xs
xsm
sm
md
lg

ซัมซุงลุย Rugged Device ใช้ในบ้าน ดันมือถือ-แท็บเล็ตพันธุ์อึดขายไทยโตเท่าตัวปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดร.มารุต มณีสถิตย์
ซัมซุง (Samsung) มั่นใจตลาด Rugged Device โตแรง ตั้งเป้าเพิ่มยอดขายแท็บเล็ต-สมาร์ทโฟนทนทานแบบโตเท่าตัวในปี 2021 พบกว่า 44% ขององค์กรในไทยมีการใช้งาน Rugged Device อยู่แล้วแต่โควิด-19 จะมีส่วนผลักดันความต้องการให้เพิ่มขึ้นอีก เตรียมลุยธุรกิจด้านสุขภาพบนจุดแข็งเรื่องอุปกรณ์เช็ดแอลกอฮอล์ได้ เล็งวางแผนขยายสู่ตลาดโฮมยูสให้เป็นทางเลือกสำหรับพ่อแม่ที่ต้องการเครื่องที่สมบุกสมบันยิ่งขึ้น ปัดไม่เล่นสงครามราคาแต่จะเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพโซลูชันให้เครื่องราคาไม่ตกและใช้ได้นาน

ดร.มารุต มณีสถิตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวถึงกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กรปี 2021 ว่าแนวโน้มที่สำคัญสำหรับองค์กรในปี 2021 คือองค์กรกำลังมองหาเทคโนโลยีที่มีความเฉพาะเจาะจงกับรูปแบบงานของตัวเองมากขึ้น ซัมซุงจึงวางแผนปลุกปั้นตลาด Rugged Device หรืออุปกรณ์ที่มีความทนทาน ซึ่งถูกพัฒนามาเพื่อการทำงานในรูปแบบใหม่ของกลุ่มลูกค้าองค์กรโดยเฉพาะ โดยตั้งเป้าเพิ่มยอดขายของอุปกรณ์ในกลุ่มนี้เป็นเท่าตัวในปีหน้า

“ปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดเติบโตมี 4 ส่วน ส่วนแรกคือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เช่น สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้มีความต้องการอุปกรณ์ในตลาดองค์กรมากขึ้น ส่วนที่ 2 คือความต้องการเฉพาะในแต่ละอุตสาหกรรมซึ่งก่อนนี้ธุรกิจจำเป็นต้องลงทุนซื้อเครื่องใหม่เมื่อเครื่องเก่าเสีย แต่ตอนนี้สามารถเลือกใช้เครื่องที่ทนทานขึ้น ทำให้มีความต้องการสูงขึ้น ส่วนที่ 3 คือตลาดโฮมยูส ตลาดที่ไม่คิดว่ามีแต่ก็มีแฝงอยู่ เช่น กลุ่มเด็กหรือนักเรียนที่เสี่ยงกับการทำโทรศัพท์แตก และส่วนที่ 4 คือการทหาร ซึ่งสามารถใช้อุปกรณ์ในการเข้าพื้นที่ปฏิบัติการได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

แท็บเล็ตอึดทนตระกูล Galaxy Tab Active
ผู้บริหารซัมซุงย้ำว่า หลายอุตสาหกรรมไทยมีความต้องการ Rugged Device เพิ่มขึ้นสูงมากในปีนี้ ซึ่งแม้พิษเศรษฐกิจจะทำให้องค์กรลงทุนไอทีไม่มาก แต่หลายองค์กรกลับลงทุนซื้ออุปกรณ์โมบายสูงในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เช่น กลุ่มผู้ผลิตที่ต้องการใช้อุปกรณ์ในภาวะอากาศร้อนจัด มีการสั่นสะเทือน หรือฝนตก เพื่อให้พนักงานสามารถใช้เครื่องเป็นระบบเซ็นรับสินค้าได้สะดวก ซึ่งตัวอุปกรณ์สามารถนำโซลูชันธุรกิจมาติดตั้งเพิ่มเติม เพื่อทำงานคู่กับระบบน็อกซ์ (Knox) คลาวด์เซอร์วิสของซัมซุงที่องค์กรสามารถตั้งค่านโยบายในการใช้อุปกรณ์จากระยะไกลได้

การสำรวจจากซัมซุงสำนักงานใหญ่พบว่า ตลาด Rugged Device ไทยมีแนวโน้มเพิ่มมูลค่าเป็น 73 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 (ราว 2,191 ล้านบาท) สำหรับตลาดโลกการสำรวจพบว่าตลาดนี้มีแนวโน้มเติบโต 5-10% ในปีหน้า เพิ่มขึ้นจาก 5.42 พันล้านเหรียญเป็น 5.64 พันล้านเหรียญ โดยในจำนวนนี้ ราว 4.28 ล้านเหรียญอาจเป็นรายได้จากตลาดองค์กร ขณะที่ 1.36 ล้านเหรียญเป็นรายได้จากการใช้งานในผู้บริโภค ตอกย้ำเหตุผลที่ทำให้ซัมซุงวางแผนขยายสู่ตลาดโฮมยูส ให้เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการใช้งานเครื่องที่สมบุกสมบันยิ่งขึ้นในปีหน้า

ตลาด Rugged Device ไทยมีแนวโน้มเพิ่มมูลค่าเป็น 73 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 (ราว 2,191 ล้านบาท)
ปัจจุบัน สินค้ากลุ่มนี้ของซัมซุงประกอบด้วย สมาร์ทโฟน 2 รุ่น คือ Galaxy XCover4 และ Galaxy XCover Pro (ราคาเริ่มต้น 16,900 บาท) แท็บเล็ตมี 2 รุ่น คือ Galaxy Tab Active3 และ Galaxy Tab Active Pro (ราคาเริ่ม 21,900 บาท) คุณสมบัติพื้นฐานที่โดดเด่นคือความทนทานต่อการกระแทก การตกจากที่สูง การกันน้ำและกันฝุ่นในระดับสูง จึงสามารถเช็ดล้างทำความสะอาดได้ และยังสามารถใช้งานได้แม้หน้าจอเปียก หรือในขณะสวมถุงมือ ทั้งหมดนี้ซัมซุงวางจุดขายหลักคู่กับเรื่องต้นทุนการเป็นเจ้าของที่ต่ำกว่า เพราะสามารถใช้งานได้นาน และยังป้องกันไม่ให้อุปกรณ์ถูกนำไปเล่นเกมหรือติดไวรัส ซึ่งล้วนเป็นการลดต้นทุนทางธุรกิจที่จับต้องได้

ซัมซุงมองว่าตลาด Rugged Device จะไม่แทนที่อุปกรณ์สื่อสารกลุ่มวอล์กกี้ทอล์กกี้ดั้งเดิม เพราะอุปกรณ์กลุ่มนี้จะเป็นส่วนเสริมในส่วนงานที่ต้องการใช้สื่อสารผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องการการประชุมวิดีโอ เบื้องต้น บริษัทเน้นการรองรับเทคโนโลยีใหม่อย่าง WiFi 6 มากกว่า 5G เพราะการสื่อสารเชิงธุรกิจนั้นสามารถทำบนเครือข่ายความเร็ว 4G ได้เพียงพอ ซึ่งระยะแรก ซัมซุงจะโฟกัสที่อุปกรณ์มือถือและแท็บเล็ต สำหรับคอมพิวเตอร์พกพายังอยู่ระหว่างการพัฒนา

4 สินค้ากลุ่ม Rugged Device ของซัมซุง
สินค้าทั้ง 4 รุ่นทำให้ซัมซุงเป็นคู่แข่งโดยตรงกับผู้เล่นในตลาด Rugged Device รายใหญ่อย่างโมโตโรลา และพานาโซนิค แต่แม้จะประกาศพร้อมเปิดตลาดเต็มที่ในปี 2021 แต่ผู้บริหารย้ำว่าจะไม่มีการทำสงครามราคา โดยเฉพาะไม่มีการตั้งราคาสูงเพื่อลดราคาจำหน่าย แต่จะเน้นแข่งขันที่ประสิทธิภาพของโซลูชัน โดยยืนยันว่าสินค้ากลุ่มนี้จะราคาไม่ตกและสามารถใช้ได้นาน ขณะเดียวกัน ซัมซุงจะเน้นร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจทั้งส่วนการพัฒนาระบบปฏิบัติการและฮาร์ดแวร์ เช่น Google, Microsoft, VM Ware เป็นต้น เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มที่มีความสมบูรณ์สำหรับองค์กร รวมถึงคู่ค้าในประเทศไทย 4-5 ราย คาดว่าปีหน้าจะมีการพัฒนาโซลูชันธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มการดูแลผู้สูงอายุ โดยมีแผนจะเชื่อมอุปกรณ์เข้ากับเครื่องมือแพทย์เพื่อตรวจสัญญาณชีพของผู้สูงวัย

“การเปิดตลาด Rugged Device ในไทยช่วงเริ่มต้นคือปี 2018-2019 นั้นเน้นที่อุตสาหกรรมเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับปีหน้าบริษัทมีแผนจะขยายไปนอกกรุงเทพฯ เราต้องการขยายตลาดผ่านพันธมิตรธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพ แต่ไม่เพิ่มจำนวน”

ผู้บริหารซัมซุงเผยว่าสินค้ากลุ่ม Rugged Device มียอดขาย 10 ล้านเครื่องทั่วโลกแล้ว สำหรับไทยนั้นเพิ่งเริ่มต้นในปี 2018 อัตราเติบโต 97% ปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวได้ในปีหน้า

ตลาด Rugged Device ไทยมีแนวโน้มเพิ่มมูลค่าเป็น 73 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 (ราว 2,191 ล้านบาท)

สมาร์ทโฟนสุดแกร่งของซัมซุง ราคาเริ่มต้น 16,900 บาท
ตัวอย่างเคสในประเทศไทยที่ใช้งาน Rugged Device เป็นหนึ่งในโซลูชันทางธุรกิจ เช่น ASIA CAB ผู้ให้บริการแท็กซี่ระดับ VIP มาตรฐานเดียวกับลอนดอนที่มาพร้อมเทคโนโลยีทันสมัย โครงการพัฒนาหุ่นยนต์และอุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์ CU-RoboCOVID ซึ่งดำเนินงานโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แบ่งเบาภาระงาน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้บุคลากรทางการแพทย์ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

Rugged Device ถือเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ B2B ของซัมซุง ในภาพรวม ธุรกิจลูกค้าองค์กรของซัมซุงมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 42% ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้น (Entry) ที่โตขึ้น 5 เท่า และสมาร์ทโฟนระดับบน (High) เติบโตขึ้น 2 เท่า โดย 70% เป็นการขายส่งเครื่องให้องค์กรนำไปส่งต่อพนักงานแบบล็อตใหญ่ ขณะที่อีก 30% เป็นยอดขายจากพันธมิตรกลุ่มไมโครไฟแนนซ์ ซึ่งซัมซุงร่วมมือกับพันธมิตรในไทย 3 รายให้บริการผ่อนซื้อเครื่องระยะยาว


กำลังโหลดความคิดเห็น