xs
xsm
sm
md
lg

NTT ยกระดับดาต้าเซ็นเตอร์ รุก EEC

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สุทัศน์ คงดำรงเกียรติ
เอ็นทีที ประกาศยุทธศาสตร์การให้บริการศูนย์ข้อมูล 'Bangkok 2 Data Center' จ.ชลบุรี ยกระดับการเป็นศูนย์กลางพร้อมให้บริการในพื้นที่อีอีซี

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กำลังถูกจับตามองจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เมื่อโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูง สนามบิน เทคโนโลยี 5G รวมถึงการทรานฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัล ทำให้ธุรกิจดิจิทัล หรือ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเติบโตไปด้วย ข้อมูลดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล ส่งผลให้ธุรกิจดาต้า เซ็นเตอร์ เติบโตอย่างก้าวกระโดดเช่นกัน

เมื่อโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเข้ามาในพื้นที่อีอีซี จะช่วยกระตุ้นให้มีคนเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ความต้องการใช้งานด้านดิจิทัลต่างๆ จะตามมา โครงการสร้างสมาร์ท ซิตี โรงพยาบาลอัจฉริยะ โรงงาน 4.0 การนำ เอไอ หรือโรโบติก ตลอดจนกล้องซีซีทีวี ล้วนต้องใช้พื้นที่ในการเก็บข้อมูลมหาศาล เอ็นทีที จึงต้องเตรียมพร้อมในการยกระดับดาต้า เซ็นเตอร์ ในพื้นที่นิคมุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี ให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อทั้งในกรุงเทพฯ และ 3 จังหวัดในอีอีซี คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา


'สุทัศน์ คงดำรงเกียรติ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นทีที จำกัด ประจำประเทศไทย กัมพูชา พม่า และลาว กล่าวว่า ความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการเอาต์ซอร์สด้านไอซีทีในอุตสาหกรรมกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการใช้บริการศูนย์ข้อมูลที่เชื่อมต่อระหว่างกันในขั้นสูงและการบริหารจัดการที่ครบวงจรเพิ่มสูงขึ้น

เอ็นทีทีจึงได้วางแผนยกระดับการให้บริการศูนย์ข้อมูล Bangkok 2 Data Center ที่จังหวัดชลบุรี ให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อข้อมูลในระดับประเทศ ซึ่งพร้อมให้บริการลูกค้าในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการคลาวด์ และผู้ให้บริการด้านคอนเทนต์ รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยที่ปัจจุบันลูกค้า 70% เป็นกลุ่มสถาบันการเงิน และ 30% เป็นผู้ให้บริการคลาวด์

Bangkok 2 Data Center ตั้งอยู่บนพื้นที่ 5 ไร่ ลงทุน 4 เฟส ด้วยเงินลงทุนประมาณ 1,700 ล้านบาท ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้สร้างพื้นที่การให้บริการในเฟส 3 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในรูปแบบ high density data center ด้วยพื้นที่ขนาด 1,200 ตารางเมตร กำลังไฟฟ้า 2,000 กิโลวัตต์ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการครบวงจรใน Bangkok 2 Data Center ซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางของอีอีซี และได้เตรียมวางแผนขึ้นเฟส 4 ภายในปีหน้า คาดว่าจะให้บริการได้ภายในปี 2565


ทั้งนี้ Bangkok 2 Data Center ได้รับมาตรฐานบริการและความปลอดภัยในระดับสากล รวมถึงผ่านการรับรองมาตรฐานการจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล (ISO 27001) มาตรฐานสำหรับศูนย์ข้อมูลเพื่อความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศจากการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ (PCI DSS) และ รายงานผลการรับรองเกี่ยวกับการควบคุมการให้บริการในองค์กร (SOC) ทำให้มั่นใจได้ถึงศักยภาพที่พร้อมรองรับการเชื่อมต่อเครือข่ายและข้อมูลขนาดใหญ่ขององค์กรธุรกิจ

ดังนั้น เอ็นทีทีจึงพร้อมผลักดันธุรกิจสู่การสื่อสารแบบไร้รอยต่อ ทั้งยังช่วยให้ลูกค้าสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการบริหารจัดการโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายในทุกอุตสาหกรรม ที่มาพร้อมกับนวัตกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งอุปกรณ์ทำความเย็นประสิทธิภาพสูง สามารถรองรับกำลังไฟฟ้าต่อหนึ่งตู้แร็กได้สูงถึง 20 กิโลวัตต์หรือมากกว่า เช่น เครื่องเซิร์ฟเวอร์สำหรับประมวลผลด้านกราฟิก (Graphics Processing Unit : GPU) ด้วยระบบไฟฟ้าสำรองจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบ 2N ในรูปแบบ Active-Active ซึ่งสามารถรับประกันการจ่ายไฟฟ้า SLA 100% พร้อมทั้งเปิดกว้างในการเชื่อมต่อผู้ให้บริการเครือข่ายทุกรายได้อย่างเสรี (Carrier-neutral) เป็นต้น

***ต่อยอดคลาวด์ขนาดย่อมให้บริการครอบคลุมพื้นที่

Bangkok 2 Data Center จ.ชลบุรี ยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับ Bangkok 1 Data Center ที่กรุงเทพฯ ด้วย ทำให้การบริการของลูกค้าสะดวกขึ้น นอกจากนี้ เอ็นทีทียังได้วางแผนตั้งศูนย์ข้อมูลขนาดย่อยในรูปแบบ Edge Data Center โดยติดตั้ง Network Node เพื่อทำการเชื่อมต่อข้อมูลกับ Bangkok 2 Data Center เพื่อรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในเขตพื้นที่อีอีซี ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่ง Edge Data Center จะเพิ่มความสะดวกในการเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีและบนเครือข่ายได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงสุด


เนื่องจากอนาคตไม่มีความจำเป็นต้องสร้าง ดาต้า เซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ทุกแห่ง ดังนั้น เพื่อต้องการให้การเชื่อมต่อดาต้า เซ็นเตอร์ครอบคลุมทั่วพื้นที่อีอีซี จึงจำเป็นต้องมีดาต้า เซ็นเตอร์ขนาดย่อมในการเชื่อมต่อกับดาต้า เซ็นเตอร์ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญและเหมาะสมในการสร้างดาต้า เซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นการตอบโจทย์เรื่องการกระจายความเสี่ยงของดาต้า เซ็นเตอร์ ซึ่งการมีดาต้า เซ็นเตอร์ 2 พื้นที่ คือ ดาต้า เซ็นเตอร์หลัก และดาต้า เซ็นเตอร์ สำรอง ไม่เพียงพออีกต่อไป จึงควรมีดาต้า เซ็นเตอร์กระจายออกไปยัง 3 พื้นที่

***อนาคตดาต้า เซ็นเตอร์ คู่แข่งคือพันธมิตร

สำหรับภาพรวมของการใช้คลาวด์ในประเทศไทย พบว่ามีการเติบโตอย่างมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตลาดในประเทศไทยเป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างน่าสนใจ ณ เวลานี้ผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ๆ อาจจะเริ่มเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วยการเช่าใช้ดาต้า เซ็นเตอร์ ของผู้ให้บริการในประเทศไทยก่อน

แต่หากภายใน 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจในพื้นที่อีอีซีน่าสนใจและมีแนวโน้มว่าลูกค้าจะเติบโตได้ดี ก็มีความเป็นไปได้ว่าผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่อาจจะเข้ามาลงทุนสร้างดาต้า เซ็นเตอร์เอง ซึ่งเอ็นทีที ก็ไม่ได้มองว่าเป็นคู่แข่งแต่อย่างใด เพราะเอ็นทีทีก็ยังเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกให้แก่ดาต้า เซ็นเตอร์


ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ให้บริการดาต้า เซ็นเตอร์ ในพื้นที่อีอีซี อยู่ 3 ราย คือ เอ็นทีที ซุปเปอร์ แนป และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ซึ่งเอไอเอสเองก็ไม่ใช่คู่แข่งโดยตรงของเอ็นทีที เพราะเชื่อว่าเป็นการสร้างดาต้า เซ็นเตอร์ เพื่อรองรับลูกค้า 5G ในพื้นที่อีอีซีมากกว่า ยังไม่นับรวมถึง หัวเว่ย ที่คาดว่ามีแผนจะลงทุนสร้างดาต้า เซ็นเตอร์ในอีอีซี ด้วยเงินลงทุน 700 ล้านบาท ภายในปีหน้า ที่คาดว่าน่าจะเข้ามาเป็นพันธมิตรกันได้

หากพูดถึงเทคโนโลยี 5G จะมาช่วยกระตุ้นให้ดาต้า เซ็นเตอร์ เติบโตหรือไม่นั้น เอ็นทีที มองว่า ผู้ให้บริการ 5G เองก็น่าจะลงทุนดาต้า เซ็นเตอร์ เพื่อให้บริการลูกค้าของตนเอง เพราะหากเป็นการใช้งานประมวลผลเซ็นเซอร์จาก IoT ไม่จำเป็นต้องมีดาต้า เซ็นเตอร์ในพื้นที่อีอีซีก็ได้ เพราะไม่ได้ต้องการความหน่วงต่ำ แต่หากต้องการใช้เพื่อทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดทางไกล ที่ต้องการความหน่วงต่ำ จำเป็นต้องมีดาต้า เซ็นเตอร์ ใกล้กับการใช้งาน

'เมื่อมองภาพอนาคตไว้อย่างนี้ เอ็นทีที จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ที่สำคัญคือการสร้างดาต้า เซ็นเตอร์ ต้องสร้างให้ได้มาตรฐานระดับโลก สามารถเชื่อมต่อกับดาต้า เซ็นเตอร์ ของเอ็นทีทีในประเทศต่างๆ มากกว่า 30 แห่งทั่วโลกด้วยมาตรฐานเดียวกันได้'


กำลังโหลดความคิดเห็น