xs
xsm
sm
md
lg

ซิสโก้พิชิต “แพทยศาสตร์ มช.” ร่วมมือปั้น 5 โครงการโรงพยาบาลดิจิทัลนำร่องเฟสแรก ก.พ.64

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ซิสโก้ แทรกตัวเป็นพันธมิตรหลักกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนานวัตกรรมโรงพยาบาลดิจิทัลให้บริการสาธารณสุขบนประสบการณ์ดิจิทัลเฮลท์แคร์ (Digital Healthcare Experience) ระบุเป็นความร่วมมือที่สำคัญมากในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ของอาเซียน มั่นใจทั้ง 5 โครงการจะเปลี่ยนแพลตฟอร์มบางอย่างของโรงพยาบาลไปตลอดกาล โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยประคับประคองที่จะมีทางเลือกกลับไปรักษาตัวที่บ้านมากขึ้น ยืนยันซิสโก้เปิดรับพร้อมร่วมมือกับโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยอื่นเพื่อรุกหนักตลาดเฮลท์แคร์ไทยต่อเนื่อง

ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ภายใต้ “โครงการร่วมพัฒนานวัตกรรมด้านสาธารณสุขและเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Med Tech Co-innovation)” ว่าความร่วมมือนี้จะได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ทั้งผู้ป่วย คณะแพทย์ และประเทศที่จะลดช่องว่างการเข้าถึงแพทย์ได้ เชื่อว่าผลจากความร่วมมือจะนำร่องไปสู่การเปลี่ยนแปลงโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ไปสู่ดิจิทัล เชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแพลตฟอร์มบางอย่างของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยขณะนี้เริ่มดำเนินการแล้วในบางส่วนเนื่องจากมีการวางโครงสร้างพื้นฐานไว้ก่อนการเซ็น MOU ครั้งนี้

“ปกติคนไข้ติดเตียงจะไม่อยากกลับบ้าน เพราะกลัวว่าหมอจะทอดทิ้ง แต่ถ้าทำได้ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมั่นใจและรักษาตัวที่บ้านได้ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ศ.นพ.บรรณกิจ ระบุ “เราเริ่มทำไปบางส่วนแล้ว มีการเขียนโครงร่าง เบื้องต้นจะใช้กับกลุ่มผู้ป่วยประคับประคองเป็นส่วนใหญ่ เป็นส่วนช่วยเสริมทำให้คุณภาพการรักษาที่บ้าน และการสื่อสารกับ อสม. มีคุณภาพดีขึ้น สามารถลดความแออัดในโรงพยาบาล และลดความเสี่ยงโควิด-19 ของบุคลากร”

ความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ครั้งนี้มี 2 จุดมุ่งหมายสำคัญ จุดหมายแรกคือการสร้างประสบการณ์ดิจิทัลเฮลท์แคร์ให้แก่ผู้ใช้บริการ และบุคลากรการแพทย์ในรูปแบบโรงพยาบาลดิจิทัล (Digital Hospital User Experience) จุดหมายนี้มีการพัฒนา 2 ระบบคือ ระบบติดตามการจ่ายยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Drug & Medical Equipment Tracking System) ซึ่งจะเป็นระบบจัดสรรข้อมูลด้านโลจิสติกส์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงข้อมูลและติดตามสถานะของยาและเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และสถานบริการเครือข่าย 13 แห่งในแต่ละวันแบบเรียลไทม์ สามารถตรวจสอบสถานะข้อมูลการเดินทางของยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกชิ้นได้อย่างแม่นยำ ทำให้บริหารจัดการงบประมาณ คลังยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกระบบคือ ระบบติดตามสถานะการให้บริการทางการแพทย์ (Medical Service Status Tracking System) ผู้ป่วยสามารถเรียกดูข้อมูลสถานะการให้บริการผ่านระบบเครือข่ายไร้สาย และโมบายแอปพลิเคชันของโรงพยาบาล โดยทราบสถานะการให้บริการ คิวตรวจ รับยา จ่ายเงิน และข้อมูลด้านสุขภาพอื่นๆ รวมถึงการให้คำปรึกษาจากแพทย์ผ่านระบบทางไกล (Tele-consulting) เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล และระบบนำทางในโรงพยาบาลที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเดินทางไปรับบริการที่จุดให้บริการต่างๆ ได้อย่างสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น
 

นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์
จุดหมายที่ 2 คือ การเร่งการพัฒนานวัตกรรม (Innovation Acceleration) เพื่อการพัฒนาสาธารณสุขอย่างยั่งยืน ผ่าน 3 โครงการ 1.โครงการพัฒนาคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค (Tuberculosis Screening Project) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยวัณโรคที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้ดียิ่งขึ้นผ่านระบบการคัดกรองผู้ป่วยโดยการใช้ AI และ Deep Learning ที่มาช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ทรวงอกเบื้องต้น ซึ่งแพทย์สามารถเข้าถึงภาพเอกซเรย์ความละเอียดสูง และขอคำปรึกษาทางไกลในการแปลผลภาพรังสีทรวงอกกับรังสีแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ผ่านระบบ Tele-consulting บนแพลตฟอร์ม Cisco WebEx ทำให้เกิดความรวดเร็วและความแม่นยำในการคัดกรองผู้ป่วยวัณโรคปอดที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถลดระยะเวลาในการวินิจฉัย และให้การรักษาผู้ป่วยวัณโรคตั้งแต่ระยะแรก ลดค่าใช้จ่ายการรักษาที่ไม่จำเป็น และแก้ปัญหาการขาดแคลนรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ห่างไกลได้

“กรณีวัณโรค สมมติว่าถ้าเรามีคิวเอกซเรย์วันหนึ่ง 1,000 ราย แต่คนที่เป็นจริงๆ อาจเป็นคนที่ 1,000 ระบบใหม่จะทำให้คนที่เสี่ยงมากถูกดึงขึ้นมาเอกซเรย์ก่อน ทำให้ลดการแพร่เชื้อใน รพ.ได้ เชื่อว่าจะลดจำนวนผู้ป่วยเดินทางมา รพ. ระยะยาว 30-50% แต่สำหรับกลุ่มประคับประคอง ก่อนนี้ไม่มีทางเลือก แต่ต่อไปเชื่อว่าจะได้ใช้ได้ 100%”

2.โครงการดูแลผู้ป่วยประคับประคองผ่านระบบการสื่อสารทางไกล Tele Palliative Care โครงการนี้จะสร้างห้องตรวจและห้องรักษาเสมือนจริง เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยประคับประคอง และผู้ป่วยติดเตียงโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล พยาบาลผู้เชี่ยวชาญพร้อมอุปกรณ์ Mobile Med Device จะเดินทางไปหาผู้ป่วยถึงบ้านเพื่อตรวจสุขภาพ ส่งข้อมูลและสื่อสารทางไกลกับแพทย์ผู้ให้การรักษาแบบเรียลไทม์ โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัย พิจารณาให้ยาอย่างเหมาะสมผ่านระบบ Tele-consulting บนแพลตฟอร์ม Cisco WebEx เสมือนได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐาน และครบวงจรเทียบเท่ากับการมาโรงพยาบาล

3.โครงการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานโดยเจ้าหน้าที่ อสม. (Diabetes Patient Data & Communication Project) เน้นยกระดับความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ อสม. ในการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานอย่างถูกต้อง ผ่านการอบรมทางไกล และนำประสบการณ์ไปดูแลผู้ป่วยและรายงานความคืบหน้าผลการรักษาผ่าน Cisco Webex ซึ่งเป็น Smart Learning Platform และ Education Connector และระบบให้คำปรึกษาผ่าน Online learning system เพื่อติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด ทำให้ลดความแออัดในการที่จะต้องเดินทางเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล

ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์
ความร่วมมือทั้ง 5 โครงการนี้มุ่งพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ครอบคลุมบริการของโรงพยาบาลทั้งหมด เพื่อรองรับผู้ป่วยจาก 17 จังหวัดในเขตภาคเหนือ รวมถึงเป็นฐานสำหรับการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดทางด้านการแพทย์ในอนาคต โดยทางซิสโก้มีการสนับสนุนโครงสร้างเครือข่ายพื้นฐาน (Network Infrastructure) เทคโนโลยีที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) แมชชีน เลิร์นนิ่ง (ML) ไอโอที (IoT) เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ (Sensor Technologies) และเทคโนโลยี SDN (Software-Defined Networking)

นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของซิสโก้ กล่าวว่า ไม่สามารถประเมินมูลค่างบประมาณทั้ง 5 โครงการได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงออกแบบโครงการ โดยหลังจากเริ่มทำงานร่วมกันตั้งแต่เมษายน 63 มีการนำร่องแล้วบางโครงการ คาดว่าจะเริ่มการนำร่องเต็มรูปแบบในช่วงกุมภาพันธ์ 64 และมีแผนจะพัฒนาและผลิตเต็มรูปแบบต่อไป โดยยังไม่วางกรอบเวลาเริ่มต้นของเฟสอื่นแบบ 100%

“ไม่มีตัวเลข สิ่งสำคัญคือซิสโก้ไม่ได้มองว่าจะลงทุนเท่าไหร่ แต่มองผลประโยชน์ที่จะกลับมาที่ประชาชน ซิสโก้ให้การสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์ แต่คณะแพทย์ลงทุนบุคลการ พวกนี้ตีมูลค่าไม่ได้ แต่ก่อให้เกิดประโยชน์ เป็นการเอาอุปกรณ์ บุคลากร และเครื่องมือที่ใช้มาเสริมกัน ทางคณะแพทยศาสตร์มีความรู้ มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เป็นการเสริมศักยภาพของ 2 องค์กร”


ทั้ง 2 ฝ่ายเชื่อว่าความสำเร็จของโครงการนำร่องจะต่อยอดสู่การพัฒนาอื่นที่เป็นรูปธรรม เช่น ห้องผู้ป่วยเสมือนสำหรับคนไข้และแพทย์ ทั้งหมดนี้ไม่ถูกมองประโยชน์เรื่องลดค่าใช้จ่าย แต่เน้นเรื่องการได้รักษาทันท่วงที ประหยัดเวลาเดินทางมาคณะแพทย์ และค่าใช้จ่ายแฝงอื่น

สำหรับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากกว่า 1 ล้านคนต่อปี ที่ผ่านมา โรงพยาบาลมีระบบนัดคิวตามเวลาที่ผู้ป่วยควรมา แผนระยะสั้นสำหรับโครงการนี้คือการยึดที่บุคลากรชุดเดิมในการพัฒนา ส่วนระยะยาวคาดว่าจะต้องเพิ่มบุคลากรบางส่วนในช่วง 5-10 ปี

ช่วงไม่กี่เดือนที่เหลือของปีนี้ ซิสโก้ระบุว่า จะยังเน้นติดตามนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่เช่น 5G เพื่อดูความพร้อม และความต้องการของแต่ละคณะแพทย์ แต่ละ รพ. เชื่อว่าแต่ละแห่งจะมีความสนใจพัฒนารูปแบบการให้บริการทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีที่แตกต่างกันไป เชื่อว่าจะไม่ซ้ำกัน เป้าหมายในปีนี้จึงจะเน้นที่การตอบความต้องการให้ได้ครอบคลุม






กำลังโหลดความคิดเห็น