xs
xsm
sm
md
lg

เซเลบตบเท้าเข้า ‘คลับเฮาส์’ คึกคัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตอนนี้ทั้งคนดังทั้งมหาเศรษฐี มีของเล่นเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์ก ‘เสียง’ แพลตฟอร์มใหม่ ชื่อว่า ‘คลับเฮาส์’

ถ้าจะอธิบายง่ายๆ ‘คลับเฮาส์’ ก็คล้ายๆ สถานีวิทยุ ที่อาศัยธรรมชาติแบบ ‘คลับ’ ก็คือ คนที่มีส่วนร่วมความสนใจในสิ่งเดียวกัน มี ‘โฮสต์’ สร้าง ‘ห้อง’ ขึ้นมาเชื้อเชิญสมาชิกเข้ามาพูดคุยในเรื่องที่ตัวเองสนใจ


ใน ‘คลับเฮาส์’ มีฟีเจอร์เหมือนอินสตาแกรม คือ สามารถติดตามผู้คนที่คุณชื่นชอบได้ และเขาก็สามารถจะติดตามคุณกลับได้ด้วย ถ้าเราเข้าไปร่วม ‘คลับ’ เราสามารถพูดคุยแสดงความคิดเห็นได้ด้วย ถ้า ‘โฮสต์’ เปิดโอกาส (เหมือนประธานรัฐสภาอนุญาตให้พูด--ประมาณนั้น) หรืออยากจะเข้าไปเป็นนักฟังที่ดีเฉยๆ ก็ได้


แอปนี้มันน่าตื่นเต้นยังไง ทำไมคนดังถึงอยากลองเข้าไปเล่น? มันเริ่มจาก อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ‘เข้าร่วม’ กับ ‘คลับเฮาส์’ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา แล้วเข้าไปพูดปลุกกระแสเรื่องมนุษย์ต่างดาว การใช้ชีวิตบนดาวอังคาร และเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับอวกาศ ทำให้ผู้คนมากมายหลั่งไหลเข้าไปใน ‘ห้อง’ ของเขา ซึ่งจุได้มากที่สุดคือ 5,000 คน -- ปรากฏว่าเกิดอาการระบบล่มไปถึง 10 นาที แต่สักพัก ‘ห้อง’ ที่สมาชิกล้นทะลักเพราะมีคนสร้างชื่อว่า อีลอน มัสก์ ก็โผล่ขึ้นมาอีกหลายห้องให้คนเข้าไปฟังสิ่งที่เขาพูดกันได้

การมาของอีลอน มัสก์ เหมือนเป็นการช่วย ‘โปรโมต’ แอปฯ ‘คลับเฮาส์’ อย่างเป็นทางการ ซึ่งขณะนี้สามารถดาวน์โหลดกันได้เพียงในแพลตฟอร์มไอโอเอสเท่านั้น ยังไม่ได้มีการพัฒนาในแอนดรอยด์


‘คลับเฮาส์’ ยังปังต่อเนื่อง เมื่อในอีกวันต่อมา เจ้าพ่อเฟซบุ๊กอย่าง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ยังต้องแวะเวียนเข้ามาบ้าง โดยเข้ามาพูดเรื่องเทคโนโลยีเออาร์ และวีอาร์ ยังมี “ห้อง’ ของนักการตลาดอย่าง กาย คาวาซากิ ที่ย้ายจากสังกัดแอปเปิลมาอยู่ที่แคนวาเรียบร้อยแล้ว ก็กลายเป็นอีกห้องที่คนเบียดเสียดจนระบบจะล่ม


กาย คาวาซากิ ที่เทิดทูนต้นสังกัดเก่าของตัวเองมาก พอไม่สามารถที่จะเผยแพร่ความรู้เรื่องการตลาดของตัวเองต่อผู้ฟังได้ดังใจ ก็เลยเปรียบว่าแพลตฟอร์ม ‘คลับเฮาส์’ นี่ไม่เสถียรยังกับวินโดวส์ 95 ไม่มีผิด


ในโซเชียลเน็ตเวิร์กทางเสียงนี้ ยังมีเรื่องสัพเพเหระให้เข้าไปร่วมฟังอีกมากมาย ทั้งห้องการเมือง ที่มีคนหน้าเหมือนบารัค โอบามา กับโดนัลด์ ทรัมป์ มาร่วมตอบคำถามขำๆ ฮาๆ พวกโปรโมตซีรีส์ทางโทรทัศน์ก็มี ส่วนนักแสดงเกาหลี-อเมริกัน แดเนียล แด คิม อาศัยแพลตฟอร์มนี้มาพูดถึงอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง ท่ามกลางกระแสต่อต้านคนเอเชียในสหรัฐฯ ขณะนี้ ซึ่งก็มีบรรดาเซเลบริตี และนักเคลื่อนไหวทางสังคมเข้ามาร่วมสนับสนุนมากมาย


นักเขียน/นักวิจารณ์ชื่อดังจากเดอะ นิว ยอร์กเกอร์ อย่าง มัลคอล์ม แกลดเวลล์ ก็อาศัย ‘คลับเฮาส์’ เป็นช่องทางแสดงออกถึงมุมมองของเขาที่มีต่อหนังสือใหม่ของ อดัม แกรนต์ Think Again แล้วก็ยังมีห้องเก๋ๆ ที่รวมนายทุนที่มีคอนเนกชันบนสื่อทีวี อย่างเควิน โอเลียรี บาร์บารา คอร์โครัน และเดย์มอนด์ จอห์น ที่ส่วนใหญ่ก็เข้ามาโปรโมตรายการของตัวเอง แต่ถ้ามองในมุมกลับกันสำหรับคนที่มีไอเดียก็อาจจะเข้าไปนำเสนอผลงานของตัวเองได้


สำหรับการเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กที่เน้นการสื่อสารผ่านเสียงเป็นหลัก ทำให้กำแพงหลายๆ อย่างถูกทำลายลงไป ต่างจากแอปฯ อื่นๆ ที่เห็นหน้า สำหรับคนที่หวงแหนความเป็นส่วนตัวก็อาจจะไม่ค่อยสะดวกใจเท่าไหร่ในการพูดคุยกับคนแปลกหน้า แต่กับ ‘คลับเฮาส์’ เพื่อนร่วม ‘ห้อง’ จะไม่เห็นหน้าของคุณ เขาจะตัดสินคุณผ่านน้ำเสียง สำเนียงและวาจาเท่านั้น

หลังจากที่ อีลอน มัสก์ เข้ามาเป็นสมาชิก ทำให้ ‘คลับเฮาส์’ ขยายสู่เอเชียมาที่ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว แถมบรรดาสมาชิกยังช่วยกันแปลภาษาที่ไม่คุ้นเคยทั้งหลาย อย่างภาษาจีนเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้โลกตะวันตกและตะวันออกสื่อสารกันได้เข้าใจกันมากขึ้น

ลองจินตนาการว่า ‘คลับเฮาส์’ ฝั่งเอเชีย หาก ลีกาซิง เข้ามาเปิดห้อง ‘ทอล์ก’ เรื่องการประสบความสำเร็จเป็นมหาเศรษฐี หรือ อาเดรียน เช็ง มาเล่าเบื้องหลังของธุรกิจอัญมณีและอสังหาริมทรัพย์ของเขา ห้องก็คงจะระเบิดไม่แพ้กรณีอีลอน มัสก์ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และกาย คาวาซากิ เป็นแน่แท้

ลองหาดู อาจจะมีโปรแกรมแบบนี้แล้วก็ได้นะ ชาว ‘คลับเฮาส์’


กำลังโหลดความคิดเห็น