“พุทธิพงษ์” เผยภารกิจแรก เอ็นทีรวมธุรกิจโมบาย-บรอดแบนด์ เป็นแบรนด์เดียวกัน เน้นทำตลาดภาครัฐ-ขายพ่วงกับบริการบรอดแบนด์ มั่นใจศักยภาพแข่งเอกชนได้
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ภารกิจแรกหลังควบรวมบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที คือ การรวมแบรนด์การให้บริการโทรศัพท์มือถือและการให้บริการบรอดแบนด์เป็นแบรนด์เดียวกัน ซึ่งจะทำให้เอ็นทีมีศักยภาพในการให้บริการประชาชนเทียบเท่ากับผู้ให้บริการเอกชน
เนื่องจากเอ็นทีมีคลื่นรวมกันหลายคลื่น และยังมีความสามารถในการรองรับการใช้งานอีกจำนวนมาก โดยคลื่น 2100 MHz ที่เหลือคาปาซิตี 30% และคลื่น 2300 MHz เหลือคาปาซิตี 40% จะมารวมกับคลื่น 850 MHz ของ กสท โทรคมนาคม ที่มีคาปาซิตีเหลืออยู่ 30% สามารถรองรับได้ 10 ล้านเลขหมาย โดยการทำตลาดเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าภาครัฐ หรืออาจจะเสนอแพกเกจพ่วงกับบริการบรอดแบนด์
ทั้งนี้ ปัจจุบันลูกค้าทีโอที โมบาย มีอยู่ 1.8 แสนเลขหมาย ส่วนมาย บาย แคท อยู่ที่ 2.5 ล้านเลขหมาย เมื่อมีการรวมเป็นแบรนด์เดียวกัน แม้ว่าลูกค้าจะถือซิมของใครก็ตาม ระบบจะโรมมิ่งเข้าหากันและจะสามารถใช้งานได้ตามปกติ ส่วนลูกค้าบรอดแบนด์ปัจจุบัน ทีโอทีมีลูกค้า 1.5 ล้านราย ขณะที่ กสท โทรคมนาคม มีอยู่ 2-3 แสนราย
ภาพในอนาคตของเอ็นทีหลังจากควบรวมแล้ว จะถือเป็นบริษัทที่มีโครงสร้างพื้นฐานครบวงจรมากที่สุด บริษัทจะมีมูลค่าสินทรัพย์มากถึง 300,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.เสาโทรคมนาคมรวมกันกว่า 25,000 ต้นทั่วประเทศ 2.เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ (ซับ มารีน) 9 ระบบ 14 POP เชื่อมต่อไปยังทุกทวีป 3.ถือครองคลื่นความถี่หลักเพื่อให้บริการรวม 6 ย่าน มีปริมาณ 600 MHz 4.ท่อร้อยสายใต้ดินมีระยะทางรวม 4,000 กิโลเมตร 5.สายเคเบิลใยแก้วนำแสง 4 ล้านคอร์กิโลเมตร 6.ดาต้า เซ็นเตอร์ 13 แห่งกระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และ 7.ระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่เข้าถึงได้จากทุกเลขหมายในโลก