เฟซบุ๊ก, แอปเปิล, ซัมซุง ตลอดจนถึง เทสลา พร้อมใจรายงานรายรับและผลกำไรพุ่งกระฉูดในไตรมาสที่ผ่านมา ตอกย้ำว่า เหล่าบิ๊กเทคสามารถฝ่าฟันวิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แถมรับอานิสงส์เต็มๆ จากมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกต้องกักตัวอยู่บ้านและหย่อนใจด้วยโซเชียลมีเดีย บริการดิจิทัล และแกดเจ็ตต่างๆ ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กเปิดศึกกล่าวหาแอปเปิลจ้องทำลายตน ด้วยการสกัดโฆษณาแบบจำกัดเป้าหมายผ่านฟีเจอร์ใหม่ในไอโอเอส 14
ในวันพุธ (27 ม.ค.) แอปเปิล บริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคของอเมริกา รายงานว่า ผลกำไรในช่วงไตรมาสส่งท้ายปี 2020 พุ่งขึ้น 29% จากระยะเดียวกันปีก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ 28,700 ล้านดอลลาร์ ส่วนรายรับก็เพิ่มขึ้น 21% เป็น 111,400 ล้านดอลลาร์ โดยยอดขายในต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 2 ใน 3 ของทั้งหมด
ยอดขายของแอปเปิลยังทะลุ 100,000 ล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก จากการปล่อยแกดเจ็ตและบริการใหม่ๆ เอาใจผู้บริโภคที่ต้องกักตัวอยู่บ้านระหว่างวิกฤตโรคระบาด โดยบริษัทรายงานว่า ยอดขายไอโฟน อุปกรณ์แบบสวมใส่ และเนื้อหาดิจิทัลล้วนเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง
ด้านยักษ์ใหญ่สื่อสังคมอย่างเฟซบุ๊ก ประกาศข่าวดีเช่นเดียวกัน โดยรายงานผลกำไร 11,200 ล้านดอลลาร์ จากรายรับ 28,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนหน้า 53% และ 33% ตามลำดับ
เฟซบุ๊กยังเผยว่า เครือข่ายสื่อสังคมของบริษัทมีผู้ใช้ 2,800 ล้านคน ณ สิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และผู้ใช้ 3,300 ล้านคนใช้แอปของบริษัท ได้แก่ อินสตาแกรม, วอตส์แอป และเมสเซนเจอร์ อย่างน้อยที่สุด 1 แอป
อย่างไรก็ดี บริษัทบิ๊กสื่อสังคมสหรัฐฯแห่งนี้เตือนว่า อนาคตยังคงไม่แน่นอน เนื่องจากกฎระเบียบใหม่ที่อาจจำกัดวิธีโฆษณาแบบกำหนดเป้าหมายของบริษัท
ทั้งนี้ รายได้จำนวนมากของเฟซบุ๊กมาจากโฆษณา และบริษัทเผยว่า ได้อานิสงส์จากวิกฤตโรคระบาดที่ทำให้การซื้อขายออนไลน์เติบโตอย่างมาก
แต่เฟซบุ๊กคาดหมายว่า โฆษณาแบบกำหนดเป้าหมายของบริษัทจะเผชิญอุปสรรคจากการเปลี่ยนแปลงในระบบปฏิบัติการไอโอเอส 14 ของแอปเปิล
เดือนที่แล้ว เฟซบุ๊กโจมตีแอปเปิลว่า มาตรการใหม่เกี่ยวกับการเก็บข้อมูลและโฆษณาแบบกำหนดเป้าหมาย ในระบบปฏิบัติการไอโอเอส 14 จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็ก โดยเฟซบุ๊กหมายถึงฟีเจอร์ใหม่ที่ชื่อว่า tracking transparency ซึ่งจะเตือนผู้ใช้หากแอปพลิเคชันต่างๆ บนไอโอเอสต้องการขออนุญาตเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล เรื่องนี้เฟซบุ๊กมองว่า เป็นการลิดรอนความสามารถในการเสนอโฆษณาแบบกำหนดเป้าหมายของบริษัท
ระหว่างการพูดคุยกับนักลงทุนเมื่อวันพุธ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประธานบริหารเฟซบุ๊ก ระบุว่า แอปเปิลเป็นหนึ่งในคู่แข่งใหญ่สุดของบริษัท และมีแรงจูงใจอย่างแท้จริงในการใช้ตำแหน่งผู้นำด้านแพลตฟอร์มเพื่อก่อกวนแอปและวิธีการทำงานของแอปต่างๆ ของเฟซบุ๊ก โดยแอปเปิลอาจอ้างว่า ต้องการปกป้องผู้ใช้ ทั้งที่จริงแล้วต้องการติดตามผลประโยชน์ในการแข่งขันของตัวเอง
นอกจากสองยักษ์ใหญ่ไฮเทคอเมริกาคู่นี้แล้ว วิกฤตโควิดยังช่วยส่งเสริมธุรกิจของซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์แห่งเกาหลีใต้เช่นเดียวกัน โดยเมื่อวันพฤหัสฯ (28) ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและชิปความจำใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้รายงานว่า กำไรในไตรมาส 4 ปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 26.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า เป็น 5,970 ล้านดอลลาร์ ส่วนยอดขายขยับขึ้น 2.8% อยู่ที่ 55,800 ล้านดอลลาร์
เทสลา มอเตอร์ เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ฝ่าฟันวิกฤตโควิดสำเร็จ แถมทำกำไรได้เป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้วด้วยตัวเลข 721 ล้านดอลลาร์ จากที่ขาดทุน 862 ล้านดอลลาร์ ในปี 2019 ขณะที่ยอดขายพุ่งขึ้น 28% เป็น 31,500 ล้านดอลลาร์ จากยอดการส่งมอบรถที่เพิ่มขึ้น 36% เป็นเกือบ 500,000 คัน เฉพาะไตรมาส 4 บริษัทรถไฟฟ้าชื่อดังของอเมริกาแห่งนี้ฟันกำไรเพิ่มขึ้นถึง 157% อยู่ที่ 270 ล้านดอลลาร์ และรายได้เพิ่มขึ้น 46% อยู่ที่ 10,700 ล้านดอลลาร์
(ที่มา: เอเอฟพี)