จากยุคของแอนะล็อก ที่ชื่อของ ‘สามารถคอร์ปอเรชั่น’ เป็นบริษัทสัญชาติไทยที่อยู่เคียงคู่คนไทยมาเกือบ 70 ปี ถือว่าเติบโตมาได้อย่างยั่งยืนตั้งแต่ยุคที่ธุรกิจรุ่งเรืองจากเสาอากาศโทรทัศน์ และจานรับสัญญาณดาวเทียม พร้อมสร้างอาณาจักรของกลุ่มสามารถขึ้นมาในกลุ่มธุรกิจต่างๆ
ก่อนที่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กลุ่มสามารถเริ่มทำการทรานฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัล เพื่อพลิกฟื้นธุรกิจ โดยแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในช่วงต้นปี 63 เป็นไปในทิศทางที่ดี จนกระทั่งเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น ทำให้จากเดิมเป้าหมายรายได้ทั้งกลุ่มอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท แต่จบปี 63 รายได้ลดลงไปต่ำกว่าหมื่นล้านบาท
เมื่อเป็นเช่นนั้น ในปี 2564 นี้ ทิศทางหลักของกลุ่มสามารถจึงมุ่งไปที่การฟื้นตัวของธุรกิจ หลังจากได้รับผลกระทบโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ด้วยเป้าหมายรายได้ในปีนี้ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งปรับทิศทางในการทำธุรกิจให้เกิดการสร้างรายได้ระยะยาวมากยิ่งขึ้น
พร้อมกับการก้าวขึ้นไปรับบทบาทใหม่ของ ‘วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์’ ที่จะเปลี่ยนหน้าที่จากการบริหารงาน และจัดการโอเปอเรชันต่างๆ ไปสู่การวางกลยุทธ์ของกลุ่ม จนถึงการพัฒนาธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่กลุ่มสามารถ
วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงบทบาทใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ จะทำให้ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับระดับปฏิบัติการเหมือนเดิม แต่มุ่งเน้นไปมองหาธุรกิจใหม่
“การมองหาธุรกิจใหม่ของสามารถ จะมีทั้งการเข้าไปลงทุนในผู้ประกอบการ โดยเฉพาะสตาร์ทอัปที่น่าสนใจ จากเดิมที่มีการให้เงินลงทุนในลักษณะของ Angle Fund สู่การเป็นเวนเจอร์แคปปิตอลที่เข้าไปลงทุนเพื่อช่วยขยายธุรกิจ”
***ปรับ SAMTEL สร้างรายได้จากบริการ
เมื่อรูปแบบการให้บริการของกลุ่มสามารถ ต้องเปลี่ยนมุมมองจากเดิมที่เน้นพัฒนาโซลูชันไอซีทีเข้าไปให้หน่วยงานราชการใช้งาน ก็จะปรับเปลี่ยนสู่การลงทุนในลักษณะของ B2B2G ที่เข้าไปลงทุนโครงสร้างและระบบให้ภาครัฐ เพื่อนำไปให้บริการประชาชน
หนึ่งในโครงการที่เกิดขึ้นแล้วภายใต้ SAMTEL คือ เข้าไปลงทุนงานพิมพ์รหัสควบคุมบรรจุภัณฑ์บนภาชนะบรรจุ อย่างสุราที่ผลิตในประเทศไทย 9 แห่ง 42 สายพานการผลิต ทำให้กรมสรรพสามิตมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นปีละกว่า 8,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ก็ช่วยสร้างรายได้ต่อเนื่องให้ SAMTEL เป็นระยะเวลา 7 ปี ในวงเงินกว่า 8,032 ล้านบาท และในอนาคตยังมีโอกาสที่จะขยายโซลูชันนี้ไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์บรรจุขวดอื่นๆ ถือเป็นการเพิ่มช่องทางในการต่อยอดธุรกิจอื่นๆ ต่อไปด้วย
นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ในปีที่ผ่านมา กลุ่มสามารถมีงานที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) กว่า 6,890 ล้านบาท และมีโอกาสได้งานเพิ่มเป็นหมื่นล้านบาท ภายในช่วงไตรมาส 2-3 นี้ เนื่องจากเป็นโครงการที่ล่าช้ามาจากปีที่ผ่านมา
“SAMTEL ไม่สามารถรอเฉพาะงานประมูลภาครัฐเพียงอย่างเดียวแล้ว จึงเปลี่ยนรูปแบบเข้าไปลงทุนให้ภาครัฐ เพื่อสร้างรายได้จากการให้บริการแทน และเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างรายได้ระยะยาวให้แก่บริษัท ที่ภายใน 2-3 ปีข้างหน้าจะมีรายได้ประจำเกิน 50%”
ในส่วนของการเข้าไปลงทุนจากเดิมกลุ่มสามารถมีโครงการอย่าง Samart Innovation Award และเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี ที่จะเข้าไปสนับสนุนนวัตกรไทย ก็จะปรับเปลี่ยนสู่การเป็นนักลงทุนในสตาร์ทอัปมากขึ้น
“ปีที่แล้วกลุ่มสามารถลงทุนไปกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นเงินทุนในระดับ Early Stage หรือทุนให้เปล่ากว่า 25 ผลงาน โดยเข้าไปทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในลักษณะของการเป็น Angle Investor”
พร้อมกันนี้ มีสตาร์ทอัปที่อยู่ในระดับ Growth Stage หรือกำลังสร้างธุรกิจให้เติบโต ที่เตรียมเข้ามานำเสนอผลงานในปีนี้กว่า 25 ราย ซึ่งได้เตรียมงบลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ไว้ และเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าไปลงทุน เพื่อก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต
เทิร์นอะราวนด์ SDC จากทรังก์เรดิโอ และดิจิทัลคอนเทนต์
สามารถ ดิจิตอล หรือ SDC เป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่สามารถทรานฟอร์มมา จากสามารถ ไอ-โมบาย เพราะมองว่า เมื่อหมดยุคของโทรศัพท์มือถือเฮาส์แบรนด์ ก็ต้องตัดสินใจ และมองหาธุรกิจใหม่ที่จะมาสร้างรายได้ ทำให้เกิดเป็น SDC ขึ้นมา
“เมื่อเป็นยุคดิจิทัล ทำให้ต้องมองหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะขยายธุรกิจไปยังเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งบล็อกเชน AI ที่จะมีความชัดเจนขึ้นในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้านี้”
ในระหว่างนี้ SDC มีธุรกิจที่ทยอยลงทุนไปก่อนหน้านี้อย่าง DTRS (Digital Trunk Radio Service) ที่เริ่มเปิดประมูล และคาดว่าจะเซ็นสัญญาในช่วงไตรมาส 2 พร้อมกับนำดิจิทัลคอนเทนต์ยอดฮิตอย่าง ‘Horo’ กลับมาพัฒนาใหม่ในลักษณะของโมบายแอปพลิเคชัน
“ปีนี้จะถึงเวลาที่ SDC เทิร์นอะราวนด์กลับมาสร้างกำไรให้แก่กลุ่มสามารถ จากการที่กระทรวงมหาดไทย และการไฟฟ้าภูมิภาคจะมีการนำ DTRS นำไปใช้งานในโครงการมูลค่า 4,000-5,000 ล้านบาท พร้อมเพิ่มปริมาณลูกค้าเป็น 9 หมื่นราย”
ในส่วนของ HoroWorld จะกลับมาในรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่แค่ดูดวงทั่วไป แต่เป็นบริการให้คำปรึกษาส่วนตัวเรื่องดวงชะตา ตั้งแต่เกิด เติบโต เสี่ยงโชค ความมั่นคง สร้างบุญ จนถึงดับสูญ จากพฤติกรรมของคนไทยที่ต้องการสร้างความมั่นใจในการตัดสินใจ
นอกจากนี้ ยังมีบริการใหม่ในกลุ่ม SDC อย่างการรักษาความปลอดภัยบนสมาร์ทโฟน เนื่องจากยุคปัจจุบันนี้ การทำธุรกรรมบนสมาร์ทโฟนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตแล้ว ทำให้เห็นโอกาสที่จะลงทุนนำซอฟต์แวร์ปกป้องข้อมูลระดับโลกเข้ามาให้บริการในไทย ด้วยแอปพลิเคชัน ‘ปกป้อง’ ที่มี ‘Lookout’ เป็นพันธมิตร
“เทรนด์ของเทคโนโลยีในปี 2564 ที่เห็นได้ชัดเจนคือ เรื่องของไซเบอร์ ซิเคียวริตี และโมบาย ซิเคียวริตี ที่จะมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้กลุ่มสามารถเห็นโอกาสในการพัฒนาแอปพลิเคชันมาช่วยป้องกันข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้”
เบื้องต้น ‘ปกป้อง’ บริการป้องกันระบบและรักษาความปลอดภัยสมาร์ทโฟนของ SDC ตั้งเป้าที่จะมีลูกค้าใช้งาน 1 ล้านรายภายในสิ้นปีนี้ พร้อมโมเดลการสร้างรายได้ผ่านค่าบริการรายเดือน เดือนละ 59 บาท ซึ่งทาง SDC จะมีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้ 50% กับทาง Lookout ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยจะใช้งบประมาณในการทำตลาดประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นถึงความสำคัญในการปกป้องข้อมูลบนสมาร์ทโฟน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ เพราะปัจจุบันในไทยมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือกว่า 90 ล้านราย ถ้า 1-2% หันมาใช้งานก็สร้างรายได้เดือนละกว่า 20 ล้านบาทแล้ว
U-Trans - SAV รออุตสาหกรรมท่องเที่ยว
นอกเหนือจาก SAMTEL และ SDC ที่สามารถปรับตัวเข้ากับธุรกิจดิจิทัลแล้ว ภายในกลุ่มสามารถยังมีธุรกิจในกลุ่มสาธารณูปโภค และการเดินทาง ภายใต้บริษัท บริษัท สามารถ ยู-ทรานส์ จำกัด (U-Trans) ที่ได้รับผลกระทบชัดเจนจากโควิด-19 ด้วยการที่ U-Trans ได้เข้าไปลงทุนในบริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV ที่ประกอบธุรกิจการจราจรทางอากาศ และเข้าไปถือหุ้นในแคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส (CATS) ซึ่งก่อนหน้านี้ เตรียมที่จะนำ SAV เข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์
กลายเป็นว่าเมื่อการเดินทางในยุคโควิด-19 หยุดชะงักไป เนื่องจากปริมาณการบินลดลงเหลือ 10-20% เท่านั้นในปีที่ผ่านมา และเริ่มปรับฟื้นขึ้นมาเป็น 30-40% ในปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงที่มีการจราจรทางอากาศหนาแน่นที่สุด ทำให้ต้องชะลอการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ออกไปก่อน
“ตอนนี้ SAV ต้องดูแนวโน้มว่าไฟลต์บินจะกลับมาสร้างรายได้ และกำไรให้ธุรกิจเมื่อไหร่ ซึ่งคาดว่าภายในปี 2565 ถ้าทุกอย่างพร้อมก็สามารถยื่นไฟลิ่งใหม่ เพื่อนำ SAV เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้”
อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่ U-Trans มีรากฐานในการทำธุรกิจที่แข็งแกร่ง ทำให้ยังมีธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำให้แก่กลุ่มสามารถอยู่ และเชื่อว่าจะยังเป็นหนึ่งในสายธุรกิจที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาในช่วงหลังโควิด-19 ได้อย่างแน่นอน
7 ฟีเจอร์เด่นใน ‘PokPong’ แอปช่วยดูแลข้อมูลบนมือถือ
ปกป้อง (PokPong) เป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นจากแพลตฟอร์ม Lookout ด้วยการนำฐานข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้ในการตรวจจับมัลแวร์ ไวรัส ช่วยลดโอกาสถูกโจมตีจากภัยคุกคามรูปแบบต่างๆ ด้วยการพัฒนาให้แสดงผลเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนไทยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของ ‘ปกป้อง’ คือผู้ใช้งานทั่วไปที่ใช้งานสมาร์ทโฟนในการทำธุรกรรมต่างๆ รวมถึงลูกค้าในกลุ่มองค์กรธุรกิจที่ต้องการป้องกันข้อมูลของบริษัทรั่วไหล โดยในอนาคตเตรียมเข้าไปร่วมมือกับทาง AIS เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าเพิ่มเติมด้วย
สำหรับ 7 ฟีเจอร์เด่นที่อยู่ในแอป ปกป้อง จะประกอบไปด้วย 1.App Scan คอยช่วยสแกนไวรัสจากการติดตั้งแอปพลิเคชัน เพื่อคอยสอดส่องไม่ให้เกิดความผิดปกติ 2.Safe Browser ช่วยบล็อกเว็บไซต์ปลอม เว็บไซต์โฆษณาที่หลอกให้เข้าไปกรอกข้อมูลการใช้งานต่างๆ ซึ่งถูกใช้เป็นช่องทางหลักในการแฮกโซเชียลเน็ตเวิร์กที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
3.Privacy Advisor ช่วยตรวจสอบสิทธิ และแจ้งเตือนเมื่อมีการเข้าถึงการใช้งานจากแอปพลิเคชัน เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ 4.Network Scan ในการตรวจสอบเครือข่ายไร้สายที่เชื่อมต่ออยู่ว่ามีความปลอดภัยมากแค่ไหน
5.Encrypt and Backup ในการเข้ารหัสข้อมูลที่มีความสำคัญ พร้อมระบบสำรองข้อมูลผ่านคลาวด์ 6.App Locker ในการล็อกการใช้งานแอปพลิเคชันจากผู้อื่นๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาต และ 7.Photo Vault พื้นที่เก็บไฟล์ภาพ และวิดีโอที่มีความสำคัญ ด้วยการเข้ารหัสเพิ่มเติม
ปกป้อง เริ่มเปิดให้ดาวน์โหลดแล้วผ่าน Play Store บนระบบปฏิบัติการ Android และจะเริ่มให้บริการใน iOS ภายในกลางเดือนเมษายนนี้ โดยจะมีโปรโมชันให้ทดลองใช้งานฟรี 1 เดือน ก่อนคิดค่าบริการรายเดือน 59 บาท และรายปีที่ 559 บาท