ดีป้า เดินหน้าปีงบประมาณ 2564 ปั้นสตาร์ทอัป สู่ยูนิคอร์น พร้อมกระตุ้นสมาร์ท ซิตี ควบคู่การสร้างบุคลากรพันธุ์ดิจิทัล รับโลกยุค 5G ขณะที่พื้นที่ไทยแลนด์ ดิจิทัล วอลเลย์ เนื้อหอม สตาร์ทอัปแห่จองเต็มพื้นที่แล้ว 1 อาคาร เผยสร้างต่อเนื่อง หวังเป็นแลนด์มาร์กดึงต่างชาติลงทุน แข่งเวียดนาม-มาเลเซีย
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า ดีป้าได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2564 อยู่ที่ 1,080 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขใกล้เคียงกันกับปีก่อน แต่ที่เห็นว่าตัวเลขลดลงนั้นเนื่องจากได้ขอขยายการรับงบประมาณในการก่อสร้างอาคารที่ 4 และ 5 ของโครงการไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ บนพื้นที่อีอีซีดี อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ออกไปจัดสรรในปีงบประมาณ 2565 ประมาณอาคารละ 800 ล้านบาทแทน เพื่อให้รัฐบาลนำเงินไปจัดสรรในสิ่งที่จำเป็นก่อน
สำหรับงบประมาณปี 2564 ที่ได้รับมาจะเน้นทำโครงการหลักๆ ที่สำคัญ ได้แก่ โครงการดิจิทัล สตาร์ทอัป ในการสนับสนุนให้ประเทศไทยมีสตาร์ทอัประดับซีรีส์ เอ กลายเป็นยูนิคอร์นของประเทศไทยให้ได้ภายในปี 2564 โครงการจัดอบรมด้านโรโบติก มีการจัดหลักสูตรร่วมกับสถาบันต่างๆ สร้างความรู้เกี่ยวกับโดรน เอไอ กับกลุ่มสถาบันอาชีวศึกษา โรงงาน และโรงแรม เป็นต้น การทำโครงการสมาร์ทซิตี ใน 26 จังหวัด
รวมถึงการการสร้างมาตรฐานสำหรับอุปกรณ์ ไอโอที ที่ผลิตโดยนักพัฒนาและผู้ประกอบการในประเทศ เช่น กล้องวงจรปิด โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างมาตรฐานที่จะเป็นแนวทางที่ผู้ผลิตอุปกรณ์สามารถยกระดับการพัฒนาและการผลิตให้สามารถนำออกให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมั่นใจและเป็นมาตรฐานสากล ทำให้สินค้าระดับคอนซูเมอร์มีมาตรฐานเดียวกันภายใต้ชื่อ DSure (ดีชัวร์) ที่มาจากคำว่า Digital Sure
นายณัฐพล กล่าวว่า ผู้บริโภคในประเทศจะมีความมั่นใจในการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ผลิตโดยคนไทย มีมาตรฐานและการรับรองที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นทางการเลือกในการใช้เทคโนโลยีที่ผลิตขึ้นเองไม่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์ที่ผลิตจากต่างประเทศที่มีราคาสูงกว่า หรือถูกเกินไปจนไม่น่าไว้วางใจ ทั้งนี้ มาตรฐานที่ดีป้าจะพัฒนาขึ้น เป็นมาตรฐานที่ยึดเอาความสมัครใจและการรับรองตามหลักวิชาการ ไม่ใช่มาตรฐานตามกฎหมาย ดังนั้น จึงไม่บังคับให้ผู้ประกอบการทั้งในหรือต่างประเทศจะต้องได้รับมาตรฐานนี้
สำหรับความคืบหน้าในการสร้างโครงการไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ งบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 30 ไร่ในอีอีซีดีนั้น ขณะนี้อาคารแรก งบประมาณ 48 ล้านบาท พื้นที่ 1,500 ตารางเมตร สำหรับบริษัทที่สนใจเช่าเป็นสาขาได้ดำเนินการสร้างเสร็จสิ้นแล้ว และมีผู้เข้าจองพื้นที่เป็นสตาร์ทอัปเต็มพื้นที่แล้ว ขณะที่ยังคงเหลือบริษัทที่รอการเช่าอีก 10 บริษัท ซึ่งคาดว่าจะมาใช้อาคารที่ 2 ในพื้นที่ 45,000 ตารางเมตร งบประมาณ 168 ล้านบาท คาดว่าจะเสร็จภายในเดือน ก.ค.2564 ซึ่งเปิดพื้นที่ในการทำงาน ทดลอง ทดสอบทั้งเทคโนโลยีเอไอ และบล็อกเชน
ส่วนตึกที่ 3 งบประมาณ 1,300 ล้านบาท พื้นที่ 40,000 ตารางเมตร อยู่ระหว่างการเปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้าง ขณะที่ดีป้าจะเริ่มโรดโชว์ให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะการเป็นแล็บในการพัฒนาแอปพลิเคชัน 5G ให้มีสินค้าออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีวีอาร์ หรือเออาร์ ตลอดจนบริษัทดิจิทัล คอนเทนต์ มาใข้สำนักงานในประเทศไทยด้วย เป็นต้น ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องแข่งขันดึงนักลงทุนต่างชาติกับประเทศเวียดนาม และมาเลเซียให้ได้ ดังนั้นประเทศไทยจะสู้ได้ก็ต้องมีการพัฒนาบุคลากรมารองรับงานดิจิทัลที่คาดว่าจะมีความต้องการสูงขึ้นด้วย
ขณะที่อาคารที่ 4 และ 5 จะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2565 ด้วยงบประมาณอาคารละ 800 ล้านบาท พื้นที่อาคารละ 20,000 ตารางเมตร โดยอาคารที่ 4 เป็น Digital Edutainment Centre มีพื้นที่ให้ทดสอบทดลองและจัดกิจกรรม ส่วนอาคารที่ 5 เป็น Digital Go Glebal Centre เป็นพื้นที่รองรับดิจิทัล สตาร์ทอัป และเป็นสำนักงานและมีพื้นที่โคเวิร์กกิ้ง สเปซ รวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมด้วย