xs
xsm
sm
md
lg

ดีป้าพาเหรด 27 เมืองร่วมโครงการเมืองอัจฉริยะ City Possible ของมาสเตอร์การ์ด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดร. ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ที่สองจากซ้าย) ร่วมมือกับมาสเตอร์การ์ด นำโดยนายมิเกล กามิโน จูเนียร์ รองประธานกรรมการบริหารเมืองระดับสากล (ขวาสุด), นางจูเลียน โลห์ รองประธานกรรมการบริหารความร่วมมือระหว่างองค์กร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ที่สองจากขวา) และนางสาวไอลีน ชูว ผู้จัดการประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ (ซ้ายสุด)
หลังจากที่จับมือกับวีซ่าเมื่อปีที่แล้ว วันนี้ดีป้าหรือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ประกาศความร่วมมือกับมาสเตอร์การ์ด ในโครงการซิตี้พอสสิเบิล (City Possible) พาเหรด 27 เมืองจากประเทศไทยเข้าร่วมโครงการเพื่อเข้าถึงข้อมูล-เครือข่าย-เครื่องมือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ มั่นใจหลังเข้าโครงการแล้ว ทั้ง 27 เมืองจะสามารถประกาศเป็นสมาร์ทซิตี้ได้เลยทั้งหมดในปี 63 โดยเฉพาะหลายเมืองที่ทำการบ้านไว้ดีอยู่แล้ว การันตีโครงการนี้ไม่มีเงื่อนไขด้านการเก็บข้อมูลที่ทำให้ประชาชนเสียความเป็นส่วนตัว และเป็นคนละส่วนกับระบบวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้บัตรเครดิต ซึ่งเป็นของค่ายสถาบันการเงินอยู่แล้ว

ดร. ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล แสดงวิสัยทัศน์เรื่องการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของดีป้าในปีนี้ ว่าปีนี้ดีป้าจะลุยโปรโมทสมาร์ทซิตี้ผ่านการจัดงานให้เกิดภาพชัดของการร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และพันธมิตรระดับโลก ซึ่งจากที่ดีป้าได้ประกาศรายชื่อ 27 เมืองที่ต้องการเป็นสมาร์ทซิตี้และมีการส่งแผนตาม 5 หลักเกณฑ์จนครบ ดีป้ามีเป้าหมายจะบ่มเพาะเมืองเหล่านี้ให้เป็นสมาร์ทซิตี้เต็มรูปแบบ จากพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทย 77 จังหวัด, 878 เขต, 181 เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง 2,234 แห่ง

“ปีนี้จะคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้เป็นสมาร์ทซิตี้ได้ เหมือนมาเข้าโรงเรียนดีป้า เรามีหลักสูตร ที่แนะนำกันได้ว่าต้องทำอย่างไร และเชื่อมภาครัฐ เอกชน องค์กรท้องถิ่น และพันธมิตรระดับโลกเข้าด้วยกันให้ได้ ผ่านหลายโครงการที่เป็นกลไกยกระดับเมือง”

หนึ่งในหลักสูตรที่ดีป้าจะอบรมตัวแทน 27 เมืองอัจฉริยะชุดแรกของไทย คือข้อมูลจากโครงการ City Possible ที่ริเริ่มโดยมาสเตอร์การ์ด จุดนี้ดร. ภาสกรระบุว่าเป็นความร่วมมือที่เกิดจากการพูดคุยมากกว่า 6 เดือน จากการศึกษาพบว่า City Possible เป็นโครงการที่ทำให้ “เมืองมาเจอกับเมือง” ทำให้เมืองในโครงการสามารถแบ่งปันข้อมูลปัญหาที่พบ และวิธีแก้ไขได้ในหลายปัญหา เมื่อโครงการนี้มีทั้งเครือข่ายและเครื่องมือ ดีป้าจึงตัดสินใจพา 27 เมืองของไทยมานำร่อง เบื้องต้นวางแผนพาผู้เชี่ยวชาญมาประเทศไทยแทนการพาตัวแทน 27 เมืองจากไทยไปร่วมการประชุมในต่างประเทศ จุดนี้ดีป้าอาสาเป็นศูนย์กลาง แปลข้อมูลที่เกี่ยวกับการดำเนินการสมาร์ทซิตี้ให้เป็นภาษาเข้าใจง่าย เพื่อให้เมืองส่งตัวแทนพัฒนาเข้าอบรมในหลักสูตรที่ถือว่าเป็นนานาชาติ

“เชื่อว่าจะเป้นโอกาสที่ดีในการเข้าถึงหลักสูตรสมาร์ทซิตี้ที่มีในโลก ขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นโอกาสให้สตาร์ทอัปไทย ได้สร้างโซลูชันให้เมืองทั่วโลกได้ด้วย เรามองเป็น 2 ด้าน”


มิเกล กามิโน จูเนียร์ รองประธานกรรมการบริหารเมืองระดับสากล มาสเตอร์การ์ด กล่าวว่าในปีที่ผ่านมา City Possible เป็นช่องทางที่ทำให้เมืองมาพบจอกันผ่านกิจกรรมกว่า 300 ครั้ง City Possible ช่วยให้หลายเมืองเห็นความคืบหน้าและมีแรงบันดาลใจ เพราะมีแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ผู้นำเมืองติดต่อกันและแชร์ข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาเมืองได้ ปัจจุบันสมาชิกในเครือข่าย City Possible มีจำนวน 40 เมือง แต่มาสเตอร์การ์ดย้ำว่ามีส่วนช่วยพัฒนามากกว่า 200 เมือง

“ทุกเมืองสามารถเข้าโครงการได้ สามารถแชร์วิธีการแก้ปัญหาในเมืองแก่เมืองอื่นในโลก กลายเป็นเส้นทางที่ทุกคนร่วมเดินได้ ความท้าทายนับจากนี้คือการประสานความร่วมมือระหว่างทุกฝ่ายให้แข็งแกร่ง ตรงนี้ต้องยกความดีให้ดีป้า ที่ดึง 27 เมืองให้เข้าร่วมโครงการได้พร้อมกัน คิดว่าจะมีอีกหลายเมืองที่เข้าร่วมโครงการในอนาคต”

จูเลียน โลห์ รองประธานกรรมการบริหารความร่วมมือระหว่างองค์กร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาสเตอร์การ์ด ยอมรับว่าบริษัทกำลังมองหาช่องทางในการนำระบกุญแจเมืองมาสเตอร์การ์ด (Mastercard City Key) มาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย แพลตฟอร์มนี้เกิดจากการร่วมมือกับเมืองฮอโนลูลู ฮาวาย ที่นำการระบุตัวตนมาผูกกับการชำระเงิน เพื่อช่วยให้ประชากรเข้าถึงบริการของเมืองได้ง่ายและทั่วถึง

แม้จะยังไม่มีการยืนยันว่า Mastercard City Key จะได้ประเดิมในเมืองใดของไทย แต่ยะลาเป็นพื้นที่ที่ถูกยกขึ้นมาว่าได้รับแรงบันดาลใจจากกรณีศึกษาของ Mastercard City Key ที่อาจดึงดูดให้คนภายนอกได้มาอาศัย ท่องเที่ยว รวมถึงทำธุรกิจ จุดนี้เชื่อว่าจะมีการประสานงานเพื่อขยายความร่วมมือหลายด้านในอนาคต



เบ็ดเสร็จแล้ว ความร่วมมือแรกที่จะเกิดขึ้นภายใต้โครงการ City Possible คือ 27 เมืองของไทยจะได้สิทธิ์เข้าถึงฐานข้อมูลของโครงการ ขณะเดียวกันก็ได้เข้าถึงเครือข่ายสมาชิก 40 เมืองที่มีอยู่แล้ว รวมถึงโอกาสได้ใช้เครื่องมือซึ่งเบื้องต้นมีการนำมาทดลองใช้กับโคราช เช่นเครื่องมือวิเคราะห์ดาต้าการใช้จ่ายของคน เพื่อตรวจดูชีพจรเมืองว่าผู้คนใช้จ่ายที่ไหน ร่วมกับการจัดฟอรั่ม และอีเวนท์สำคัญช่วงกลางปีคืองานไทยเวิร์ลสมาร์ทซิตี้โชว์เคส

“ยืนยันว่าข้อมูลของเมืองในโครงการจะยังเป็นข้อมูลของเมือง ส่วนข้อมูลในเครื่องมือจะบันทึกในรูปข้อมูลที่ไม่ระบุชื่อ เพื่อนำไปวิเคราะห์ ไม่มีผลเรื่องความเป็นส่วนตัว ขณะที่ข้อมูลการใช้บัตรเครดิตจะเป็นของมาสเตอร์การ์ดอยู่แล้ว เป็นคนละเรื่องกัน”

สำหรับการเข้าร่วมโครงการพร้อมกัน 27 เมืองที่ถือว่ามากที่สุดในโครงการ City Possible นั้นไม่มีนัยแฝงเป็นพิเศษ เพียงแต่เป็นการก้าวไปพร้อมกันผ่านหน่วยงานกลางของประเทศอย่างดีป้า ต่างจากเมืองอื่นที่เข้าร่วมแบบทีละเมือง

หากมองในเป้าหมายการสร้างเมืองอัจฉริยะ ผู้บริหารดีป้าย้ำว่าสมาร์ทซิตี้นั้นไม่ได้มีหลักใหญ่ที่การเปิดให้ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สายฟรีทั่วเมือง แต่อยู่ที่การแก้ปัญหาหลักของประชาชนในเมืองนั้นอย่างยั่งยืน โดยแต่ละเมืองอาจจะต้องการเทคโนโลยีต่างกันเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะ เช่น นครยะลา ที่อาจจะต้องแก้ปัญหาด้วยการติดกล้องวงจรปิด หรือเมืองใหญ่ที่ต้องการระบบจราจรอัจฉริยะเพื่อแก้ปัญหาจราจร


นอกจากมาสเตอร์การ์ด ดีป้ามีความร่วมมือกับวีซ่า (VISA) ในโครงการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้บัตรเครดิต จุดนี้ผู้บริหารดีป้าย้ำว่าเป็นไปตามนโยบายเปิดกว้างเพื่อตอบรับพันธมิตรทุกค่ายที่ต้อการเข้าร่วมผลักดันสมาร์ทซิตี้ไทย ซึ่งขณะนี้ ระบบของวีซ่ามีการเปิดทดลองใช้งานแล้วที่ภูเก็ต และภูเก็ตก็เป็น 1 ใน 27 เมืองที่เข้าร่วมโครงการด้วย

เบื้องต้นผู้บริหารดีป้ายอมรับว่า ไม่ใช่ทุกเมืองในประเทศไทยที่เหมาะจะเป็นสมาร์ทซิตี้ เนื่องจากบางเมืองมีขนาดเล็ก หรือไม่มีแยกไฟจราจรหนาแน่นที่ต้องบริหารจัดการ แต่ทุกพื้นที่ล้วนสามารถนำเทคโนโลยีหรือการจัดการที่ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหาเฉพาะด้านได้

ในอนาคต ดีป้าหวังจะเห็นการเปิดเผยข้อมูลของเมืองในประเทศไทยเพื่อให้สตาร์ทอัปได้นำไปพัฒนาโซลูชันที่อำนวยความสะดวกผู้ใช้มากขึ้น จุดนี้ดีป้ามีนโยบายสนับสนุนชุมชนสตาร์ทอัปจริงจังและต่อเนื่อง มีการนัดพบเพื่อประชุมความคืบหน้าทุก 2 เดือน.


กำลังโหลดความคิดเห็น