xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัสอาณาจักร ‘SAMART’ ทรานส์ฟอร์มหลังโควิด-19 (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาณาจักรของกลุ่มสามารถ หรือสามารถคอร์ปอเรชั่น ถือเป็นบริษัทที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน มีการเปลี่ยนผ่านธุรกิจมาหลายยุคหลายสมัย และแน่นอนว่าเมื่อเจอกับคลื่นของดิจิทัล และสถานการณ์ของโควิด-19 ยิ่งเร่งให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านธุรกิจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภายในมือของกลุ่มสามารถที่ปัจจุบันเข้าไปให้บริการไอซีทีโซลูชันแก่ทั้งภาครัฐ และเอกชนก็ต้องมีการปรับตัว ทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุนและค้นหาเทคโนโลยี พร้อมโซลูชันใหม่ๆ มาให้บริการแก่คู่ค้าที่เป็นทั้งภาครัฐ จากทั้งสัญญาสัมปทาน การเข้าร่วมประมูลโครงการต่างๆ รวมถึงภาคเอกชนในการเข้าไปดูแลระบบซิเคียวริตีในยุคที่ภัยคุกคามไซเบอร์กลายเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรธุรกิจต้องเฝ้าระวัง

จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา อาณาจักรหมื่นล้านของกลุ่มสามารถมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอภายใต้การนำของ ‘วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์’ ที่ปัจจุบันก้าวขึ้นมาเป็นรองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ ที่จะคอยมาขับเคลื่อนองค์กรนี้อยู่เบื้องหลังให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น


หากย้อนดูรายได้ของกลุ่มสามารถในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไล่ตั้งแต่ปี 2018 รายได้รวมอยู่ที่ 12,293 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 14,330 ล้านบาท ในปี 2019 ก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา รายได้ลดลงไปต่ำกว่าหมื่นล้านบาท ที่ 9,491 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นช่วงที่กลุ่มสามารถเริ่มทำการปรับตัวสู่ธุรกิจใหม่ และจะเริ่มรับรู้รายได้จากการเตรียมตัวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาในปีนี้

ส่งผลให้ในปี 2021 นี้ กลุ่มสามารถตั้งเป้าหมายรายได้รวมไว้ที่ 14,371 ล้านบาท หรือราว 1.5 หมื่นล้านบาท และมีโอกาสขึ้นไปแตะ 1.9 หมื่นล้านบาท ในช่วงปี 2022 ถ้าสามารถรับรู้รายได้จากโครงการต่างๆ ที่ทำไว้ รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงทั่วโลก


ปัจจุบัน โครงสร้างหลักของกลุ่มสามารถ ประกอบไปด้วย สามารถ เทลคอม (Samart Telcoms) หรือ SAMTEL ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ปี 1996 ตามด้วย สามารถ ดิจิตอล (Samart Digital) หรือสามารถ ไอ-โมบาย เดิม ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งทั้ง 2 บริษัทนี้ถือเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มสามารถในช่วงที่ผ่านมา

นอกเหนือจากนี้ก็จะมีในธุรกิจที่ยังไม่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าจะเป็น สามารถ ยูทรานส์ (Samart U-Trans) ที่เข้าไปทำธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่ง และสาธารณูปโภค สุดท้ายในกลุ่มที่ให้บริการเทคโนโลยีอย่าง วิชั่น แอนด์ ซิเคียวริตี้ ซิสเต็ม และสามารถ เอ็นจิเนียริ่ง

***ลงทุนโครงสร้างให้ภาครัฐเช่าใช้


การเปลี่ยนแปลงโมเดลทางธุรกิจที่สำคัญที่สุดของกลุ่มสามารถในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เมื่อผสมกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ทำให้เกิดการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่กลุ่มสามารถเรียกว่า B2G2C หรือการเข้าไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เน็ตเวิร์ก และ โซลูชันให้แก่ภาครัฐ เพื่อให้ภาครัฐนำไปให้บริการแก่ประชาชน

วัฒน์ชัย ระบุว่า แนวทางการทำธุรกิจนี้เกิดขึ้นจากการที่เข้าใจว่าภาครัฐจะมีการชะลอโครงการลงทุนต่างๆ เพื่อนำงบประมาณไปใช้รับมือกับสถานการณ์โควิด-19 จึงเลือกที่จะเข้าไปลงทุนให้ภาครัฐเพื่อรับส่วนแบ่งรายได้แทน ในลักษณะของการเข้าไปให้บริการแพลตฟอร์มแก่ภาครัฐ เพื่อก่อให้เกิดรายได้ระยะยาวให้แก่บริษัท

อย่างโครงการที่เห็นผลชัดเจนมากที่สุดคือเข้าไปลงุทนในงานพิมพ์รหัสควบคุมบรรจุภัณฑ์ให้แก่กรมสรรพสามิต เพื่อให้สามารถนับจำนวนเบียร์ที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การจัดเก็บภาษีเบียร์ได้เพิ่มขึ้นปีละ 8,000 ล้านบาท โดยเริ่มโครงการในช่วงไตรมาส 1 ปีที่ผ่านมา ก่อนเข้าสู่กระบวนการติดตั้งในช่วงไตรมาส 3 และจะเริ่มนำไปใช้งานในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ เป็นระยะสัญญา 7 ปี มูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ งานพิมพ์รหัสควบคุมบรรจุภัณฑ์ยังสามารถต่อยอดไปยังบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสุรา เบียร์ผลไม้ จนถึงน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ภาครัฐต้องการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมได้อีกในอนาคต และถือเป็นหนึ่งในธุรกิจใหม่ที่รับรู้รายได้ชัดเจน เนื่องจากการบริโภคสุราในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากงานพิมพ์รหัสบรรจุภัณฑ์แล้ว ในกลุ่มสามารถเทลคอมปีที่ผ่านมายังได้โครงการจากภาครัฐ ทั้งการเช่าครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์และเครือข่ายสาขาธนาคารออมสิน และโครงการจัดหาระบบโทรศัพท์ ของกระทรวงมหาดไทย มาเป็น Backlog ในปีนี้กว่า 6,860 ล้านบาท

เมื่อรวมกับงานที่มีโอกาสเข้าไปร่วมทั้งโครงการให้บริการระบบธุรกรรมที่ดินออนไลน์ ของกรมที่ดิน มูลค่า 5-6,000 ล้านบาท ระบบมิเตอร์ไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 4,000 ล้านบาท การเปลี่ยนระบบสู่ดิจิทัลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร อีก 1,000 ล้านบาท ทำให้ในปีนี้สามารถเทลคอม มีโอกาสร้างรายได้กว่า 8,064 ล้านบาทเพิ่มเติมเข้ามา ยังไม่นับรวมกับโครงการที่จะเกิดขึ้นกับกรมศุลกากร และระบบดิจิทัล ไอดี ในปี 2022 ที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท ทำให้อนาคตของ สามารถเทลคอมมีโอกาสเติบโตอย่างแข็งแกร่งในยุคหลังโควิด-19

***ทรังก์เรดิโอ สร้างรายได้


ในกลุ่มของสามารถ ดิจิตอล ช่วงที่ผ่านมาได้เข้าไปลงทุนเสาสื่อสารร่วมกับทางบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT ให้บริการดิจิทัลทรังก์เรดิโอ (Digital Trunked Radio System) โดยทางสามารถ ดิจิตอล ได้เข้าไปลงทุนโครงข่ายกว่า 3,300 ล้านบาท พร้อมดูแลบริการหลังการขาย และแบ่งรายได้กับทาง NT ในการให้บริการ

กลุ่มลูกค้าของทรังก์เรดิโอ จะมีทั้งกระทรวงมหาดไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานที่ใช้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ ที่จะเริ่มใช้งานในช่วงปลายไตรมาส 2 นี้ โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีลูกค้ามาใช้งาน DTRS กว่า 9 หมื่นราย และเพิ่มขึ้นเป็น 2.13 แสนรายในช่วงปี 2022 ทางสามารถ ดิจิตอล ก็จะสร้างรายได้จากการจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสาร และรายได้จากการใช้บริการต่อเนื่องไปในช่วง 5 ปีข้างหน้า

ในฝั่งของธุรกิจคอนเทนต์อย่าง HoroWorld มีการยกระดับจากการดูดวง มาเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวเรื่องดวงชะตา เพื่อให้ครอบคลุมทุกช่วงชีวิตของคนไทย ตั้งแต่เกิด เติบโต ฐานะมั่นคง สร้างบุญ และดับสูญ รวมถึงโอกาสจากธุรกิจกีฬาอย่างการถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีก และบริการ VAR สำหรับการแข่งขันกีฬาทุกประเภท

รวมแล้วในปีนี้ สามารถ ดิจิตอลมีโอกาสสร้างรายได้กว่า 2,709 ล้านบาท และมีรายได้ต่อเนื่องในปี 2022 อีกกว่า 5,632 ล้านบาท ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่จะมาจาก DTRS ที่มีปริมาณผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น

***Samart U-Trans ธุรกิจที่รอท่องเที่ยวกลับมา


อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าธุรกิจของกลุ่มสามารถจะกลับมาฟื้นตัวหลังจากโควิด-19 เพียงอย่างเดียว เนื่องจากยังมีบางธุรกิจที่ต้องรอการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะกลับมาดีขึ้นในช่วงที่การฉีดวัคซีนแพร่หลายมากขึ้น รายได้หลักของกลุ่มธุรกิจยูทรานส์ จะมาจากการบริหารจัดการในสนามบิน และระบบวิทยุการบิน ทำให้จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น การเดินทางด้วยเครื่องบินลดลง ทำให้ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง แต่เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ กลุ่มธุรกิจนี้จะกลับมาสร้างรายได้ระยะยาวให้แก่กลุ่มสามารถอย่างแน่นอน

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของสามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ ซึ่งถือหุ้นของ แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส (CATS) ที่ได้รับสัญญาสัมปทานธุรกิจด้านการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชา 30 ปี แต่เดิมเตรียมยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อาจจะต้องรอให้ผลประกอบการกลับมาเป็นบวกถึงจะทำเรื่องยื่นไฟลิ่งในช่วงที่พร้อมที่สุด

จะเห็นได้ว่า อาณาจักรของกลุ่มสามารถที่ใช้ช่วงเวลาวิกฤตจากสถานการณ์โควิด-19 ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ได้ปูทางให้เห็นรากฐานที่ชัดเจนของกลุ่มมากขึ้น พร้อมไปกับการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างน่าสนใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น