xs
xsm
sm
md
lg

“เบญจจินดา” ทุ่มงบตั้งเสาอัจฉริยะ Smart Pole ต้นละ 5 ลบ. 100 ต้น ติดฟรีทั่ว 13 เทศบาลอัจฉริยะ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ตัวอย่างย่านอัจฉริยะที่เยาวราช ที่มีการปรับทางเท้า เพิ่มต้นไม้ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง
ยูไนเต็ด เทคโนโลยี เอ็นเตอร์ไพรส์ (UTE) เครือเบญจจินดากวาดเรียบงานเมืองอัจฉริยะ 13 เทศบาลในโครงการกฎบัตรสมาร์ท ซิตี ชาร์เตอร์ (Smart City Charter) ผงาดเป็นบริษัทเดียวที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ฟรีแบบไม่มีเงื่อนไข เบื้องต้น ยังไม่เปิดตัวเสาสมาร์ทโพล (Smart Pole) ราคาต้นละ 5 ล้านบาท แต่มีแผนโฟกัสต่อยอดธุรกิจอินฟราสตรักเจอร์แชร์ริ่งโดยเฉพาะกลุ่มโทรคมนาคม 5 เจ้าหลักของไทย ปัด UTE ได้ประโยชน์เรื่องข้อมูลประชาชนเพราะเป็นข้อมูลเปิดกว้างให้สตาร์ทอัป หรือหน่วยงานอื่นหยิบไปใช้ได้เช่นกัน คาดระยะแรก UTE จะมีรายได้จากการโฆษณาบนหน้าจอของเสาที่จะไปติดในย่านคึกคักของ 13 เทศบาล ย้ำอยากพัฒนาประเทศไทยจึงพร้อมลงทุนเพื่อคุ้มทุนในระยะยาว

นายพิรชัย เบญจรงคกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ด เทคโนโลยี เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด (UTE) ภายใต้กลุ่มบริษัทเบญจจินดา กล่าวถึง การลงนามข้อตกลงการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานด้านกายภาพดิจิทัลและแพลตฟอร์มการบริหารจัดการย่านอัจฉริยะ ตามกรอบกฎบัตรเมืองอัจฉริยะ ร่วมกับสมาคมการผังเมืองไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และ 13 เทศบาลเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 63 ว่า UTE จะลงทุนติดตั้งเสาสมาร์ทโพลที่พัฒนาขึ้นเองในบริษัท (อินเฮาส์) คู่กับโครงสร้างพื้นฐาน และแพลตฟอร์มหลักโดยอินทิเกรตทุกอย่างที่สำคัญทั้งโซลูชันให้บริการฟรีไว-ไฟ และโซลูชันที่หน่วยงานสามารถดึงข้อมูลจากเซ็นเซอร์มาพัฒนานโยบายและเพิ่มศักยภาพในการบริหารเมืองได้ดีขึ้น หลังการลงนามบริษัทจะต้องศึกษาและพัฒนาระบบต่อเนื่องตลอดกรอบการทำงาน 5 ปี

“เสาต้นละประมาณ 5 ล้านบาท ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าใช้กี่ต้นต่อเมือง แต่อยู่ที่นำไปใช้ เราจะเน้นเรื่องอินฟราสตรักเจอร์แชร์ริ่ง งานนี้ผมเชิญ 5 โอเปอเรเตอร์ไทยมาฟังครบ คุณจะลงทุนตั้งเสา 5G เองก็ได้ แต่จะลงทุนซ้ำซ้อนทำไม เมืองก็ไม่สวย”

พิรชัย เบญจรงคกุล
สมาร์ทโพลที่พิรชัยพูดถึงนั้นเป็นส่วนหนึ่งในโครงการสร้างพื้นฐานด้านกายภาพดิจิทัลและแพลตฟอร์มการบริหารจัดการย่านอัจฉริยะ ตามกรอบกฎบัตรสมาร์ท ซิตี ชาร์เตอร์ กฎบัตรดังกล่าวหมายถึงข้อตกลงร่วมระหว่างประชาชนและทุกภาคส่วนในการร่วมพัฒนาเมือง แม้จะไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นคัมภีร์ที่พี่น้องประชาชนไทยและหน่วยงานจะใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาก้าวไปร่วมกัน

ย่านอัจฉริยะตามกรอบของกฎบัตรสมาร์ท ซิตี ชาร์เตอร์จะย่อยจากสมาร์ท ซิตี อาจเป็นพื้นที่ช่วงถนนเศรษฐกิจที่มีการสัญจรคับคั่งที่สุดของเมือง ย่านอัจฉริยะนี้จะถูกปรับทางเท้า เพิ่มต้นไม้ จัดสรรพื้นที่ปั่นจักรยาน จัดระเบียบท่อระบายน้ำส่วนแห้งเปียก ร่วมกับการติดตั้งเทคโนโลยีเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ย่านอัจฉริยะนี้สามารถเทียบได้กับพื้นที่ทดลองซึ่งสามารถเป็นคอนเซ็ปต์ให้ทั้งเทศบาลได้ศึกษาเรื่องลงทุน เห็นภาพจริงของความร่วมมือระหว่างบริษัทพัฒนาเมืองของเอกชนในพื้นที่ ทำให้มีความพร้อมที่เอกชนจะร่วมมือภาครัฐ พัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างสอดคล้องกัน

พิรชัยย้ำว่ามีแผนโฟกัสธุรกิจอินฟราสตรัคเจอร์แชร์ริ่งในโครงการนี้
สำหรับ UTE ผู้บริหารระบุว่า อุดมคติของบริษัทคือการพัฒนาประเทศ โดยดาต้าที่รวบรวมได้จากเสาอัจฉริยะจะเป็นข้อมูลเปิดให้ทุกฝ่ายนำไปใช้งานได้ ส่วนการลงนามครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเซ็นเอ็มโอยูระหว่างเอกชนและเทศบาล ทำให้เกิดเป็นย่านอัจฉริยะที่ประชาชนจับต้องได้และเห็นภาพของเมืองอัจฉริยะได้ชัดเจนขึ้น ตรงกับแนวคิดของบริษัทที่แม้เป็นบริษัท B2B แต่ก็ยึดเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง

“เป้าหมายคือการเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนทุกระดับอย่างเท่าเทียม เทคโนโลยีที่จะต่อยอดคือการจัดระบบกล้องซีซีทีวีที่กระจัดกระจาย จะมีการนำระบบ Maxitask ของ UTE มาใช้ ทำให้มีการแจ้งเตือนอุบัติเหตุ ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้เร็วขึ้น มีการแจ้งเตือนพื้นที่ต้นทางมลพิษ PM 2.5” พิรชัย ย้ำ “เราเป็นบริษัทเอกชนรายแรกที่ทำธุรกิจโทรคมนาคมในไทยตั้งแต่ปี 1960 เราอยากเห็นความยั่งยืน แม้จะยังไม่คุ้มทุนในระยะสั้น”

เบื้องต้น UTE ระบุว่าจะลงทุนราว 100 เสา แผนต่อยอดธุรกิจคือการเจาะเซ็กเมนต์คือสุขภาพและท่องเที่ยว แต่ยังต้องดูความสนใจของเมือง โดยจะเป็นโครงสร้างสกรีนแพลตฟอร์มที่เน้นการสื่อสาร ตรวจจับระดับฝุ่น PM 2.5 และการเพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชนเดินเท้าช่วงกลางคืนได้ ฟังดูแล้วยังไร้แววเทคโนโลยี AI ที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องต้องใช้ข้อมูลมหาศาล

นายฐาปนา บุณยประวิตร กรรมการและเลขานุการกฎบัตรแห่งชาติ กล่าวว่า จากงบประมาณที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดสรรให้เป็นปีที่ 2 กฎบัตรแห่งชาติเชื่อว่าจากวันนี้ที่มีพื้นที่ทดลอง 13-18 เทศบาล จะขยายเป็น 6.5% ของเทศบาลทั่วประเทศได้ในอนาคต โดยหนึ่งในภารกิจน่าสนใจของโครงการคือแผนพัฒนาย่านสุขภาพในมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และมหาวิทยาลัยแม่โจ้

ฐาปนา บุณยประวิตร
“เชื่อว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ย่านอัจฉริยะและพื้นที่โดยรอบจะปรับเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าเท่าตัว ภายหลังจากการลงทุนทั้ง 4 ขั้นตอน หรือคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นในย่านอัจฉริยะและพื้นที่โดยรอบไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทต่อปี นับจากการลงทุนตามขั้นตอนเสร็จสิ้น”

ฐาปนา เชื่อว่าย่านอัจฉริยะและพื้นที่โดยรอบ จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทต่อปี
4 เทศบาลที่นำร่องโครงการไปแล้วอย่างเร่งด่วนคือ เทศบาลนครนครสวรรค์ เทศบาลนครอุดรธานี เทศบาลเมืองป่าตอง เทศบาลนครระยอง ซึ่งทำงานร่วมนาน 2 ปีแล้ว สำหรับปีนี้จะมีเพิ่มอีก 6 แห่งคือ เทศบาลนครรังสิต เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครร้อยเอ็ด เทศบาลเมืองหัวหิน เทศบาลเมืองกระบี่ และเทศบาลเมืองทุ่งสง แต่ละเมืองมีพื้นที่ย่านอัจฉริยะไม่เกิน 1 พันเมตร นอกจากการปรับทางเท้า เพิ่มต้นไม้ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และเพิ่มกิจกรรมในอาคารว่าง เทศบาลเมืองยังต้องรอเจรจากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในการดึงเสาไฟฟ้าลงดิน จุดนี้มีเทศบาลนครนครสวรรค์ที่ลงทุนทำเองโดยไม่รอการไฟฟ้า กรอบปฏิบัติการจริงคือปี 2564-2567 มูลค่าโครงการมากกว่า 30 ล้านบาทต่อเทศบาล

“โครงการนี้ไม่ได้ทับซ้อนกับย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไทของ NIA เพราะเป็นโครงการภาพใหญ่ และไม่ลงลึกถึงกายภาพ ไม่ถึงระดับเศรษฐกิจฐานราก ที่เป็น UTE เพราะเงื่อนไขไม่ต้องมีการรองบจากเทศบาล เจ้าอื่นทำไม่ได้ รายได้ที่ UTE จะได้คือโฆษณาในย่านนั้น ส่วนระบบดาต้าเป็นโอเพ่นดาต้าราว 60% ของข้อมูลรวม ที่เหลือเป็นข้อมูลเฉพาะที่เทศบาลต้องสงวนไว้ เช่น ข้อมูลใบหน้าประชาชนที่ไม่สามารถเผยแพร่ได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น