xs
xsm
sm
md
lg

Huawei เตือนยิ่งกลัวเทคโนโลยียิ่งยุ่งยาก "ดีอีเอส" เผยแผนดันไทยขึ้นดิจิทัลฮับอาเซียนกลาง MWC Shanghai 2021

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แคทเธอรีน เฉิน รองประธานอาวุโสและกรรมการบริหารฝ่ายองค์กรของหัวเว่ย สำนักงานใหญ่
ผู้บริหารหัวเว่ย (Huawei) ประกาศกลางงานสัมมนาบนเวที MWC Shanghai 2021 กระตุ้นให้ทุกคนจงเชื่อในพลังของเทคโนโลยี เพราะหากยิ่งกลัวก็จะยิ่งยุ่งยากและวุ่นวาย ด้านยูเนสโก (Unesco) และรัฐมนตรีหลายประเทศตบเท้าขานรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน ขณะที่ประเทศไทยชูแผนแม่บทแห่งชาติ พร้อมปูทางขึ้นเป็นดิจิทัลฮับแห่งอาเซียน

แคทเธอรีน เฉิน รองประธานอาวุโสและกรรมการบริหารฝ่ายองค์กรของหัวเว่ย สำนักงานใหญ่ กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ “การเชื่อมต่อเพื่อการเติบโตร่วมกัน” (Connected for Shared Prosperity) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนาและจัดแสดงนวัตกรรมในระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย MWC Shanghai 2021 (Mobile World Congress Shanghai 2021) ระบุว่า ความกลัวที่เกิดขึ้นในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือล้ำสมัยเช่น 5G จะทำให้เกิดความวุ่นวาย ความยุ่งยาก และความล่าช้า ก่อนจะย้ำว่าโลกจำเป็นต้องเชื่อมั่นในพลังของเทคโนโลยีเพื่อการขับเคลื่อนสังคม

"ผู้คนจำนวนมากไม่เชื่อในพลังของเทคโนโลยีอีกต่อไป การเกิดข้อสงสัยทำให้บางคนต้องการขัดขวางการพัฒนา การรายงานข่าวของสื่อยังทำให้ 5G ถูกมองเป็นประเด็นการเมือง และถูกมองเป็นตัวร้าย"

ความท้าทายที่เฉินยกเป็นประการแรก คือการกระตุ้นให้ทุกคนมองว่าเทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับความก้าวหน้าของมนุษย์ ประการที่สองคือการดำเนินการอย่างแน่วแน่เพื่อให้แน่ใจว่านวัตกรรมสร้างคุณค่าให้แก่ทุกคนได้อย่างแท้จริง เพราะการทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชันและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นการจับคู่ที่แยกกันไม่ออก

เฉิน ยังย้ำให้ทุกคนเชื่อในเทคโนโลยี เพราะในขณะที่หลายหน่วยงานกำลังออกกฎหมายเพื่อความโปร่งใสและความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ชาวโลกจึงควร "ต้องมั่นใจ" ในประโยชน์ของการปรับใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยที่จะเกิดขึ้น โดยชี้ว่าที่ผ่านมา Huawei สนับสนุนการพัฒนาและส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาโดยตลอด เช่น การทำโครงการพัฒนาเทคโนโลยีที่ร่วมกับประเทศเอธิโอเปียหรือกานา เพื่อปรับปรุงความสามารถด้านดิจิทัล สะท้อนความพร้อมร่วมมือกับภาคเอกชน ผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืนในหลายประเทศ

ไทยจะเป็นฮับ

วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทย ใช้เวทีสัมมนา MWC Shanghai 2021 ประกาศเป้าหมายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการมุ่งผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งภูมิภาคอาเซียน โดยแสดงให้ชาวโลกเห็นโรดแมปที่ประเทศไทยวางไว้ทั้งการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐ การสร้างร่วมมือกับภาคเอกชน รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรหลากหลายเพื่อผลักดันโครงสร้างพื้นฐานด้าน 5G และนวัตกรรมโครงข่ายอินเทอร์เน็ต นำไปสู่แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่างยั่งยืน

วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทย
"ที่ผ่านมา ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันนวัตกรรมด้านดิจิทัลเพื่อส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้แก่เอสเอ็มอี บริษัทสตาร์ทอัป หรือสถาบันการศึกษา เพื่อปูทางประเทศไทยไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” และการเป็นดิจิทัลฮับแห่งอาเซียนอย่างเต็มตัว" วรรณพรระบุ โดยยกตัวอย่างความร่วมมือกับหัวเว่ย ในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม 5G EIC (Ecosystem Innovation Center) ในกรุงเทพฯ ขึ้นในปี 63 เพื่อเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมด้านดิจิทัลสำหรับแอปพลิเคชันและบริการด้าน 5G สำหรับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และอีก 2 โครงการที่มีส่วนผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในไทย

2 โครงการนั้นคือโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ซึ่งช่วยปรับกระบวนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยมีต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลง และโครงการเน็ตประชารัฐที่วางจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตฟรีในประเทศกว่า 24,700 จุด คิดเป็นความยาวสายใยแก้วนำแสงกว่า 80,000 กิโลเมตร และโครงการศูนย์ Digital Community Center ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ทักษะด้านดิจิทัล ที่มีจำนวนศูนย์การเรียนรู้มากถึง 2,277 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด และมีจำนวนบุคลากรอาสามากกว่า 2,300 คน

วรรณพร ย้ำว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการจัดอันดับสูงสุดจาก 176 ประเทศทั่วโลกจากดัชนีสปีดเทสต์ โกลบอล อินเด็กซ์ (Speedtest Global Index) ของปี 63 ที่ผ่านมา และยังเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่เปิดให้บริการบนเทคโนโลยี 5G ในเชิงพาณิชย์

นานาชาติร่วมใจ

นอกจากการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เวทีนี้ยังให้ความสำคัญกับภาวะที่โลกกำลังฟื้นตัวหลังเผชิญวิกฤตการณ์โควิด-19 เกิดเป็นความตระหนักถึงการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกันทุกฝ่ายโดยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตรงตามชื่องานสัมมนา “การเชื่อมต่อเพื่อการเติบโตร่วมกัน” (Connected for Shared Prosperity) ที่จัดโดย Huawei สมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น และ The Paper

งานสัมมนา “การเชื่อมต่อเพื่อการเติบโตร่วมกัน” (Connected for Shared Prosperity) ที่จัดโดย Huawei
ด้วยการสนับสนุนขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) งาน Mobile World Congress Shanghai 2021 จึงมีผู้แทนด้านนวัตกรรมระดับชาติจากหลายประเทศทั่วโลกมาร่วมให้ความเห็นเพื่อหาทางรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อนและยกระดับเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น

สเตฟาเนีย จิอานนินิ (Stefania Giannini) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโกด้านการศึกษา กล่าวเสริมในงานสัมมนาว่าเทคโนโลยีดิจิทัลได้กลายเป็นรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน และจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนมากขึ้นในหลายด้าน โดยเฉพาะการศึกษาในช่วงเวลาที่โรงเรียนต้องปิดทำการเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาด

อีกข้อสังเกตสำคัญของเวทีสัมมนานี้คือการเป็นไปไม่ได้ที่จะละเลยประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมไปโดยพัฒนาที่เทคโนโลยีเท่านั้น ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทาง 17 ข้อเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งมีเป้าหมายให้ปี 2573 เป็นปีที่ประเทศต่างๆยึดมั่นในความยั่งยืนของโลก

ในส่วนของหัวเว่ย สถิติระบุว่า ในปี 63 ที่ผ่านมา หัวเว่ยรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 4,500 ตันผ่านการริเริ่มหลายโครงการ รวมถึงการกำจัดถุงพลาสติกในกระบวนการขายสมาร์ทโฟนกว่า 1.8 ล้านใบที่ประหยัดไปได้สำหรับโทรศัพท์ 10 ล้านเครื่อง ยังมีการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 148 ล้านตันในกว่า 60 ภูมิภาค นอกจากนี้ บริษัทยังช่วยสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก และโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์สำหรับการประมงในหนิงเซี่ยและซานตง สะท้อนความพยายามในการปกป้องสิ่งแวดล้อมในบ้านเกิด


กำลังโหลดความคิดเห็น