ฟูจิตสึ ประเทศไทย โชว์ผลประกอบการปี 2562 พุ่งแรง 18% เบ็ดเสร็จ 3,814 ล้านบาท ยอมรับวิกฤตโควิด-19 อาจทำให้การเติบโตไม่เท่าเดิมในปี 63 ระบุพยายามเต็มที่บนวิสัยทัศน์เป็น “บริษัทที่มุ่งเน้น Digital Transformation” ขีดเป้าหมายปี 2565 ต้องเปลี่ยนสัดส่วนธุรกิจบริการจากธุรกิจจำหน่ายฮาร์ดแวร์ที่ไม่ใช้แบรนด์ฟูจิตสึ (NON Fujitsu) 33% ในปี 2019 ให้ลดลงเหลือ 22% ให้ได้ แล้วเพิ่มธุรกิจบริการแอปพลิเคชันด้านธุรกิจ หรือ BAS เข้าไปแทน วาดฝันขยายตลาดลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 10% เป็น 21% ให้ได้ใน 2 ปีนับจากนี้
นายโทชิโร มิอุระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยในงานแถลงทิศทางธุรกิจ กลยุทธ์การบริการด้านเทคโนโลยีในปี 2563 ว่าเป้าหมายที่ฟูจิตสึประเทศไทยตั้งให้รายได้ปี 2565 มาจากลูกค้าส่วนอื่น (Others) เพียง 25% ลดลงจากปี 62 ที่มี 46% โดยต้องการเพิ่มขนาดกลุ่มลูกค้าใหม่ (Obtain) ให้เป็น 21% จาก 10% และกลุ่มลูกค้าปัจจุบัน (Retain) เป็น 54% จากเดิมที่มี 44% นั้นถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย เนื่องจากบริษัทตั้งใจเปลี่ยนมาโฟกัสที่กลุ่มลูกค้ารายหลักให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ฟูจิตสึประเทศไทยยังวางแผนให้บริษัทมีรายได้จากธุรกิจบริการ หรือ BAS มากขึ้นในปี 65 โดยต้องการให้มีสัดส่วนมากกว่า 40% จากปี 62 ที่มีอยู่ 32% โดยจะลดขนาดธุรกิจฮาร์ดแวร์ NON Fujitsu ลงเหลือ 22% จากที่เคยมี 33% ขณะที่ธุรกิจฮาร์ดแวร์แบรนด์ฟูจิตสึจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยคือ 9% จากที่มีปัจจุบัน 8%
“การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเพราะความตั้งใจ ธุรกิจบริการจะเป็นตัวสร้างความแข็งแกร่งให้เราเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เราปรับเป้าหมายให้ธุรกิจเซอร์วิสสูงกว่าแล้วลดธุรกิจฮาร์ดแวร์ลงเพื่อเพิ่มบริการด้านแอปพลิเคชันให้ดีขึ้น เรามีการเสนอโซลูชัน SAP ซึ่งสำคัญมากกับธุรกิจ BAS เราตั้งใจจะขยาย SAP อีกเพื่อให้ขยายธุรกิจ BAS ได้ต่อไป” มิอุระ ระบุ “เมื่อเทียบธุรกิจดั้งเดิม งานบริการถือว่าแตกต่างกันมาก ก่อนหน้านี้ไม่ต้องคุยกับลูกค้ามาก ก็แค่ขายสินค้าไป แต่ถ้าโฟกัสธุรกิจเซอร์วิสให้มากขึ้น บริษัทจะต้องเปลี่ยนหลายอย่าง ค่อนข้างยากลำบากและต้องใช้เวลา เลยวางไว้เป็นแผนระยะกลางของบริษัท”
มิอุระ ย้ำว่า ตั้งแต่ปีที่แล้วสำนักงานใหญ่ฟูจิตสึปรับเปลี่ยนนโยบายหลายอย่างโดยเฉพาะการวางเป้าหมายธุรกิจ เป้าหมายนี้สะท้อนมุมมองว่าพนักงานจะต้องพัฒนาตัวเองอย่างไรเพื่อจะตอบโจทย์ทางธุรกิจได้ เบื้องต้นการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ผลน่าพอใจ เพราะฟูจิตสึมียอดขาย 3,814 ล้านบาทในปี 62 (สิ้นสุดเดือนมีนาคมที่ผ่านมา) คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 18%
สำหรับช่วงครึ่งปีแรกของปี 63 ผู้บริหารฟูจิตสึ ย้ำว่า ยอดขายเดือนเมษายนเป็นไปตามเป้า โดยมาร์เกตเซกเมนต์ปีการเงิน 62 พบว่าลูกค้า 59% เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ที่เหลือ 41% เป็นบริษัทที่ไม่ใช่สัญชาติญี่ปุ่น จุดนี้ มิอุระ อธิบายการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี เพราะเป็นสัดส่วนที่เพิ่มจากที่เคยมี 30% เท่านั้น การเพิ่มขึ้นสะท้อนว่าฟูจิตสึเป็นที่ยอมรับในด้านบริการ โดยลูกค้าหลักเป็นอุตสาหกรรมในภาคการผลิต (รวมยานยนต์ด้วย) รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมการเงิน ภาครัฐ ค้าปลีก และโลจิสติกส์
นายพรชัย พงศ์เอนกกุล หัวหน้ากลุ่มธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า 4 กลยุทธ์หลักที่ฟูจิตสึต้องทำปีนี้คือการทรานสฟอร์ม จากรูปแบบเดิมของบริษัทมาเป็นรูปแบบใหม่ วิธีการขายโซลูชันจะเปลี่ยนจากการโฟกัสที่โปรดักต์ มามองที่ความต้องการและปัญหาของลูกค้าเป็นหลักแทน จะมีการนำโซลูชันที่พิสูจน์มาแล้วว่าประสบความสำเร็จมานำเสนอต่อลูกค้ารายอื่น รวมถึงบริการที่ปรึกษาช่วยวางงบประมาณไอที บริการคลาวด์ และซิเคียวริตี ที่ฟูจิตสึจะผลักดันให้เติบโตยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้จะทำควบคู่กับการจัดกิจกรรมเวิร์กชอปให้ลูกค้าทางออนไลน์เพื่ออัปเดตเทคโนโลยีใหม่ และการทำแผนธุรกิจร่วมกับพาร์ตเนอร์ทั้งระยะสั้นและยาว เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น
“การสำรวจจากไอดีซี ชี้ว่า ตลาดไอทีมีใช้จ่ายลดลง 5.5% ปีนี้ หลังโควิด-19 การลงทุนโครงข่ายระบบจะลดลง 3.2% แต่ธุรกิจซอฟต์แวร์จะมียอดบวกอยู่ 1.9% รวมถึงตลาดบริการไอทีที่ยังเพิ่มขึ้น 3.7% แปลว่ายังมีดีมานด์ และมีการลงทุนต่อเนื่อง” พรชัยกล่าว “กลุ่มลูกค้าที่เป็นโรงงาน และหลายบริษัทยังมีการลงทุนในส่วนดิจิทัลอยู่ เพราะเครื่องมือฟูจิตสึช่วยเพิ่มยอดขายและลดต้นทุนได้ ตอบโจทย์กลุ่มโรงงาน ขณะที่โครงการวิเคราะห์ข้อมูลก็ยังมีโปรเจกต์ต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก”
สถิติจากไอดีซีชี้ว่า ธุรกิจส่วนใหญ่เลือกลงทุนระบบคลาวด์ ระบบรักษาความปลอดภัย หรือซิเคียวริตี และระบบบริหารจัดการบุคลากร หรือเวิร์กฟอร์ซ ตัวเลขนี้สอดคล้องกับที่ฟูจิตสึได้พบลูกค้าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยส่วนที่ลงทุนน้อยที่สุดคือเทคโนโลยี AR VR, โมบายดีไวซ์ และระบบออโตเมชันซึ่งรวมโรบ็อท
แม้การสำรวจของไอดีซีจะย้ำชัดว่าการลงทุนไอทีโลกจะเปลี่ยนไปในยุคนิว นอร์มอล แต่ฟูจิตซึก็สร้างระบบขึ้นมาให้บริการตามเทรนด์ที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะโซลูชัน DX-Data Driven และ DX-Modernize โดยจะนำเสนอ 4 โซลูชันดิจิทัลหลัก ได้แก่ 1) Smart Factory การขับเคลื่อนกระบวนการของโรงงานผลิตเข้าสู่ดิจิทัลโพรเซส เพื่อสร้างความคล่องตัวให้การผลิตมากยิ่งขึ้น 2) Data Analytics การวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่รองรับธุรกิจจำเป็นที่จะต้องมีการสำรวจ ประมวลผล ปกป้อง และสร้างรายได้จากข้อมูล 3) RPA -Robotic Process Automation การใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วย สร้างความถูกต้องแม่นยำ ลดต้นทุนการทำงาน เพิ่มอัตราผลผลิตได้ดี และ 4) Smart Workplace ที่เข้ามาตอบสนองความต้องการในยุคเว้นระยะห่างทางสังคม (Distancing) เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานระยะไกลผ่านโซลูชันดิจิทัล การรีโมตเครือข่ายเพื่อทำงานร่วมกันของทีมงาน
สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจปีนี้ ผู้บริหารบอกเพียงว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รายได้ฟูจิตสึไทยเพิ่มต่อเนื่องจนปี 62 ที่เติบโตเป็นพิเศษ 18% แต่การเติบโตหลังจากนี้ยังตอบไม่ได้ ซึ่งแม้จะอยากเติบโตในอัตราเดิม แต่ด้วยสถานการณ์ที่ค่อนข้างยากลำบาก ก็อาจเป็นไปได้ที่อัตราเติบโตจะไม่เท่าเดิม
ขณะที่แผนการลงทุนฟูจิตสึในปีนี้ ส่วนหนึ่งจะเน้นลงทุนให้ฟูจิตสึไทยแลนด์เป็นตัวอย่างด้านการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน คู่กับการลงทุนโลคัลคลาวด์เซอร์วิสด้วยการอัปเกรดให้เทคโนโลยีทันสมัย เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น ท่ามกลางพันธมิตรหลักธุรกิจคลาวด์อย่างซิสโก้ ไมโครซอฟท์ เวอริทัส และวีเอ็มแวร์ เบื้องต้น ยอมรับว่าตลาดไอทีไทยมีการแข่งขันสูง แต่บริษัทไม่ต้องการแข่งที่ราคา อยากจะแข่งที่ความแตกต่าง จากที่เคยให้บริการแบบเดิม ก็จะปรับให้บริการในมุมใหม่ ส่วนตัวมิอุระไม่เห็นด้วยกับคำที่บอกว่าวิกฤตโควิด-19 ยังใช้เวลาฟื้นตัวหลายปี เนื่องจากมองว่าปีหน้าจะดีขึ้นมาก