ผู้นำออสซี่ตราหน้าเฟซบุ๊ก “ยะโส” หลังแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อก้องรายนี้ บล็อกผู้ใช้ในออสเตรเลียไม่ให้แชร์ข่าว เพื่อตอบโต้ที่ทางการแคนเบอร์ราเตรียมผ่านกฎหมายบังคับจ่ายค่าคอนเทนต์ข่าว แต่กลับส่งผลให้หน้าบริการฉุกเฉินและมูลนิธิต่างๆ ปลิวไปด้วย ขณะที่หน้าข่าวปลอมที่สร้างความเข้าใจผิดยังเข้าดูได้ตามปกติ ความเคลื่อนไหวนี้ยังทำให้แฮชแท็กรณรงค์เลิกใช้เฟซบุ๊ก ติดเทรนด์ทวิตเตอร์
นับจากช่วงเช้ามืดวันพฤหัสบดี (18 ก.พ.) ผู้ใช้เฟซบุ๊กในออสเตรเลียไม่สามารถโพสต์ลิงก์ข่าวหรือดูหน้าข่าวบนเฟซบุ๊ก ขณะที่ผู้ใช้ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกไม่สามารถดูหน้าข่าวจากออสเตรเลียได้
อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขทางเทคนิคทำให้เพจของมูลนิธิต่างๆ สายด่วนแจ้งเหตุรุนแรงภายในบ้าน บริการด้านสุขภาพ สภาพอากาศ และบริการฉุกเฉินมากมายในออสเตรเลียถูกบล็อกไปด้วย และทำให้ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียจากอเมริกาแห่งนี้ถูกรุมประณามอย่างกว้างขวาง
นายกรัฐมนตรี สก็อตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย วิจารณ์ว่า การตัดสินใจล่าสุดของเฟซบุ๊กเท่ากับเป็นการ “เลิกเป็นเพื่อน” กับออสเตรเลีย พร้อมประกาศว่า จะผลักดันร่างกฎหมายเก็บค่าเนื้อหาข่าวต่อ และประณามเฟซบุ๊กว่า การปิดหน้าบริการข้อมูลสำคัญด้านสุขภาพและบริการฉุกเฉินต่างๆ มากมายในออสเตรเลีย เป็น “ความยะโสและน่าผิดหวังอย่างมาก”
ชนวนความขัดแย้งนี้มาจากร่างกฎหมายของออสเตรเลียที่กำลังถูกจับตาทั่วโลก เนื่องจากจะอนุญาตให้สำนักข่าวหรือบริษัทสื่อในออสเตรเลียสามารถเก็บค่าเนื้อหาข่าวที่มีการนำไปแชร์บนแพลตฟอร์มของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างๆ
ทางด้านโฆษกเฟซบุ๊กชี้แจงว่า หน้าอย่างเป็นทางการของรัฐบาลออสเตรเลีย ซึ่งรวมถึงการแจ้งเตือนการระบาดของโควิด-19 ไฟป่า และพายุไซโคลน ไม่ใช่เป้าหมายการดำเนินการของบริษัท แต่เนื่องจากกฎหมายไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจนเกี่ยวกับคำจำกัดความของเนื้อหาข่าว บริษัทจึงจำเป็นต้องดำเนินการโดยอิงกับคำจำกัดความที่ครอบคลุม
แม้หน้าซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับข่าวบางส่วน เริ่มกลับมาดูได้อีกครั้งในช่วงบ่าย แต่ชาวออสซี่ยังคงไม่พอใจอย่างมากกับการตัดสินใจของเฟซบุ๊ก และส่งผลให้แฮชแท็ก #facebooknewsban และ #DeleteFacebook ติดเทรนด์บนทวิตเตอร์
ปีเตอร์ ลูอิส ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อเทคโนโลยีที่มีความรับผิดชอบ โจมตีว่า การตัดสินใจของเฟซบุ๊กเป็นการทำลายใบอนุญาตทางสังคมของบริษัทเอง และว่า เมื่อไม่มีข่าวที่อิงกับข้อเท็จจริง เฟซบุ๊กก็เป็นแค่ลูกแมวบ้องแบ๊วและเพจทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดเท่านั้น
“ถ้าเฟซบุ๊กตัดสินใจปฏิบัติกับคนออสเตรเลียแบบนี้ เราก็ควรตอบโต้ด้วยการเลิกใช้เฟซบุ๊กและหาแพล็ตฟอร์มอื่นเพื่อเชื่อมต่อออนไลน์แทน”
อีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการฮิวแมน ไรต์ส วอต์ช ออสเตรเลีย ชี้ว่า การตัดการเข้าถึงข้อมูลสำคัญของคนทั้งประเทศในตอนกลางดึก ถือเป็นการกระทำที่ขาดจิตสำนึก
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายคนที่เตือนว่า เฟซบุ๊กลบข้อมูลและข่าวอย่างเป็นทางการจากนักข่าวที่เชื่อถือได้ แต่กลับปล่อยให้มีการเผยแพร่ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดและข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดและเป็นอันตรายโดยไม่มีการตรวจสอบ
กรณีนี้ถือเป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งล่าสุดระหว่างภาครัฐกับพวกบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ซึ่งกำลังถูกตรวจสอบเข้มงวดขึ้นในแง่การสร้างผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
มอร์ริสันสำทับว่า ขณะนี้หลายประเทศกำลังกังวลกับพฤติกรรมของเหล่าบิ๊กเทคที่คิดว่า ตัวเองใหญ่กว่ารัฐบาลและไม่ควรถูกควบคุมภายใต้กฎใดๆ
“พวกเขาอาจเปลี่ยนแปลงโลก แต่ไม่ได้หมายความว่า จะครองโลกได้”
ความเคลื่อนไหวของเฟซบุ๊กเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐมนตรีคลังออสเตรเลียทวีตว่า ได้พูดคุยอย่างสร้างสรรค์กับมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เกี่ยวกับกฎหมายควบคุมบริษัทไฮเทคที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา
ทางด้าน วิลเลียม อีสตัน ผู้จัดการเฟซบุ๊กประจำออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ คัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวสุดลิ่ม โดยระบุว่า เป็นการเข้าใจอย่างผิดๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มของบริษัทกับผู้เผยแพร่ที่ใช้เฟซบุ๊กแบ่งปันเนื้อหาข่าว และทำให้บริษัทมีทางเลือกเพียงสองทาง คือ พยายามปฏิบัติตามกฎหมายที่ละเลยข้อเท็จจริงของความสัมพันธ์นี้ หรือหยุดการเผยแพร่เนื้อหาข่าวบนเฟซบุ๊กในออสเตรเลีย ซึ่งเฟซบุ๊กจำใจต้องเลือกอย่างหลัง
อีสตันสำทับว่า เฟซบุ๊กสร้างรายได้หลายร้อยล้านดอลลาร์ให้องค์กรสื่อในออสเตรเลีย
ทว่า หน่วยงานตรวจสอบการแข่งขันแดนจิงโจ้ ยืนยันว่า รายได้ทุก 100 ดอลลาร์จากค่าโฆษณาออนไลน์เป็นของกูเกิล 53 ดอลลาร์, เฟซบุ๊ก 28 ดอลลาร์ และที่เหลือจึงแบ่งกันระหว่างองค์กรสื่อที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การตอบโต้อย่างรุนแรงของเฟซบุ๊กตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับกูเกิลที่เลือกทำข้อตกลงกับบริษัทสื่อ ซึ่งรวมถึงนิวส์ คอร์ปของรูเพิร์ต เมอร์ด็อก
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)