xs
xsm
sm
md
lg

“กมธ.ดีอีเอส” จี้หน่วยงานวางแผนจัดการ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์”-จัดระเบียบ “สายสื่อสาร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กัลยา รุ่งวิจิตรชัย
“กมธ.ดีอีเอส” เชิญหลายหน่วยงานแจงแนวทางจัดการ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” แนะเสนอร่างกฎหมายเข้าสภาเป็นมาตรการควบคุม- "กัลยา" ชี้ทุกหน่วยงานต้องบูรณาการร่วมกันไม่ใช่ต่างคนต่างทำ จี้เร่งจัดระเบียบ “สายสื่อสาร” อย่ารอเกิดเหตุแล้วค่อยแก้

เมื่อวันที่ 4 ก.พ.64 เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการการสื่อสาร การโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร โดยมี น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ประธาน กมธ.ฯ เป็นประธานในการประชุม วาระพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร โดยเชิญตัวแทนจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรุงเทพมหานคร (กทม.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และตัวแทนผู้ให้บริการเครือข่ายต่างๆเข้าร่วมชี้แจง

น.ส.กัลยา กล่าวภายหลังการประชุมว่า การเชิญตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆมาชี้แจงในครั้งนี้เพื่อสอบถามถึงมาตรการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ของทุกหน่วยงานว่าเมื่อจัดเก็บไปแล้วมีวิธีการจัดการอย่างไรให้ประชาชนปลอดภัยจากมลพิษ ซึ่งตัวแทนจากระทรวงทรัพยากรฯ ได้ชี้แจงว่า กรมควบคุมมลพิษ มีมาตรการเฝ้าระวังและมีมาตรการควบคุม ซึ่งที่ผ่านมาเคยเสนอ ร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว แต่ไม่ทันเวลาในการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวจึงตกไป ซึ่ง กมธ.หลายท่านได้แนะนำให้ทางกระทรวงเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีมาตรการในการควบคุมเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน โดยพร้อมที่จะร่วมผลักดันและเชื่อว่ากฎหมายจะผ่านได้เพราะถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ส่วนผู้ให้บริหารต่างๆมีการพยายามสร้างแคมเปญเพื่อดึงดูดใจกับลูกค้านำขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น มือถือเก่า มาแลกเป็นส่วนลดในการซื้อเครื่องใหม่

น.ส.กัลยา กล่าวว่า นอกจากนี้ทาง กมธ.ยังได้แนะนำให้หน่วยงานต่างๆทำงานร่วมกันให้มากขึ้น อยากให้ทุกหน่วยงานคุยกัน ร่วมกันทำงานแบบบูรณาการ ไม่ใช่แยกส่วนต่างคนต่างทำ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้ในส่วนของการรณรงค์เรื่องการแยกขยะ ต้องพยายามสร้างจิตสำนึก ให้ประชาชนทำเป็นนิสัยประจำ หรืออาจจะหาแนวทางสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนแยกขยะมากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกฝังตั้งแต่เยาวชน อย่างศูนย์ USO NET ศูนย์การเรียนรู้เน็ตชายขอบของ กสทช. ควรดำเนินการในส่วนนี้ด้วย เพื่อให้ศูนย์การเรียนรู้ต่างๆมีประโยชน์สูงสุด

น.ส.กัลยา กล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่ทาง กมธ.ได้ฝากข้อคิดเห็นไปยัง กสทช., กฟน. และ กทม. คือเรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสาร ที่เราได้ขอเน้นย้ำให้มีการสำรวจเชิงรุกว่ายังมีพื้นที่ไหนที่มีปัญหาเรื่องสายไฟ สายสื่อสารที่ห้อยลงมารกรุงรังเป็นอันตรายกับประชาชน ตรงไหนที่ไม่ปลอดภัยควรจัดการให้เรียบร้อยก่อน ไม่ใช่รอให้เป็นข่าวแล้วค่อยมาดำเนินการ ตรงนี้จะเกิดความเสียหายมาก เราไม่อยากให้เกิดความเสียหายก่อนแล้วค่อยมาจัดการ ควรทำให้เรียบร้อยและปลอดภัย

“ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ชี้แจงว่ามีแผนการดำเนินงานอยู่แล้วก่า 300 จุด แต่ทาง กมธ.ได้เน้นย้ำให้เร่งสำรวจว่ามีพื้นที่ไหนที่อยู่นอกเหนือจากโครงการที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยังมีหลายพื้นที่ยังจัดการไม่เรียบร้อย ขอให้เร่งดำเนินการในเรื่องนี้โดยด่วน” น.ส.กัลยา ระบุ.


กำลังโหลดความคิดเห็น