xs
xsm
sm
md
lg

“กลุ่มสามารถ” ไตรมาส 1 รายได้ 1,845 ล้านบาท เห็นแนวโน้มเติบโตชัดเจน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มสามารถเผยผลประกอบการไตรมาส 1 มีรายได้รวม 1,845 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ พร้อมเตรียมเซ็นสัญญาโครงการใหญ่ทั้งธุรกิจไอซีที และดิจิทัล

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลประกอบการในช่วงไตรมาสแรกปี 2564 กลุ่มบริษัทสามารถมีรายได้รวม 1,845 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวของปีก่อนพบว่ามีรายได้และกำไรที่ลดลง

เนื่องจากในไตรมาสแรกปี 2563 บริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างเต็มที่ แต่เมื่อเทียบกับผลประกอบการไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว กลับพบว่า บริษัทมีผลประกอบการรวมที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในทิศทางบวก ทั้งในส่วนของธุรกิจ ICT Solutions และธุรกิจ Samart Digital

ขณะเดียวกัน เมื่อศึกษาถึงความจำเป็นและความต้องการของหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาคุณภาพบริการประชาชน ตลอดจนข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละหน่วยงาน จึงเป็นที่มาของการนำเสนอรูปแบบความร่วมมือทางธุรกิจ B2G2C โดยบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนพัฒนาและติดตั้งระบบให้ก่อน จากนั้นค่อยทยอยรับรู้รายได้จากส่วนแบ่งค่าบริการที่เกิดขึ้นภายหลัง

รูปแบบธุรกิจนี้ได้นำไปใช้แล้วในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีสินค้าเบียร์ที่ผลิตในประเทศของกรมสรรพสามิต หรือ Direct Coding ที่บริษัทได้เซ็นสัญญาไปเมื่อปีที่ผ่านมา มูลค่ากว่า 8 พันล้านบาท เป็นระยะสัญญา 7 ปี โดยจะเริ่มใช้งานในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 พันล้านบาท

โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษีเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศต่อไป นอกจากนี้ เทคโนโลยี Direct Coding ที่ใช้ในโครงการนี้ยังสามารถต่อยอดไปใช้กับการเก็บภาษีสินค้าประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสุรา น้ำผลไม้ จนถึงน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น

ส่วนธุรกิจ ICT Solution มีการเซ็นสัญญาโครงการใหม่เฉพาะไตรมาสแรกของปีนี้รวมมูลค่า 1,331 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นโครงการติดตั้งอุปกรณ์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมมูลค่า 380 ล้านบาท และสัญญาซื้อขายชุดเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ในระบบ Cyber Intelligence มูลค่า 189 ล้านบาท

ส่งผลให้ปัจจุบันมีมูลค่าโครงการในมือรวม 6,872 ล้านบาท โดยตั้งเป้าทั้งปีในการเซ็นสัญญาโครงการใหม่อีกราว 8 พันล้านบาท ซึ่งหนึ่งในโครงการเป้าหมายหลัก คือ โครงการระบบ AMI (Advance Metering Infrastructure) หรือโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการวัดค่าพลังงานไฟฟ้าขั้นสูง ซึ่งจะช่วยบริหารจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ถัดมาในกลุ่ม Samart Digital นอกจากธุรกิจการให้บริการดิจิทัลทรังก์เรดิโอ (Digital Trunked Radio System) ซึ่งอยู่ระหว่างการขยายฐานลูกค้าในครอบคลุมมากขึ้น ผ่านความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐหลายแห่ง พร้อมกับการเปิดตัวแอปพลิเคชัน ‘ปกป้อง’ ที่จะเข้ามาสร้างรายได้ใหม่ให้แก่บริษัท

สำหรับธุรกิจที่ต้องรอให้การเดินทางและการท่องเที่ยวฟื้นตัว คือ สายธุรกิจ Samart U-Trans โดยบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด หรือ (CATS) ที่ทำธุรกิจด้านการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชา ซึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเดินทางด้วยเครื่องบินลดลง ทำให้ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง แต่เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและการเดินทางท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง กลุ่มธุรกิจนี้จะกลับมาสร้างรายได้หลักให้แก่กลุ่มสามารถอย่างแน่นอน

“บริษัทใช้เวลาหลายปีในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ เพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยเน้นที่การพัฒนาโซลูชันใหม่ๆ เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจหลังโควิด-19 ซึ่งผมเชื่อว่าหลังวิกฤตครั้งนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ซึ่งจะส่งผลบวกต่อการเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดอีกครั้ง”


กำลังโหลดความคิดเห็น