่า ปัจจุบัน ผู้ใช้ที่เกิดความกังวลเกี่ยวกับวิธีที่บริษัทใช้และรวบรวมข้อมูลกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยในปีที่แล้ว ผู้บริโภคอย่างน้อย 81% มีความกังวลมากขึ้นถึงวิธีที่บริษัทต่างๆ จัดการข้อมูลส่วนตัว แถมการค้นหาคำว่า “online privacy" หรือความเป็นส่วนตัวออนไลน์ก็เพิ่มขึ้นกว่า 50% ในปี 2020

ผู้บริหารกูเกิลกล่าวว่า บริษัทรู้ดีถึงข้อมูลและความโปร่งใสที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับผู้ใช้ บริษัทจึงดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนได้รับทราบข้อมูลที่กูเกิลรวบรวม และใช้ข้อมูล รวมถึงวิธีที่ผู้ใช้สามารถควบคุมได้

กูเกิลชี้แจงอีกว่า บริษัทไม่มีข้อมูลส่วนตัวที่อ่อนไหวสำหรับใช้ในโฆษณาที่ปรับเปลี่ยนได้สำหรับแต่ละบุคคล ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีพนักงานหรือระบบใดที่กูเกิลใช้เพื่ออ่านหรือสแกนอีเมล โดยแม้ว่าโฆษณาจะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้กูเกิลให้บริการชาวโลกได้ฟรี แต่บริษัทก็ไม่ได้สร้างรายได้จากโฆษณาที่ไม่ถูกคลิก และไม่เคยขายข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้

ตรงกันข้าม ผู้บริหารชี้ว่าความเป็นส่วนตัวคือเรื่องสำคัญสูงสุดสำหรับกูเกิล บริษัทจึงเก็บความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้อย่างเข้มงวดในทุกจุดที่มีการแสดงโฆษณา ซึ่งปัจจุบันกูเกิลมีการใช้ข้อมูลที่ไม่ระบุตัวตน เพื่อทำความเข้าใจและให้บริการต่างๆ ในเครือ เช่น กูเกิลแมปส์ (Google Maps) ที่จะใช้ข้อมูลนิรนามเพื่อวิเคราะห์สภาพการจราจร โดยที่ผู้ใช้ยังสามารถควบคุมข้อมูลของตัวเองได้ตลอดเวลา

เมื่อผู้ใช้ค้นหาบนบริการเสิร์ช (Search) โฆษณาที่ถูกแสดงจะเป็นโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับประวัติของบุคคลเท่านั้น โดยข้อมูลที่ละเอียดอ่อนเช่นสุขภาพ เชื้อชาติ ศาสนา หรือรสนิยมทางเพศล้วนไม่ถูกนำมาวิเคราะห์ใดๆ

สาเหตุที่ทำให้โฆษณาสามารถแสดงตามบทสนทนาที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ความบังเอิญ แต่อาจเกิดจากปัจจัยหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการค้นหาก่อนหน้านี้
เมื่อถูกถามว่ากูเกิลฟังการสนทนาของผู้ใช้หรือไม่ เนื่องจากมีผู้ใช้จำนวนไม่น้อยได้เห็นโฆษณาของแบรนด์หรือสิ่งที่เพิ่งพูดถึงโดยยังไม่มีการค้นหา ผู้บริหารกลับปฏิเสธว่าเป็นความเข้าใจผิดเพราะระบบผู้ช่วยส่วนตัว “กูเกิลแอสซิสแทนต์" (Google Assistant) หรือระบบอื่นของกูเกิลไม่ได้แอบฟังการสนทนาของผู้ใช้ เพราะในความเป็นจริง Google Assistant ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้อยู่ในโหมดพร้อมใช้งานจนกว่าจะมีการพูดคำว่า “OK Google” หรือ “Hey Google” เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้โฆษณาสามารถแสดงตามบทสนทนาที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ความบังเอิญ แต่อาจเกิดจากปัจจัยหลายประการ หรืออาจเป็นโฆษณาจากผู้ให้บริการโฆษณารายอื่น เพราะกูเกิลไม่ได้แสดงโฆษณาทั้งหมดบนอินเทอร์เน็ต และผู้ใช้อาจรู้สึกไวต่อการเห็นแบรนด์มากขึ้นเพราะกำลังคิดถึงอยู่ในใจ

เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว ผู้ใช้ทุกคนสามารถปิดไมโครโฟน กล้องถ่ายรูป หรือระบบเก็บข้อมูลสถานที่ได้เพื่อเพิ่มความโปร่งใสเมื่อใช้เครื่องมือของกูเกิล โดยประวัติกิจกรรมบน Google Assistant สามารถลบหรือดูผ่านคำสั่งเสียงหรือเมนูกิจกรรมของฉัน (My Activity) ซึ่งล่าสุด กูเกิลได้เลิกใช้ระบบคุกกี้ third-party cookies ของบริการหรือเว็บไซต์อื่นแล้ว ขณะเดียวกัน ก็ใช้เทคโนโลยีล่าสุด รวมถึง API ที่รักษาความเป็นส่วนตัว ในขณะที่ยังคงให้ผลลัพธ์ที่ดีสำหรับผู้ลงโฆษณา

ผู้สนใจวิธีตั้งค่าลบข้อมูลโลเกชัน และทุกอย่างที่ผู้ใช้สามารถทำได้เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนตัว รวมถึงวิธีการนำข้อมูลไปใช้ของกูเกิล สามารถศึกษาเพิ่มเติมจากการ์ตูนชมง่ายนี้ที่ลิงก์นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น