รัฐบาลไบเดนยังไม่ออกมาเปิดเผยความลับของ “แอเรีย 51” พื้นที่สุดยอดหวงห้ามของกองทัพอากาศแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้คนเชื่อว่ารัฐบาลอเมริกันใช้เป็นแหล่งกักขังมนุษย์ต่างดาว อีกทั้งยังไม่แถลงว่ากองทัพอากาศทราบอะไรบ้างเกี่ยวกับยูเอฟโอ หรือวัตถุบินที่มิอาจระบุตัวตน แต่อย่างน้อยที่สุดก็ได้มีการเปิดเผยแล้วว่า “ปุ่มกดเรียกไดเอ็ตโค้ก” ที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วางข้างโทรศัพท์บนโต๊ะเรสโซลูต (Resolute Desk) ในห้องรูปไข่ (Oval Office) ณ ทำเนียบขาว ตลอดสี่ 4 ปีเต็มนั้น กลับมาวางที่จุดเดิมแล้ว สื่อข่าวออนไลน์เดอะวีกนำเสนอ
ปุ่มกดเรียกไดเอ็ตโค้กของทรัมป์ ทำให้ทรัมป์ถูกนินทาขำกลิ้งในกลุ่มคนใกล้ชิดและบรรดานักข่าว ที่เปลี่ยนปุ่มกดเรียกเจ้าหน้าที่เสียใหม่ให้เป็นว่า กดเมื่อใดนำไดเอ็ตโค้กเย็นเจี๊ยบเข้าไปเสิร์ฟเมื่อนั้น โดยทรัมป์มักจะกดวันละ 12 กระป๋องกันเลยทีเดียว เดอะวีกบอกโดยระบุว่าเป็นข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเฉลยไว้กับเดอะโปลิติโก นิตยสารการเมืองออนไลน์ชื่อดัง
ในภาพถ่ายประธานาธิบดีโจ ไบเดน ณ โต๊ะเรสโซลูต ในห้องทำงานรูปไข่ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2021 ซึ่งทำเนียบขาวมอบแก่สื่อมวลชนนั้น ไบเดนนั่งที่โต๊ะตัวเดิม แต่ปุ่มกดเรียกไดเอ็ตโค้กอันนั้นหายไปจากตำแหน่งที่เคยปักหลักมาหลายทศวรรษตั้งแต่ที่ถูกใช้งานเป็นเรื่องเป็นราวในยุคของจอร์จ ดับเบิลยู. บุช และบารัค โอบามา จรดจนมาถูกใช้งานเฉพาะเจาะจงเพื่อการสั่งไดเอ็ตโค้กในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์
โดยไม่ชักช้า เดอะฮิลล์ เว็บไซต์ข่าวการเมืองของรัฐสภาอเมริกัน จุดประเด็นขึ้นว่าปุ่มสีแดงบนกล่องไม้ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่โต๊ะเรสโซลูตซึ่งเคยนำไดเอ็ตโค้กมาให้อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ได้ดื่มในทันทีนั้น ไม่ปรากฏให้เห็นอีกต่อไปแล้ว
โจ ไบเดน นายใหม่แห่งทำเนียบขาวไม่ปลื้มและสั่งทิ้งหรืออย่างไร
เดอะฮิลเล่าว่า ทรัมป์เคยอำแขกเหรื่อผู้มาเยือนว่าปุ่มสีแดงอันนี้สามารถยิงนิวเคลียร์ได้ ทั้งนี้ เดอะฮิลอ้างข้อมูลจากหนังสือปี 2019 ของคริส ซิมส์ อดีตเจ้าหน้าที่ด้านประชาสัมพันธ์ของทำเนียบขาว
“แล้วจู่ๆ เขาก็กดปุ่มนั่น” ซิมส์เขียนถึงอดีตนาย “พวกแขกเหรื่อซึ่งไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรดี ได้แต่มองกันไปมา อีกสักครู่ พนักงานเดินเข้าไปพร้อมแก้วใส่ไดเอ็ตโค้กบนถาดเงินหรูหรา ขณะที่ทรัมป์ระเบิดหัวเราะก๊าก”
ด้าน ทอม นิวตัน ดันน์ หัวหน้าทีมนักวิเคราะห์ข่าวการเมืองของไทมส์ เรดิโอ ก็ร่วมแซวในวันเดียวกันด้วยเกร็ดประวัติความประทับใจที่มีต่อปุ่มขำๆ นี้ เจ้าตัวเขียนบนทวิตเตอร์ว่า
“ประธานาธิบดีไบเดนนำปุ่มโค้กไดเอ็ตออกไปแล้ว ตอนที่ผมกับชิปเปอร์ส อันบาวด์ ได้สัมภาษณ์ทรัมป์ที่ทำเนียบขาวในปี 2019 เราทึ่งมากอยากจะทราบถึงสิ่งที่ปุ่มสีแดงเล็กๆ นี้สามารถทำได้ ในที่สุดทรัมป์ก็กดปุ่ม และแล้วพนักงานเสิร์ฟรีบเข้ามาในห้อง พร้อมกับนำไดเอ็ตโค้กบนถาดเงินมาให้ ตอนนี้ปุ่มไม่อยู่ละ”
เมนต์ใต้ทวิตเตอร์ของดันน์ถามว่า พนักงานนำไดเอ็ตโค้ทมาเสิร์ฟกี่แก้ว คำตอบคือ แก้วเดียว แต่ทรัมป์ถามผมว่ารับด้วยมั้ย ผมตอบว่าครับ ขอสักหน่อยนะครับ
กล่องไม้ปุ่มแดงที่หายไป กลายเป็นข่าวขบขันฮือฮาที่สื่อมวลชนออนไลน์มากกว่า 50 เจ้าในสารพัดประเทศ นำไปเล่าต่อเกรียวกราว
5 วันผ่านไป ไวเหมือนโกหก ไบเดนให้พาดหัวข่าวใหม่แก่บรรดาสื่อมวลชนผ่านภาพปฏิบัติงานบนโต๊ะเรสโซลูตที่มีกล่องไม้ปุ่มแดงกลับมาตั้งข้างเครื่องโทรศัพท์ดั่งเดิม
การกลับมาของปุ่มแดงแจ้งใจแห่งโดนัลด์ ทรัมป์ ตกเป็นข่าวอีกรอบหนึ่ง พร้อมข้อสังเกตว่าหากไบเดนตั้งใจทิ้งปุ่มสั่งน้ำอัดลมประจำตัวของทรัมป์ไปจริงๆ นั่นย่อมมิใช่ว่าเขาจะทำเพราะไม่สนใจเครื่องดื่มทำนองนี้ อันที่จริงแล้ว เขาก็ชื่นชอบไม่ใช่น้อย ผู้ดูแลด้านเครื่องดื่มของอดีตรองประธานาธิบดีไบเดนเม้าให้ค่ายวอชิงตันโพสต์ไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว (2020) ว่าไบเดนมีโค้กซีโร่เรียงไว้ในแพนทรีเสมอ เดอะฮิลรายงาน
ส่วนค่ายโปลิติโกเมาท์มอยแทนใจท่านผู้อ่านว่า น่าเสียดาย เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวมิได้บอกว่าไบเดนจะใช้ปุ่มนี้ทำอะไร อาจจะใช้กดเรียกเครื่องดื่มไวตามินเกตเตอร์เรดรสส้ม หรือไอศกรีม หรือถ้าจะให้จริงจังหน่อย คงจะเป็นปุ่มกดเรียกกาแฟ
โปลิติโกบอกเพิ่มเติมว่า อดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวให้รายละเอียดด้วยว่า อันที่จริงในห้องทำงานรูปไข่มีกล่องไม้ปุ่มแดงอยู่ 2 อัน อันหนึ่งตั้งบนโต๊ะเรสโซลูต อีกอันหนึ่งตั้งข้างเก้าอี้ผิงไฟ ซึ่งทรัมป์ก็มิใช่จะใช้ปุ่มแดงกดเรียกไดเอ็ตโค้กทุกครั้งไป เพราะเขาแค่ร้องเรียกพนักงานเสิร์ฟซึ่งพากันรอรับใช้ดูแลอยู่ไม่ห่างตลอดวัน
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เดอะวีกขมวดปมลงมาว่าปุ่มแดงจะถูกทิ้งหรือนำมาใช้ต่อไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่อยู่ที่ว่าจะใช้อย่างไร ทั้งนี้ ไบเดนคงจะใช้ในแบบปกติที่เคยทำกันมา คือ กดเรียกเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการทำเนียบขาว ยิ่งกว่านั้น ไบเดนน่าจะทราบดีถึงความเหมาะความควร และคงจะไม่กดปุ่มแดงสั่งไอศกรีมเลี้ยงผู้เข้าร่วมประชุมลับสรุปสถานการณ์ความมั่นคงแห่งชาติ
โดย : รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา - เดอะวีก, เดอะฮิล, โปลิติโก, เอพี และรอยเตอร์)