แคสเปอร์สกี้จุดประเด็นให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญเรื่องการยกระดับความรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ย้ำวันนี้ภัยโจมตีพัฒนาร้ายกาจจนเกิดความจำเป็นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดต้องมีข้อมูลรู้เท่าทัน เผยสถิติประเทศอาเซียนทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันได้ดีช่วงการล็อกดาวน์โควิด-19 แนะอย่าเชื่อทุกสิ่งบนออนไลน์ง่ายเกินและต้องป้องกันรอบด้านก่อนจะสายเกินแก้
นายโยว เซียง เทียง ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงภัยคุกคาม APT ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าช่วงครึ่งปีแรก แคสเปอร์สกี้พบกระแสภัยคุกคามต่อเนื่องขั้นสูง หรือ Advanced Persistent Threats ทำให้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลไซเบอร์ซิเคียวริตีอัจฉริยะมีความจำเป็นต่อธุรกิจและหลายหน่วยงานมากขึ้น เพราะกลุ่ม APT เหล่านี้มีวิธีการโจมตีที่แอบแฝงและแทรกซึมแบบแนบเนียน มาตรการความปลอดภัยจึงต้องก้าวล้ำกว่าแอนติไวรัสและไฟร์วอลล์ปกติ
แคสเปอร์สกี้ชี้ว่าโควิด-19 ทำให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของชาวอาเซียนมีปริมาณมากขึ้น ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งขึ้นตามไปด้วย โดยผลสำรวจล่าสุดพบว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่สามารถดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล หรือดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันได้ดีในช่วงเวลาล็อกดาวน์ เพราะจากผู้ตอบแบบสอบถาม 760 คนในภูมิภาคอาเซียน เกือบ 8 ใน 10 ทำงานจากที่บ้าน ทำให้เวลาการท่องเว็บต่อวันของผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น 2-5 ชั่วโมง โดยเฉลี่ยสูงสุดคือ 8 ชั่วโมง
ในแง่ของการเงิน 47% ของกลุ่มตัวอย่างมีการเปลี่ยนรูปแบบการชำระเงินและธุรกรรมทางธนาคารทางออนไลน์ ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่มากขึ้น กลายเป็นความจำเป็นที่ทุกฝ่ายในทุกประเทศจะต้องให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยของข้อมูลกับผู้มีส่วนได้เสียทุกคน
“ทุกส่วนในทุกประเทศจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อตระหนักถึงความปลอดภัยของข้อมูลในแบบที่ลึกซึ้งกว่าเดิม ทั้งบริษัท หน่วยงานรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ สถาบันการศึกษา สื่อ และรัฐบาล” อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารยอมรับว่าขณะที่ทุกประเทศกำลังเผชิญต่อความท้าทายทางไซเบอร์ในช่วงการล็อกดาวน์ แต่บางประเทศ เช่น อินโดนีเซียก็ยังไม่มีกฎเกณฑ์เข้มแข็งที่จะควบคุมความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะ ซึ่งการโจมตีทางไซเบอร์ที่พบมีตั้งแต่การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล ไปจนถึงการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของธุรกิจและองค์กรต่างๆ
นายวิทาลี คัมลัก ผู้อำนวยการทีมวิเคราะห์และวิจัยประจำเอเชียแปซิฟิก บริษัท แคสเปอร์สกี้ ให้ข้อมูลภาพรวมและภัยคุกคาม APT ที่โจมตีอาเซียน ย้ำว่า ปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากโดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรคโควิด -19 ทำให้เกิดอาชญากรรมทางไซเบอร์ในระดับสูง กุญแจสำคัญในการป้องกันคือการเฝ้าระวังความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตแบบเข้มข้น และควรทำให้การเฝ้าระวังนั้นเป็นนิสัย ไม่ไว้ใจทุกสิ่งบนออนไลน์ คู่กับการอัปเดตระบบป้องกันภัยไซเบอร์ให้ทันสมัยอยู่เสมอ
สำหรับ Advanced Persistent Threats ที่พบมากขึ้นมีทั้งการโจมตีอุปกรณ์พกพา รวมถึงเทคนิคใหม่บนแพลตฟอร์มใหม่ที่พัฒนาให้การโจมตีทำได้แนบเนียนกว่าเดิม ภัยที่พบนั้นเห็นมากในประเทศไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
ขณะที่คนไทยเริ่มใช้ชีวิตปกติโดยไม่ได้ทำงานหรือเรียนจากบ้าน แคสเปอร์สกี้มองว่าความเสี่ยงทางไซเบอร์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำงานหรือเรียนจากที่บ้านโดยตรง แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการป้องกันการเชื่อมต่อ ซึ่งในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด บริษัทพบว่ามีการโจมตีเครือข่ายเพิ่มขึ้นเนื่องจากอาชญากรไซเบอร์มุ่งเน้นไปที่การกำหนดเป้าหมายผู้ปฏิบัติงานระยะไกลอย่างมาก ดังนั้น ทุกคนจึงควรป้องกันตัวเองด้วยโซลูชันด้านความปลอดภัยที่ดี และการสร้างความรู้ถึงวิธีการป้องกันความเสี่ยงก็ควรมีอยู่เสมอโดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือไม่