xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนการเล่น AIS Fibre ใช้เทคโนโลยียกระดับอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การแข่งขันในอุตสาหกรรมบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตประเทศไทยได้มีการยกระดับแบบก้าวกระโดดจนขึ้นมาติดกลุ่มประเทศผู้นำในการให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูงผ่านโครงข่ายไฟเบอร์ออปติก

แน่นอนว่าผู้เล่นสำคัญที่ทำให้ตลาดนี้เกิดการแข่งขันอย่างดุเดือดและแข่งกันพัฒนาบริการต่างๆ ออกมาคงหนีไม่พ้น 'AIS Fibre' ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่เกิดมาในยุคของไฟเบอร์ออปติก และเข้ามาชิงส่วนแบ่งในตลาดบรอดแบนด์ที่มีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท

แม้ว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์จะมีอัตราการเติบโตที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเติบโต 15.9% ในปี 2016 ลดลงมาเป็นเติบโต 13.7%, 11.9%, 10% และในปีนี้ลดลงเหลือราว 8.9% นั่นแสดงให้เห็นว่าตลาดเริ่มอิ่มตัวมากขึ้นทำให้การแข่งขันในตลาดนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการแย่งชิงลูกค้าย้ายค่ายมากกว่าลูกค้าที่เพิ่งเริ่มสมัครใช้งาน

เห็นได้จากการที่ AIS Fibre สามารถสร้างการเติบโตที่สูงกว่าตลาดได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำธุรกิจไฟเบอร์อินเทอร์เน็ต และคาดว่าจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตที่เหนือกว่าตลาดได้ต่อเนื่องในปีนี้ ภายใต้เป้าหมายในการขึ้นเป็นเบอร์ 3 ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในประเทศไทย จากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่งตลาดราว 12% ซึ่งการที่จะขึ้นเป็นเบอร์ 3 นั้น AIS Fibre ต้องการส่วนแบ่งตลาดที่ราว 14% ทำให้เป้าหมายนี้อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว

เมื่อเห็นโอกาส จากการที่ปัจจุบัน AIS Fibre ให้บริการครอบคลุม 77 จังหวัด หรือคิดเป็น 53.9% ของครัวเรือนทั่วประเทศ ทำให้ในปีหน้าจะเริ่มขยายการให้บริการไปสู่อำเภอรอบนอกมากยิ่งขึ้น


กิตติ งามเจตนรมย์ หัวหน้าฝ่ายงานบริหารธุรกิจฟิกซ์บรอดแบนด์ บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เผยถึงกลยุทธ์สำคัญที่จะนำมาใช้ในปี 2021 เพื่อที่จะก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 3 ในตลาดไฟเบอร์ และลดช่องว่างจากผู้นำทั้ง 2 รายที่มีส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกันคือการนำข้อมูล (Data) มาใช้งาน

'การที่ AIS มีข้อมูลการใช้งานโมบายดาต้าของผู้ใช้งานทั่วประเทศ พร้อมกับข้อมูลความสนใจสมัครใช้งานของผู้บริโภคมาวิเคราะห์ จะทำให้เห็นพื้นที่ที่มีความต้องการในการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ การขยายพื้นที่ให้บริการในปีหน้า จึงเน้นการเข้าไปให้บริการที่ตรงจุดมากยิ่งขึ้น'

ขณะเดียวกัน ด้วยการที่ก่อนหน้านี้จุดให้บริการและช่องทางจัดจำหน่ายที่จะเข้าถึงผู้บริโภคของ AIS จะเน้นที่ศูนย์บริการและร้านเทเลวิซเป็นหลัก เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้บริโภคเข้าถึงมากขึ้น จึงได้เข้าไปร่วมกับพันธมิตรเพื่อเพิ่มช่องทางให้ครอบคลุมมากขึ้น

ปัจจุบัน นอกเหนือจากศูนย์บริการของ AIS และเทเลวิซแล้ว ผู้บริโภคสามารถเข้าไปสอบถามถึงการติดตั้งใช้งาน AIS Fibre ได้จากทีจีโฟน เจมาร์ท บิ๊กซี พาวเวอร์บาย พาวเวอร์มอลล์ ไอสตูดิโอ ดอทไลฟ์ แฟมิลี่มาร์ท บิ๊กซีมินิ จนถึงท็อปเดลี่ ได้อีกด้วย

อีกหนึ่งความภูมิใจของ AIS Fibre คือการที่เข้าไปร่วมกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในพื้นที่แต่ละท้องถิ่นอย่างไปรษณีย์ไทย ที่มีบุรุษไปรษณีย์กว่า 18,000 คนในการรับสมัครติดตั้ง AIS Fibre ซึ่งกลายเป็นจุดรับสมัครที่ได้รับการติดต่อเข้ามาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

***โควิด-19 ส่งผลลูกค้าพฤติกรรมเปลี่ยน


สำหรับภาพรวมการให้บริการ AIS Fibre ในปีนี้แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้านที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ปริมาณการใช้งานเน็ตบ้านในบริเวณรอบตัวเมืองนั้นเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมที่จะมีบางส่วนใช้งานหลักๆ ในช่วงสุดสัปดาห์มากกว่าเมื่อเทียบกับวันธรรมดา เนื่องจากในช่วงวันทำงานอาจมีการพักอาศัยอยู่ในเมืองเป็นหลัก

แต่กลายเป็นว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นการใช้งานในช่วงเวลาทำงานมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการกระจายตัวการใช้งานสู่ต่างจังหวัดส่งผลให้ปริมาณการใช้งานเฉลี่ยของเน็ตบ้านเพิ่มสูงขึ้น 20-30%

ทั้งนี้ ปริมาณการใช้งานเน็ตบ้านที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานจากที่บ้านและเรียนจากที่บ้านเป็นหลัก โดยเฉพาะการใช้งานโปรแกรมเกี่ยวกับการประชุมสนทนาทางไกล บริการสตรีมมิ่งต่างๆ จากการใช้งานในแง่ของความบันเทิง จนถึงการทำอาชีพเสริมอย่างการไลฟ์ขายของผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ

เช่นเดียวกับในส่วนของอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ที่พบว่ามีการนำโน้ตบุ๊ก และแท็บเล็ตมาใช้งานในบ้านเพิ่มมากขึ้น รวมถึง สมาร์ททีวี ที่ทำให้เห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

'จากเดิมลูกค้าที่ใช้งานเมื่อกลับถึงบ้านจะใช้งานไวไฟบนสมาร์ทโฟนต่อเนื่อง แต่หลังจากโควิด-19 ทำให้เห็นว่าผู้บริโภคหันมาใช้งานสมาร์ททีวี หรือกล่องทีวีต่างๆ เพื่อรับชมคอนเทนต์มากยิ่งขึ้น'

อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ในช่วงไตรมาส 2 ต่อเนื่องไตรมาส 3 พบว่า ลูกค้าที่ใช้งานเน็ตบ้านมีการปรับลดการใช้งานอินเทอร์เน็ตลง พร้อมกับการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงขึ้นทำให้ค่าบริการต่อรายต่อเดือนลดลงมาอยู่ที่ราว 490 บาทและมีโอกาสปรับลดลงอีกในอนาคต

โดยปัจจุบันแพกเกจใช้งานเน็ตบ้านพื้นฐานในไทย ได้ก้าวเข้าสู่ยุคของ 1 Gbps เรียบร้อยแล้วและคาดว่าจะอยู่ในระดับความเร็วเช่นนี้ต่อไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า เพื่อรอให้สมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ รองรับการเชื่อมต่อได้เร็วกว่านี้จากที่ปัจจุบันอุปกรณ์เชื่อมต่อไวไฟในท้องตลาดยังรองรับความเร็วในการเชื่อมต่อราว 600 Mbps เท่านั้น

***ผู้นำนวัตกรรมเน็ตบ้าน 'คิดนำ ทำก่อน'


ด้วยการที่ AIS Fibre แบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็น 4 ส่วนตามรูปแบบการใช้งานประกอบไปด้วย 1.Convenience Seeker กลุ่มผู้บริโภคที่แสวงหาความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตเน้นการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ง่ายและสะดวกที่สุด 2.High Speed with Affordable Price กลุ่มต้องการเน็ตความเร็วสูงในระดับราคาที่เข้าถึงได้

3.New Technology Preference กลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ และ 4.Service Quality Needed ผู้บริโภคเน้นคุณภาพงานบริการที่ดีตั้งแต่การติดตั้งจนถึงบริการหลังการขาย

จึงเป็นที่มาของกลยุทธ์ที่ AIS Fibre เลือกนำมาใช้งานในปีนี้ คือ 'เร็วกว่า ดีกว่า ง่ายกว่า' ซึ่งการที่จะให้บริการได้ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายภายในทีมงาน AIS Fibre จึงได้นำแนวคิดอย่าง 'คิดนำ ทำก่อน' เข้ามาช่วยเสริมให้การบริการเข้าถึงลูกค้าได้ดีขึ้น

ที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โดยเฉพาะในกลุ่มของเน็ตบ้านนั้นเกิดขึ้นเร็วมาก ทำให้ AIS Fibre ต้องมีการนำกลยุทธ์ 'เร็วกว่า' ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำออกสู่ตลาดอยู่เสมอ เริ่มตั้งแต่การทำแพกเกจ eSports ที่แยกเราเตอร์สำหรับเล่นเกมออกจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ประสบการณ์เล่นเกมของลูกค้าดีที่สุด

ตามด้วยการนำเสนออุปกรณ์อย่าง Wi-Fi 6 Upgrade Kit ให้ลูกค้าที่ต้องการใช้งานเราเตอร์กระจายสัญญาณคุณภาพสูง สามารถนำไปติดตั้งใช้งานได้จนถึงการเปลี่ยนเราเตอร์มาตรฐานให้รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi 6 และการใช้งานในลักษณะของ Mesh Wi-Fi

นอกจากนี้ AIS Fibre ยังเห็นถึงกลุ่มผู้ใช้งานที่มีความเชี่ยวชาญและต้องการเลือกใช้เราเตอร์ที่ดีที่สุด จึงได้ออกแพกเกจอย่าง BYOD ให้นำเราเตอร์ส่วนตัวมาใช้งานร่วมกับ AIS Fibre ได้ทันทีอีกด้วย

ต่อมาคือ 'ดีกว่า' อย่างการนำเสนอ Mesh Wi-Fi ให้ลูกค้าสมัครใช้งานเพิ่มจุดละ 100 บาททำให้การใช้งานครอบคลุมมากยิ่งขึ้นการทำงานร่วมกับผู้ผลิตเราเตอร์อย่างหัวเว่ย ในการพัฒนาเราเตอร์ที่สามารถใช้งาน Wi-Fi ความเร็ว 1 Gbps และการพัฒนาทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญอย่าง AIS Fibre Guru ที่มีแผนจะขยายให้ครอบคลุมหัวเมืองใหม่ทุกภูมิภาคในปี 2021

สุดท้ายคือ 'ง่ายกว่า' ที่เปิดประสบการณ์ให้ผู้ใช้เน็ตบ้านสามารถเลือกปรับความเร็วเน็ตตามความต้องการ (Speed Toggle) ทำให้สามารถเลือกได้ว่าจะเน้นการดาวน์โหลด หรืออัปโหลดตามด้วยการนำบริการเน็ตบ้านมาเชื่อมต่อกับAIS Fibre LINE Connect ช่วยดูแลลูกค้าเพิ่มเติม

นอกจากนี้ AIS ยังได้เตรียมเพิ่มรูปแบบการให้บริการหลังการขายในการดูแลประสบการณ์ใช้งานลูกค้าแบบ ProActive เข้ามาใช้งานเป็นรายแรกในอุตสาหกรรมด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้สามารถมอนิเตอร์การใช้งานของลูกค้ารายคนเพื่อตรวจสอบคุณภาพการใช้งานต่างๆ ให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ

***เตรียมลุย 5G FWA


อีกหนึ่งความได้เปรียบของ AIS Fibre คือการที่ปัจจุบัน AIS เป็นโอเปอเรเตอร์ที่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการมากที่สุดทำให้มีโอกาสที่จะนำ 5G มาให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูง ในลักษณะของ 5G Fixed Wireless Access ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงของการทดสอบให้บริการ

เมื่อนำไปใช้งานร่วมกับเครือข่าย AIS 5G ที่รองรับการทำ Network Slicing จะช่วยให้ประสบการณ์ใช้งานเครือข่าย AIS 5G ทั้งการใช้งานในลักษณะของโมบายอินเทอร์เน็ต และ 5G FWA ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และมีโอกาสที่ AIS Fibre จะเริ่มเปิดให้บริการในปี 2021 อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น