เป็นสงครามเต็มรูปแบบแล้วสำหรับความขัดแย้งระหว่างเฟซบุ๊ก (Facebook) และรัฐบาลออสเตรเลีย ก่อนหน้านี้ทั้งคู่ขัดแย้งเรื่องกฎหมายซึ่งจะบีบให้ Facebook ต้องจ่ายเงินสำหรับเนื้อหาข่าวที่ถูกแชร์ในระบบ จากที่เริ่มตอบโต้แบบยังถนอมน้ำใจกันอยู่บ้าง วันนี้สถานการณ์กำลังตึงเครียดถึงขีดสุดเมื่อ Facebook ลงดาบ "แบน" หรือปิดกั้นเนื้อหาข่าวของสื่อออสเตรเลียทั้งหมดจากแพลตฟอร์ม เป็นการนำพาความขัดแย้งไปสู่ระดับใหม่ที่เข้มข้นกว่าเดิม
ชนวนความขัดแย้งนี้มาจากร่างกฎหมายของออสเตรเลียที่กำลังถูกจับตาทั่วโลก เนื่องจากกฎหมายนี้จะอนุญาตให้สำนักข่าวหรือบริษัทสื่อในออสเตรเลียสามารถเก็บค่าเนื้อหาข่าวที่มีการนำไปแชร์บนแพลตฟอร์มของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างๆ แต่ Facebook ไม่เห็นด้วย แล้วใช้ไม้แข็งในการปิดไม่ให้ชาวออสเตรเลียอ่านหรือแชร์ข่าวตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้นักการเมืองและผู้ให้บริการข่าวในหลายประเทศแสดงจุดยืนประณาม Facebook ว่าพยายามละเมิดระบอบประชาธิปไตย และต้องการขู่ให้ทั้งประเทศต้องคุกเข่าต่อ Facebook
การดึงผู้ใช้ชาวออสเตรเลีย 18 ล้านคนของ Facebook มาเป็นตัวประกัน ทำให้ Facebook ถูกเปรียบเทียบกับกูเกิล (Google) โดยตรง เพราะรายหลังได้ทำข้อตกลงล่วงหน้ากับสื่อหลายแห่งก่อนหน้านี้ การกระทำของ Facebook ทำให้ นายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลียเรียกการกระทำของเจ้าพ่อโซเชียลว่า “หยิ่งผยองแบบน่าผิดหวัง” ขณะที่ จูเลียน ไนท์ ประธานคณะกรรมการดิจิทัลวัฒนธรรมสื่อและกีฬาของรัฐสภาอังกฤษ จวกยับว่าเป็นการกระทำสุดอันธพาล
ฝั่งอังกฤษนั้นมองว่าศึกนี้เป็น "การทดสอบที่แท้จริง" ว่ารัฐบาลควรควบคุมยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างไร รวมถึงวิธีการขอให้จ่ายเงินสำหรับเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม
เจ็บทุกฝ่าย
เรื่องราวทั้งหมดหมิ่นเหม่ต่อหลักการของความเป็นกลาง net neutrality ซึ่งเน้นให้ประชาชนชาวเน็ตทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เสรี ผลลัพธ์จึงกลายเป็นว่า Facebook ไม่ได้ถูกยกย่องเลยที่เคลื่อนไหวอย่างกล้าหาญในการปิดกั้นเนื้อหาทั้งประเทศ ขณะที่นักการเมืองออสซี่ก็ไม่ได้รับคำชมแม้แต่น้อย
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการจุดประกายให้นักการเมืองทั่วโลกต้องคิดใหม่ว่าจะควบคุมยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีอย่างไร ปัญหาคือตอนนี้ความพยายามโชว์แต้มต่อซึ่งไม่มีใครได้รับผลดี ไม่เพียงแต่ปิดกั้นองค์กรสื่อเท่านั้น แต่ Facebook ยังบล็อกเว็บไซต์ด้านสุขภาพของรัฐบาล ซึ่งกระทบต่อการเข้าถึงข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ของประชาชนที่ไม่สามารถใช้งานได้บน Facebook ในทันที
การกระทำนี้ Facebook ถูกประณามจากทั่วโลก มีการพาดพิงถึงการเป็นพลเมืองที่ดีเพราะ Facebook ไม่ยอมจ่ายเงินเพื่อสิทธิในการแชร์ลิงก์ข่าว ปิดทางไม่ให้หนังสือพิมพ์ในประเทศได้รับรายได้จากการโฆษณาในยุคออนไลน์มากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ทุกคนก็ไม่มั่นใจว่าออสเตรเลียมีแนวทางที่ถูกต้อง เพราะความคิดที่จะบังคับให้บริษัทเทคโนโลยีต้องจ่ายเงินสำหรับลิงก์บางอย่างที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ก็อาจทำให้เกิดเป็นโลกอินเทอร์เน็ตที่ไม่เท่าเทียม เพราะมีบางเนื้อหาที่ไม่สามารถใช้งานหรือเข้าถึงได้
ต้องเท่าเทียมนะ
แม้หลายคนจะโทษ Facebook ที่ล้มเหลวในการควบคุมข่าวปลอมในระบบ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับหลักการของความเป็นกลาง net neutrality นั่นคือการรับส่งข้อมูลทั้งหมดควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และแบ่งปันสู่กันได้อย่างอิสระ แทนที่จะถูกเก็บภาษีหรือกำหนดค่าใช้จ่ายก่อนเข้าอ่าน
แต่ตัวแปรนั้นไม่ได้อยู่ที่ Facebook รายเดียว เพราะ Google กลับใช้ไม้อ่อนและทำสัญญากับนิวส์คอร์ป (News Corp.) ของรูเพิร์ต เมอร์ดอช (Rupert Murdoch) แล้วเพื่อแบ่งปันรายได้จากการโฆษณาออนไลน์ สิ่งนี้อาจบีบให้ Facebook ลุกขึ้นมาประท้วงโดยเร็ว เพราะต้องการชี้ให้รายอื่นเห็นว่าในหลายประเทศเริ่มมีการจ่ายเงินให้ผู้เผยแพร่บทความข่าวแล้ว จึงต้องรีบดำเนินการก่อนที่การเจรจาลักษณะนี้จะเกิดขึ้นจริงจังจนยากจะเปลี่ยนแปลง
ไม่ว่าศึกนี้จะออกมาดีหรือชั่ว สิ่งที่ชัดเจนคือ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้ง Facebook ที่ตัดสินใจดึงพรมออกจากการเจรจาทั้งหมดนั้นเสียแต้มแน่นอนในมุมพีอาร์ ความแข็งกร้าวที่เกิดขึ้นไม่เป็นผลดีกับผู้ใช้ ทุกคนถูกจับเป็นตัวประกันโดยที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่เลย