ตามติดโอกาสและข้อจำกัดล่าสุดของ ‘โทรเวช’ ทั่ววงการเทเลเมดิซีนไทย ในวันที่หลายโรงพยาบาลนำร่องทำโครงการให้คนไทยได้รับบริการทางการแพทย์แบบทางไกล ที่โดดเด่นมากคือ ‘ศิริราช’ ซึ่งให้บริการเทเลเมดิซีนอย่างต่อเนื่อง และมีแผนพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมไม่ว่ากระแสโควิด-19 จะทรงหรือทรุด ด้านนักพัฒนาชี้ถึงเทเลเมดิซีนไทยจะมีโอกาสสูงแต่ก็เต็มไปด้วยข้อจำกัด ขณะที่ ‘ทรู’ ห่วงเทเลเมดิซีนไทยใช้ระบบคอนเฟอเรนซ์ที่ไม่เชื่อมโยงกับการวิเคราะห์ข้อมูลคัดกรอง ชี้ควรต้องมีการเชื่อมโยงให้หมอวินิจฉัยได้ดีผ่านออนไลน์
***ตั้งไข่ ‘โทรเวช’ ไทย
ภาษาไทยเรียก ‘โทรเวช’ ภาษาอังกฤษเรียก ‘Telemedicine’ ทั้ง 2 คำหมายถึงการแพทย์ทางไกลที่ราชกิจจานุเบกษาเพิ่งเผยแพร่ประกาศแพทยสภาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 63 มติคณะกรรมการแพทยสภาระบุว่า โทรเวช หรือการแพทย์ทางไกลเป็นการส่งผ่านหรือการสื่อสารเนื้อหาทางการแพทย์แผนปัจจุบันโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทั้งจากสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน จากสถานที่หนึ่ง ไปอีกสถานที่หนึ่ง โดยอาศัยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การปรึกษา แนะนำ แก่บุคลากรทางการแพทย์ด้วยกันหรือบุคคลอื่น
นพ.ธเรศ กริษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าแนวทางปฏิบัติของประกาศแพทยสภานั้นคล้ายกับประกาศเรื่อง ‘มาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาล โดยใช้ระบบการแพทย์ทางไกล’ ที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ โดยระบุว่า ทั้ง 2 ประกาศเน้นคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่ปลอดภัย แต่ประกาศของกระทรวงสาธารณสุขจะกลายเป็นกฎหมาย ที่ขีดเส้นว่าไม่ใช่ใครๆ ก็จะให้บริการแพทย์ทางไกลได้ เพราะผู้ให้บริการจะต้องรับผิดชอบว่าคุณหมอในบริการนั้นเป็นผู้ประกอบวิชาชีพจริง รวมทั้งต้องดูแลเก็บประวัติผู้ป่วยให้เหมือนการเก็บเวชระเบียนในคลินิกที่ให้บริการปกติ
นพ.ธเรศ อธิบายถึงที่มาของการกำหนดนโยบายกำกับดูแลเทเลเมดิซีนไทยไว้ในงานสัมมนา ThaiFightCovid Technical Forum Episode #14 : Telemedicine : New Medical Frontier’ เมื่อวันศุกร์ที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเริ่มเข้ามาดูแลโทรเวชเพราะพันธกิจที่ต้องกำกับดูแลสถานพยาบาลเป็นหลัก แต่เดิมเน้นที่สถานพยาบาลเอกชน แต่ในระยะหลังขยายไปที่สถานพยาบาลภาครัฐ ดังนั้น เมื่อมีการแพทย์ทางไกลกรมจึงต้องการหากลไกเพื่อดูแล ควบคุม กำกับให้เหมาะ สมและปลอดภัย
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจึงตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างประกาศมาตรฐานการบริการตามมาตรา 15 ปัจจุบัน ได้ร่างประกาศและผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นแล้ว กำลังอยู่ในขั้นเสนอเพื่อประกาศใช้
เนื้อหาสำคัญของ ‘ประกาศ เรื่อง มาตรฐานการให้บริการ ของสถานพยาบาล โดยใช้ระบบการแพทย์ทางไกล’ คือ การนิยามว่าการดูแลจะครอบคลุมทั้งส่วนบริการและระบบไอซีทีที่ให้บริการ ส่วนของบริการนั้นกำหนดให้บริการการแพทย์ทางไกลต้องทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพ หรือผู้ประกอบโรคศิลป์เท่านั้น ซึ่งจะใช้ระบบการแพทย์ทางไกลเพื่อเป้าหมายตั้งแต่การตรวจ ป้องกันโรค เสริมสุขภาพ ขณะที่ส่วนของระบบบริการการแพทย์ทางไกลก็จะต้องมีมาตรฐาน ผู้ให้บริการจะต้องแสดงแผนว่ามีระบบสารสนเทศและการสื่อสารที่ให้ความมั่นใจได้เพียงพอ ทั้งหมดถูกเขียนให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้
นพ.ธเรศ มองว่า กระทรวงสาธารณสุขจะ ‘เอาอยู่’ หากผูกให้โทรเวชติดกับสถานพยาบาลเดิม โดยย้ำว่าผู้ให้บริการโทรเวชต้องทำตามขั้นตอน ต้องมีการลงทะเบียนและบันทึกข้อมูล เพื่อให้มีข้อมูลย้อนกลับ ต้องแจ้งความเสี่ยงกับผู้ป่วย และถ้าสถานพยาบาลใดให้บริการไปแล้วก่อนหน้านี้ ก็ต้องให้บริการตามมาตรฐานนี้ภายใน 90 วัน เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มีการลงนามใด
แม้จะย้ำว่าทุกสถานพยาบาลที่จะทำโทรเวช ต้องมาขออนุญาตในการให้บริการ แต่นพ.ธเรศ ยอมรับว่าขณะนี้ยังไม่มีข้อมูล ขั้นตอนที่ผู้ให้บริการต้องลงมือปฏิบัติ และยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานเรื่องเงื่อนไขในการให้ผู้ป่วยยินยอมมอบข้อมูลสุขภาพ กับระบบ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการให้บริการ
‘ยอมรับว่าเราเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เชื่อว่าเมื่อเข้าใจพฤติกรรม รูปแบบ และจุดอ่อนการให้บริการแล้ว ก็สามารถออกเป็นประกาศใหม่เพิ่มเติมได้ในอนาคต โดยเฉพาะถ้ายึดกับสถานพยาบาลเดิมก็จะจัดการได้ง่าย เราอาจจะก้าวช้าในช่วงแรก แต่เชื่อว่าถ้าทุกอย่างเกิดขึ้นแล้ว เราจะไปได้เร็ว’
***ไม่รักษาทุกโรค
ไม่ใช่ทุกโรคที่จะใช้โทรเวชได้อย่างปลอดภัย เห็นได้ชัดจากประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่เขียนว่า ‘ให้เป็นไปตามมาตรฐานของวิชาชีพ’ ประเด็นนี้ต้องรอให้แพทยสภาบัญญัติออกมาว่าโรคใดเหมาะ เบื้องต้น มีการหารือกันอยู่ว่าต้องเป็นโรคที่เหมาะสมเท่านั้น และต้องเป็นโรคไม่ซับซ้อน
หากโทรเวชนั้นมีการใช้ ‘AI’ หรือปัญญาประดิษฐ์ในการประเมินอาการป่วย ระบบนั้นก็จะต้องผ่านกระบวนการของสาธารณสุขด้วย โดยเฉพาะถ้า AI นั้นเป็นเครื่องมือแพทย์ จะต้องผ่าน อย. และเป็นไปตามกฎหมายทุกขั้นตอน และหากเป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายยาระบบนั้นก็ต้องผ่านมาตรฐานของสภาเภสัช
แปลว่าทุกอย่างจะไหลเข้าขั้นตอนเดิม เพียงแต่ปรับให้เป็นโทรเวชเท่านั้น โดยส่วนที่ยังต้องรอการกำหนดให้ชัดเจนคือการโอนย้ายข้อมูลระหว่างสถานพยาบาล เพราะแม้ข้อมูลจะถูกระบุว่าเป็นของคนไข้อยู่แล้ว และเวลาไปโรงพยาบาล ผู้ป่วยก็สามารถขอข้อมูลได้ แต่ประเด็นนี้อาจเป็นขั้นต่อไปที่จะมีการประกาศ เพื่อให้ผู้ป่วยนำข้อมูลตัวเองไปใช้ประโยชน์มากขึ้นบนระบบโทรเวช
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการนำร่องทดลองให้บริการโทรเวชอย่างจริงจัง เช่น จังหวัดปัตตานี ที่ผู้ป่วยเบาหวานสามารถตรวจติดตามและปรึกษากับแพทย์โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล แต่การไม่มีอุปสรรคทำให้ผู้ป่วยอยากเดินทางไปพบแพทย์โดยตรง จนเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 จึงเป็นโอกาสดีในการนำระบบนี้มาใช้ให้แพร่หลาย
นอกจากนี้ ยังมีจักษุแพทย์ที่มีจำนวนจำกัดในประเทศไทย แต่กำลังจะให้บริการอย่างทั่วถึงยิ่งขึ้นผ่านระบบไอที โดยมีเจ้าหน้าที่ถ่ายภาพดวงตาของผู้ป่วยแล้วส่งให้จากระยะไกล รวมถึงกลุ่มโรคสุขภาพจิต ที่ทางกรมสุขภาพจิตพยายามผลักดันมากให้มีระบบโทรเวช เชื่อว่าประเทศไทยจะมีเทคโนโลยีโทรเวชลักษณะนี้มากขึ้นในอนาคต
นพ.ธเรศ ย้ำว่าประกาศนี้เน้นครอบคลุมบริการโทรเวชไทยเท่านั้น เท่ากับว่ายังไม่มีความชัดเจนใดสำหรับบริษัทประกันชีวิตบางแห่งที่ชูประเด็นให้ลูกค้าสามารถรักษาโรคซับซ้อนกับแพทย์ต่างประเทศได้ผ่านระบบเทเลเมดิซีน
‘เป็นไปได้ยาก เพราะคณะทำงานพิจารณากฎหมายให้บังคับใช้กับบริการที่ขอในประเทศไทย แต่ถ้าเป็นการส่งฟิล์มหรือข้อมูลอื่นอาจเข้าข่ายการปรึกษาทางการแพทย์ หรือการปรึกษาทางวิชาชีพ ซึ่งจะไม่ใช่เรื่องของผู้ให้บริการ ดังนั้น บริการจากต่างประเทศ จึงไม่เข้าข่ายของกรม’
***ศิริราชนำร่องหมื่นราย
รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลศิริราช ให้ข้อมูลว่า บริการ ‘พบแพทย์ออนไลน์’ ของศิริราชนั้นมีผู้ใช้ราวหมื่นคนแล้ว โดยกล่าวถึงโอกาสและความท้าทายของโทรเวชไทย ว่า ช่วงก่อนโควิด-19 ทุกฝ่ายยัง ‘กล้าๆ กลัวๆ’ แต่เมื่อมีวิกฤตให้หมอและคนไข้ไม่ควรมาเจอกัน ก็พบว่าระบบนี้มีประโยชน์โดยเฉพาะหลายเรื่องที่ไม่คิดว่าจะทำการแพทย์ทางไกลได้ เช่น การผ่าตัดหัวใจ ซึ่งเมื่อได้ทำก็เห็นโอกาสว่าต่อให้โควิด-19 หมดไป ก็จะยังทำต่อ เพื่อลดการมาโรงพยาบาลลง ขณะที่ปัญหาท้าทายคือแอปโทรเวชที่อาจมองว่าใช้งานไม่ยาก ผู้สูงอายุเล่นได้ แต่ก็ยังพบปัญหาดาวน์โหลดยาก ทำให้การพยายามให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการได้สะดวก ยังเป็นจุดที่ท้าทายอยู่
‘โจทย์ของเราคือผู้ป่วยมาโรงพยาบาลไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้ได้รับยา และอีกส่วนคือให้ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลให้สั้นที่สุด โดยที่ยังได้รับยา ระบบพบแพทย์ออนไลน์ของศิริราชจึงเกิดขึ้นผ่านแอปศิริราชคอนเนค สามารถลงทะเบียนและรับรองสิทธิได้ครบ รวมทั้งสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค สามารถรับยาทางไปรษณีย์และใช้ Line คุยกับหมอ มีระบบ OTP เพื่อระบุตัวตนว่าเป็นผู้ป่วยรายนั้นจริง ยอดใช้งานระบบถึงปัจจุบันมี 7 พันกว่าราย หากรวมก่อนนี้ที่รับบริการผ่านโทรศัพท์ ก็รวมกว่าหมื่นรายแล้ว’
แพทย์และพยาบาลศิริราชมีการใช้ระบบเพื่อประชุมกันเอง ขณะเดียวกัน ก็เพิ่มโอกาสในการดูแลผู้ป่วยด้วยการทำบริการ ‘เทเลกายภาพ’ ให้คนไข้ที่ต้องการรับกายภาพไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ซึ่งในอนาคตอาจขยายแอปให้ทำงานร่วมกับอุปกรณ์สวมใส่ได้ หรือถ่ายรูปอาหารที่กิน เพื่อรับคำแนะนำสำหรับปรับปรุงการออกกำลังกายและรับประทานอาหาร รวมถึงเครื่องมือสำหรับสอดที่ทรวงอกเพื่อให้หมอฟังเสียงปอดได้แม้คนไข้จะอยู่ที่บ้าน
ที่สำคัญ แอปโทรเวชของศิริราชมีแผนขยายไปใช้เทคโนโลยี 5G, Cloud และ AI ทำให้ระบบมีความอัจฉริยะมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.เชิดชัย ให้คะแนนว่าศิริราชยังไปไม่ถึงครึ่งทาง เพราะหากคะแนนเต็ม 5 ระบบโทรเวชของศิริราชจะอยู่ที่ระดับ 1.5-2 เท่านั้น เนื่องจากแม้จะมีแอปพลิเคชัน มีการเก็บบันทึก และตรวจติดตามแล้ว แต่ก็ยังพบว่าการเข้าถึงยังถูกจำกัด ทั้งเรื่องเทคโนโลยีและความเร็ว ซึ่งการขับเคลื่อนจากระดับ 2 ไปถึง 5 นั้นมีการวางแผนแล้ว นั่นคือการทำโปรเจกต์ AI และ 5G เชื่อว่าจะทำได้ใน 1 ปี ให้การใช้งานขยายตัวได้มากขึ้น
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้เรื่องการเชื่อมข้อมูลในแอประหว่างโรงพยาบาล รศ.นพ.เชิดชัย ชี้ว่าการเชื่อมข้อมูลมีหลายระดับ ทำให้อาจจะต้องมีการพูดคุยให้ชัดเจนทั้งด้านเทคโนโลยีและแนวทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการบูรณาการระบบข้อมูลซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่มากในการทำให้ข้อมูลโรงพยาบาลเชื่อมกัน โดยให้ผู้ป่วยเป็นผู้เปิดประตูด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน เรียกว่าต้องเป็นโปรเจกต์ระดับชาติทีเดียว
***มีทั้งวิกฤตและโอกาส
ดร.เจน จุฑา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Mor Coporation ให้ความเห็นจากประสบการณ์พัฒนาบริการโทรเวชจนเริ่มนำร่องใช้งานตั้งแต่ปี 2014 ว่าการแพทย์ออนไลน์ในประเทศไทยนั้นมีโอกาสสูง แต่ก็มีข้อจำกัดมากเช่นกัน ขณะที่ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ประธานบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เน้นว่า ระบบโทรเวชไทยควรให้ความสำคัญต่อความเชื่อมโยงการวิเคราะห์และวิดีโอ เพราะการเชื่อมโยงจะทำให้การวินิจฉัยดีขึ้นกว่าระบบคอนเฟอเรนซ์ที่ไม่มีข้อมูลคัดกรองเลย
ดร.เจน ระบุว่า ข้อจำกัดแรกของระบบการแพทย์ทางไกลคือ ขั้นตอนที่ผู้ป่วยจะต้องเข้ามาใช้บริการ เนื่องจากทุกอย่างต้องมีขั้นตอนที่ย้อนรอยได้เสมอ ซึ่งจำเป็นมากสำหรับการคืนยา หรือความต้องการอื่น จุดนี้ต้องออกแบบขั้นตอนให้สอดคล้องและครอบคลุมที่สุด เรื่องที่ 2 คือ เรื่องข้อมูล เพราะหากผู้ป่วยเดินทางมา รพ. จะสามารถเข้าให้ข้อมูลได้ตลอด แต่เมื่อผู้ป่วยไม่ได้เดินทางมา ระบบจะต้องออกแบบให้ติดตามตัวผู้ป่วยได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงแพทย์ แต่ทุกส่วนที่ต้องให้บริการผู้ป่วยก็จะต้องเข้าถึงผู้ป่วยได้ทั่วถึง เรื่องที่ 3 คือ บิสิเนสโมเดล อาจไม่ต้องกำไรสูงขึ้น แต่ต้องไม่มีต้นทุนเพิ่มจนเป็นภาระให้ รพ.
‘ถ้าไทยจะเป็นผู้นำด้านการแพทย์ทางไกล ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเราทำสำเร็จ เรื่องเทคนิคอาจไม่น่ากังวล แต่เรื่องบิสิเนสโมเดล ยังต้องคิดกันอีก ผู้ให้บริการอาจไม่หวังให้ระบบโทรเวชลดเวลาให้การปฏิบัติงานทำได้เร็วขึ้น แต่ขอให้ไม่ใช้เวลามากจนเกินไป’
ด้านณัฐวุฒิ ให้ข้อมูลว่า ช่วงโควิด-19 ทรูได้พัฒนาแว่น AR Glass (YEyes) ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการผู้ป่วยระยะไกล และระบบ True Teleclinic เพื่อคัดกรองใน 5 รพ. ในรูปแบบแชตถามตอบ 10 คำถามเพื่อประเมินความเสี่ยง จากการคัดกรองช่วงโควิด-19 ที่มีผู้ใช้หลักพันราย เริ่มมีการใช้แชตบ็อตเพื่อคัดกรองผู้ป่วยนอกเหนือช่วงโควิด-19 ในบาง รพ. แต่ยังไม่เปิดเผยเพราะยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบ
‘การให้ AI เข้าใจภาษาคำเฉพาะทางการแพทย์ ยังเป็นจุดที่บริษัทต้องเรียนรู้ ถ้าฐานข้อมูลของประเทศมีเพียงพอ ก็จะทำให้ระบบแชตฉลาดขึ้นเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าส่วนการชำระเงิน นัดหมาย พวกนี้ไม่ยาก แต่จะทำให้ระบบการแพทย์ทางไกลมีประสิทธิภาพสูงขึ้นก็ยังท้าทาย’ ณัฐวุฒิ ระบุ ‘ทรูไม่ได้เน้นที่การประเมินความเสี่ยงในผู้ที่เดินทางไปหรืออยู่ในต่างประเทศ แต่สิ่งที่เน้นคือความเชื่อมโยงการวิเคราะห์และระบบวิดีโอ ต้องมีการเชื่อมโยงให้หมอวินิจฉัยได้ดี ไม่ใช่ว่าระบบคอนเฟอเรนซ์ไม่มีข้อมูลคัดกรองเลย’
ณัฐวุฒิ ยกตัวอย่างประเทศจีนที่ผลักดันให้โทรเวชเติบโตเพื่อแก้ปัญหาประชากรเข้าถึงระบบสาธารณสุขยาก จีนเริ่มต้นก่อนโดยใช้ระบบวิเคราะห์ข้อความล้วน ไม่มีวิดีโอ แต่ไทยมาเริ่มในตอนที่มีวิดีโอแล้ว การใช้ AI กับวิดีโอเพื่อวิเคราะห์แทนข้อความจึงท้าทายมากกว่า
ถ้าทำได้ ‘โทรเวชไทย’ คงไปได้ถึงดวงดาว