xs
xsm
sm
md
lg

“พล.อ.ท.ธนพันธุ์” ชี้ Big Data สามารถบูรณาการข้อมูลแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พล.อ.ท.ธนพันธุ์” แนะ ป.ป.ช. เชื่อมโยงข้อมูล Big Data ประชาชนมาวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศได้ ชี้ต้องเร่งพัฒนาบุคลากรให้เข้าใจเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลและเก็บข้อมูลดิจิทัลให้มากที่สุด เพื่อนำมาบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาพฤติกรรมผิดปกติในการทุจริต แต่ต้องออกกฎ ระเบียบรองรับการใช้ข้อมูล เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการภูมิภาค กล่าวถึงหัวข้อ “Big Data กับการต่อต้านการทุจริต : กรณีศึกษาข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์มือถือ” ในงานสัมมนาวิชาการ กสทช.ประจำปี 2563 ที่จัดขึ้น ณ​ สำนักงาน กสทช. ว่า ในปี 2564 มีผู้ลงทะเบียนใช้งานโทรศัพท์มือถือ 131.18 ล้านเลขหมาย จากจำนวนประชากร 67 ล้านคน ซึ่งหากสามารถนำข้อมูลที่มีการใช้งานมาบูรณาการด้วย Big Data ได้ ก็จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง โดยผลการวิเคราะห์และเรียนรู้ข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์มือถือนั้นพบว่าสามารถใช้ประโยชน์ทั้งจากข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่เกิดจากการลงทะเบียน เช่น เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ พร้อมทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน รวมทั้งจากข้อมูลที่เกิดจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือ เช่น ข้อมูลการโทร.เข้า-โทร.ออกของโทรศัพท์มือถือ ข้อมูลตำแหน่งพิกัดข้อมูลการใช้จ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือและหากสามารถเชื่อมโยงนำข้อมูลของภาครัฐอื่นๆ มาบูรณาการเพิ่มเติม เช่น ข้อมูลทะเบียนราษฎร ข้อมูลการเสียภาษี ข้อมูลอาชญากร 

ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้นำมาวิเคราะห์และเรียนรู้ข้อมูลร่วมกันจะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เป็นการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ในการส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศได้ โดยมีแนวทางในการปฏิบัติสำหรับการใช้เทคโนโลยี Big Data จากข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์มือถือเพื่อนำไปใช้งานจริงในการต่อต้านทั้งในส่วนของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในประเทศไทยดังนี้ 

1.ใช้เทคนิค Classification หรือการจัดกลุ่มข้อมูลบุคคลที่อยู่ในกลุ่ม Blacklist ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับข้อมูลการลงทะเบียนการใช้งานโทรศัพท์มือถือเพื่อติดตามและตรวจสอบพฤติกรรมและความประพฤติของผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่ม Blacklist ของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยหากพบความผิดปกติสำนักงาน ป.ป.ช. สามารถส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบได้ทันทีเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างทันท่วงที รวมถึงเป็นการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่น่าสงสัยของบุคคลที่อาจกระทำการทุจริตคอร์รัปชันด้วย

2.ตรวจสอบข้อมูล Big Data จากการใช้งานโทรศัพท์มือถือที่มีการอัปเดตแบบ Real Time ของบุคคลที่อยู่ในกลุ่มBlacklist ของ ป.ป.ช. ได้แก่ ประวัติการโทร.เข้า-ออกพร้อมกับชื่อ-นามสกุลของผู้ที่ติดต่อที่เป็นผู้ที่ติดต่ออยู่เป็นประจำและต่อเนื่องเพื่อตามหาผู้ที่เกี่ยวข้องหรือบุคคลที่มีส่วนร่วมในการทุจริตคอร์รัปชัน

3.ตรวจสอบความผิดปกติจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือ Big Data ข้อมูลค่าบริการรายเดือนที่สูงผิดปกติของผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือทั่วไป พร้อมทั้งวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาบุคคลที่น่าสงสัยเพื่อทำการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันต่อไปโดยในอนาคตอาจมีการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้จ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Payment) ในรูปแบบ Big Data เพิ่มเติมและเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นๆ ของรัฐ เช่น รายได้ของบุคคลเพื่อนำมาวิเคราะห์การใช้จ่ายเงินที่ผิดปกติของบุคคลและการทุจริตคอร์รัปชันโดยการวิเคราะห์ตามแนวทางดังกล่าวเป็นการตรวจจับทุจริตหรือพฤติกรรมที่ผิดปกติจากการใช้งานข้อมูล Big Data และการสร้างแบบจำลองในการวิเคราะห์โดยอาศัยวิธีการทางสถิติซึ่งมีโอกาสผิดพลาดได้ตามตาราง

“การตรวจจับทุจริต (Fraud Detection) ด้วยการวิเคราะห์ Big Data ข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์มือถือจึงเป็นการเตือนล่วงหน้า (Early Warning) ว่าน่าจะเกิดการกระทำการทุจริตคอร์รัปชันขึ้น แต่ทั้งนี้ ต้องอาศัยการใช้งานหลักฐานในเชิงประจักษ์ (Empirical Evidence) เช่น หลักฐานทางการเงิน หลักฐานทางบัญชี หลักฐานพยาน หลักฐานทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ ประกอบเข้าด้วยกันเพื่อให้มีการตรวจจับการทุจริตคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ” พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวต่อว่า การดำเนินการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมนั้น นอกจากต้องมีเทคนิควิธีการวิเคราะห์ตามที่เสนอแล้ว สิ่งสำคัญที่สำนักงาน ป.ป.ช. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นจำเป็นต้องดำเนินการเป็นลำดับแรก ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถใช้เทคนิควิธีการวิเคราะห์ข้อมูล Big Data ตามที่เสนอหรือเพิ่มเติมจากที่เสนอใต้ นอกจากนั้น ข้อเสนอแนะในลำดับถัดไปที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ 1.สำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพากรต้องมีการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลในลักษณะ Big Data เพื่อให้มีข้อมูล Big Data ในรูปแบบที่เหมาะสมและเป็นที่ต้องการโดยมีระบบการจัดเก็บที่ปลอดภัยสามารถนำมาใช้งานได้อย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพ และสามารถแบ่งปัน (Share) ข้อมูลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นได้เพราะหากไม่มีข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลที่มีจำนวนมากพอก็จะไม่สามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้

2.สำนักงาน ป.ป.ช. ต้องมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวโดยอาจจะตรากฎหมายเพื่อให้อำนาจในลักษณะเช่นเดียวกับกฎหมาย Lawful Interception ที่ให้อำนาจหน่วยงานที่มีอำนาจในการเข้าตรวจสอบข้อมูลที่เป็นอาชญากรรมทางด้านไซเบอร์หรือกฎหมายซึ่งเป็นการบังคับการเปิดข้อมูลของภาครัฐ (Open Data) เพื่อการพัฒนาการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในรูปแบบใหม่และอาจมีหน่วยงานกลางที่ให้บริการเทคโนโลยี Big Data เพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนซ้ำซ้อน

3.ปรับปรุงกระบวนการประสานข้อมูลภายในหน่วยงานและภายนอกหน่วยงานในลักษณะดิจิทัลและติดตามประเมินผลการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันพร้อมทั้งรายงานผลให้ประชาชนทราบ 4.ตรากฎหมายหรือออกกฎระเบียบที่รองรับการใช้ข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์เพื่อไม่เป็นการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนผู้ใช้งานปกติเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การดำเนินการประสบผลสำเร็จได้ มิเช่นนั้นจะถูกการต่อต้านจากประชาชน

สุดท้ายเชื่อว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะมีความก้าวหน้าและเกี่ยวข้องกับประชาชนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ในระยะยาวหากการจัดเก็บข้อมูลรวมทั้งกระบวนการทำงานต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเงินอยู่ในรูปแบบดิจิทัลทั้งหมดหรือเป็นส่วนมากจะยิ่งทำให้เกิดความโปร่งใสเนื่องจากสามารถติดตามและตรวจสอบได้อย่างแท้จริงตลอดเวลา จะยิ่งนำไปสู่การลดการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น