xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เผย เรื่องสถาบันอภิปรายได้ แต่ต้องระวังพูดเฉพาะที่เกี่ยวกับ รมต.เท่านั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองนายกฯ ระบุ เรื่องสถาบัน อภิปรายในสภาได้ แต่ต้องระมัดระวัง ให้พูดเฉพาะที่เกี่ยวกับ รมต.เท่านั้น รับไม่เคยมีการตั้งญัตติตรงๆ แบบนี้ เผยไม่มี รมต.มาขอให้ติวให้

วันนี้ (27 ม.ค.) เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และประธานวิปรัฐบาล เรียกร้องให้มีการแก้ไขญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เนื่องจากมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถาบัน ว่า ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจกล่าวหานายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี รวม 10 คน ข้อหาแตกต่างกันไป บางเรื่องก็ซ้ำซ้อนกัน แต่ถือเป็นญัตติ เนื้อหาจริงๆ ต้องไปว่ากันที่ตอนอภิปราย การดูแค่ญัตติอย่างเดียวไม่เพียงพอ คนที่เตรียมตัวไม่สามารถเตรียมได้ครบถ้วน เพราะไม่รู้เนื้อหาการอภิปรายทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ญัตติมีการกล่าวอ้างถึงสถาบัน นายวิษณุ กล่าวว่า อยู่ในส่วนคำกล่าวหานายกฯ 3 ประเด็น คือ ใช้สถาบันแบ่งแยกประชาชน ใช้อ้างอิงเพื่อนำมาปกปิดการกระทำที่บกพร่องของรัฐบาล และกล่าวหาว่านำสถาบันไปหาประโยชน์ ซึ่งยังไม่รู้ว่าคืออะไร อาจจะเกี่ยวกับการตั้งข้อหามาตรา 112 เป็นเรื่องที่นายกฯต้องเตรียมตัว ตนคงอธิบายอะไรไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าคืออะไร

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา มีการตั้งญัตติเกี่ยวกับสถาบันบ้างหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เคยมีแบบเฉี่ยวไปเฉี่ยวมา แต่ตรงๆ เช่นนี้ไม่มี แต่เมื่อถึงเวลาในสภา ใครที่จะอภิปราย หรือแม้แต่ผู้ที่จะตอบต้องระมัดระวัง ตนไม่ได้แปลว่าพูดไม่ได้ แต่หมายถึงต้องระมัดระวัง ไม่เช่นนั้น จะเจอข้อบังคับการประชุมสภา จนมีการประท้วงและคัดค้านได้ ซึ่งการอภิปรายเรื่องสถาบัน เส้นแบ่งมันมีอยู่แล้ว คนที่อยู่ในสภาชำนาญการอยู่แล้ว คงต้องระวัง โดยประธานสภาคงต้องควบคุมในส่วนนี้ ย้ำว่า ไม่ได้หมายความว่าพูดไม่ได้ พูดได้แต่พูดให้เป็นเรื่องของรัฐมนตรี อย่าไปพูดให้เป็นเรื่องของสถาบัน

เมื่อถามว่า จะต้องเป็นการประชุมลับหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อยู่ที่เนื้อหา อย่าตั้งหลักว่าจะประชุมลับ ถ้าเป็นเช่นนั้นผิด แต่เมื่อถึงเวลาพูดกันจะได้รู้ ถ้ามีการกล่าวหาขึ้นมาแล้วรัฐบาลจำเป็นต้องตอบเพื่อให้ชัดเจน แต่ถ้าการตอบไม่สมควรเปิดเผยต่อสาธารณะ สามารถขอให้ประชุมลับได้เฉพาะเรื่องนั้น อย่างไรก็ตาม การอภิปรายโดยไม่ลงมติครั้งที่ผ่านมาก็เคยมีเนื้อหาที่เฉี่ยวไปเฉี่ยวมา ซึ่งประธานสภาสามารถควบคุมได้ดี

เมื่อถามว่า ส.ส.ที่อภิปรายมีเอกสิทธิ์คุ้มครองใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า การพูดในสภา ผู้ใดจะนำไปกล่าวหาฟ้องร้องในทางใดๆ ไม่ได้ แต่ถ้ามีการถ่ายทอดสดไปสู่บุคคลภายนอก จะไม่มีเอกสิทธิ์ตรงนี้ ที่ผ่านมา มีการฟ้องร้องกันหลายคดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีใครมาปรึกษาหรือให้ช่วยเป็นติวเตอร์ให้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีๆ จะมาหาทำไม แต่ละคนก็ชำนาญการทั้งนั้น รัฐมนตรีแต่ละคนก็ชำนาญเวทีอยู่แล้ว ส่วนนายกฯ ได้เจอกันในที่ประชุม ครม. ซึ่งนายกฯบอกว่าได้ให้ช่วยทำการบ้านในเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่ ตนก็รับทราบตามนั้น และไม่จำเป็นว่าตนจะต้องไปประจำการเพื่อคอยช่วยชี้แจง แต่ต้องเข้าใจว่าบางเรื่องที่ถูกอภิปราย ไปเกี่ยวพันกับคนอื่น นายกฯถูกอภิปรายฯใน 2 ฐานะ คือ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และในฐานะ รมว.กลาโหม ซึ่งในฐานะ รมว.กลาโหม นั้น ทางกระทรวงกลาโหม จะต้องเตรียมข้อมูลให้นายกฯ เอง แต่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็ต้องรับผิดชอบเพราะเป็นนายกฯ เป็นหัวหน้ารัฐบาล และเป็นผู้ที่ดูแลกระทรวงทั้ง 20 กระทรวง เพราะฉะนั้น 20 กระทรวง จะต้องเตรียมข้อมูลให้นายกฯ เพราะกระทรวงใดก็ตามไปทำอะไร นายกฯอาจถูกอภิปรายฯได้ทั้งนั้น ทุกกระทรวงนายกฯสามารถถูกพาดพิงได้หมด

นายวิษณุ ยังยกตัวอย่างข้อกล่าวหาของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ที่มีการไปแต่งตั้งใครมาเป็นอะไร ข้อหานี้ไปโดนที่ ร.อ.ธรรมนัส แต่เอาเข้าจริงอาจจะมาโดนที่นายกฯก็ได้ แต่นายกฯจะตอบได้อย่างไร นายกฯก็ตอบได้แค่ว่า ก็ไม่ใช่คู่สมรสของผม ทำไมจะตั้งไม่ได้ และถ้าไปอภิปราย ร.อ.ธรรมนัส ประเด็นนี้ ร.อ.ธรรมนัส ก็สามารถบอกได้ว่า ก็ผมไม่ได้เป็นคนตั้ง เป็นคู่สมรสผมก็จริง แต่ผมไม่ได้เป็นคนตั้ง เพราะฉะนั้นนี่คือตัวอย่างว่าเกี่ยวพันกับใครก็ต้องลุกขึ้นตอบเอง สำหรับนายกฯมีสิทธิตามข้อบังคับให้คนอื่นตอบได้

เมื่อถามว่า ได้เตรียมตัวชี้แจงข้อกฏหมายให้บ้างหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังมองไม่เห็นว่ามีอะไรที่เกี่ยวกับตน ส่วนใหญ่ไม่ใช่ข้อกฎหมาย แต่เป็นข้อเท็จจริง เมื่อถามว่า มีประเด็นอะไรที่สุ่มเสี่ยงจะขัดต่อรัฐธรรมนูญตามที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติมาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่เห็น และถ้าเห็นตนจะไปบอกพวกคุณทำไม เดี๋ยวพวกคุณก็ไปบอกฝ่ายค้าน


กำลังโหลดความคิดเห็น