xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผน 4 CEO ยักษ์ “Apple, Google, Amazon และ Facebook” พาบริษัทหนีข้อหาผูกขาดแบบเนียนๆ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


Jeff Bezos โอดไม่เคยผูกขาด เพราะธุรกิจของ Amazon มีสัดส่วนน้อยกว่า 4% ของตลาดค้าปลีกโดยรวมในสหรัฐอเมริกา
ผ่าแนวทางของ 4 ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทไอทีรายใหญ่สัญชาติอเมริกันที่ต้องเข้าชี้แจงในการพิจารณาคดีต่อต้านการผูกขาดที่วุฒิสภาอเมริกันจัดขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคม 2020 แถลงการณ์ความยาว 4-8 หน้ากระดาษทำให้โลกรู้ว่าทิม คุกจะปกป้องแอปเปิล (Apple) จากข้อหาผูกขาดทางการค้าได้อย่างไร เช่นเดียวกับซุนดาร์ พิชัย ที่ต้องถือดาบปกป้องกูเกิล (Google) ยังมีเจฟฟ์ เบโซส ที่ต้องโอบอุ้มอะเมซอน (Amazon) ให้พ้นภัย และมาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก ที่ต้องแย้งทุกข้อหาว่าเฟซบุ๊ก (Facebook) ไม่ได้มีการผูกขาดการค้า จนทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์ และปิดกั้นการแข่งขันที่ยุติธรรม

ทุกแถลงการณ์ของทุกบริษัทนั้นมีความคล้ายคลึงกัน ทั้งการกล่าวถึงความรักชาติและชาวอเมริกัน ยังมีการเอ่ยถึงประโยชน์ที่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทตัวเองได้มอบให้แก่ผู้บริโภคและธุรกิจขนาดเล็กในประเทศ ที่สำคัญคือ ทั้ง 4 ค่ายปฏิเสธทุกข้อหาโดยยืนยันว่าข้อหานั้นตรงกันข้ามกับความเชื่อหรือค่านิยมของบริษัท และยืนยันว่าความสำเร็จของบริษัทล้วนมาจากการแข่งขันที่รุนแรง

“เราเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง”

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ซีอีโอแต่ละคนเตรียมไว้คือ การแข่งขันที่บริษัทต้องเผชิญ ยกตัวอย่างเช่น เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) ที่ชี้ว่าธุรกิจของ Amazon มีสัดส่วนน้อยกว่า 4% ของตลาดค้าปลีกโดยรวมในสหรัฐอเมริกา และกำลังเผชิญกับการแข่งขันจากคู่แข่งที่มีชื่อเสียงมากกว่า เช่น วอลล์มาร์ท (Walmart) และทาร์เก็ต (Target) ซึ่งให้บริการที่ Amazon ไม่สามารถแข่งขันได้

สำหรับทิม คุก (Tim Cook) นั้นเตรียมยกมหากาพย์ที่ Apple ต้องแข่งขันกับผู้ผลิตอุปกรณ์ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) โดยบอกว่า บริษัทต้องลงแรงกับตลาดสมาร์ทโฟนมีการแข่งขันที่ดุเดือด และบริษัทมากมาย เช่นซัมซุง (Samsung) แอลจี (LG) หัวเว่ย (Huawei) และกูเกิล (Google) ก็สามารถสร้างธุรกิจสมาร์ทโฟนที่ประสบความสำเร็จเช่นกัน

แถลงการณ์ยังถ่อมตัวสุดๆ ว่า Apple ไม่มีส่วนแบ่งการตลาดที่โดดเด่นในตลาด ความจริงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับกลุ่มสินค้า iPhone เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับทุกประเภทผลิตภัณฑ์ที่บริษัททำตลาด

Mark Zuckerberg ไม่เอ่ยชื่อ Google บอกเพียงว่า Facebook เผชิญกับการแข่งขันระดับนานาชาติ
กรณีของซุนดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) นั้นน่าสนใจ เพราะ Google อ้างว่าวันนี้ผู้คนมีวิธีในการค้นหาข้อมูลมากกว่าที่เคยเป็นมา และยิ่งมีช่องทางเพิ่มมากขึ้นนอกเหนือบริบทของเครื่องมือค้นหาของ Google เพราะผู้ใช้สามารถถาม Alexa, ค้นหาข่าวบน Twitter หรือขอข้อมูลจากเพื่อนผ่าน WhatsApp รวมถึงรับคำแนะนำเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองสนใจผ่าน Snapchat หรือ Pinterest ขณะที่หากต้องการค้นหาผลิตภัณฑ์ออนไลน์ ผู้ใช้อาจไปที่ Amazon, eBay, Walmart หรือผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซรายใดรายหนึ่งซึ่งมีคำสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เกิดขึ้นจำนวนมาก

งานนี้พิชัย ไม่ได้กล่าวถึง Facebook โดยตรง แต่ระบุว่า Google ต้องเผชิญกับการแข่งขันในตลาดโฆษณาดิจิทัล ขณะที่ซัคเกอร์เบิร์ก (Zuckerberg) ก็ไม่เอ่ยชื่อ Google บอกเพียงว่า Facebook เผชิญกับการแข่งขันระดับนานาชาติ ที่สามารถเข้าถึงตลาดที่ Facebook ยังเข้าถึงไม่ได้

ใครๆ ก็รักผลิตภัณฑ์ของเรา

ทั้ง 4 ยักษ์ไอทียืนยันว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทล้วนมีประโยชน์ ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากการใช้งาน ธุรกิจอื่นๆ ในประเทศก็ยังได้รับผลดีตามไปด้วย

ทิม คุก ชี้ให้เห็นว่า iPhone มีคะแนนความพึงพอใจ 99% ในแบบสำรวจลูกค้า และบริษัทก็มีการลงทุนในเครื่องมือสำหรับนักพัฒนาที่ทั้งทรงพลังและง่ายจนทำให้นักเรียนในโรงเรียนประถมสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันได้

Sundar Pichai อ้างว่าวันนี้ผู้คนมีวิธีในการค้นหาข้อมูลมากกว่าที่เคยเป็นมา และมีช่องทางเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้ยึดติดกับ Google
สำหรับซุนดาร์ พิชัย ยกแม่น้ำร้อยสายมาสาธยายว่า ลูกค้าของ Google จะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงบริการฟรีเช่น Search, Gmail, Maps และ Photos สำหรับ Android หัวเรือใหญ่ Google ย้ำว่า Android เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้สมาร์ทโฟนราคาถูกออกสู่ตลาดได้ ทั้งหมดนี้เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กล้วนสามารถใช้บริการของ Google เพื่อเสนอบริการออนไลน์และอยู่รอดในช่วงวิกฤตได้

ขณะที่เบโซสโชว์ว่า Amazon ช่วยให้ผู้ขายหลายพันรายขยายธุรกิจจนเติบโตบน Amazon และบริษัทก็พยายามเสนอบริการใหม่ให้แก่ลูกค้าก่อนที่ลูกค้าจะรู้ว่าตัวเองต้องการด้วยซ้ำ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะแรงผลักดันจากภายในเพื่อปรับปรุงการบริการของ Amazon รวมถึงการเพิ่มประโยชน์ และคุณสมบัติผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งสามารถลดต้นทุนราคาและเร่งเวลาการจัดส่งได้

ด้านซัคเกอร์เบิร์ก ยืนกรานกระต่าย 2 ขาว่า บริการของ Facebook ช่วยให้ธุรกิจนับล้านติดต่อกับลูกค้า รวมทั้งช่วยเหลือลูกค้าในการติดต่อซึ่งกันและกัน

แบ่งกันชูคนละเรื่อง


นอกจากนี้ แต่ละบริษัทยังมีความพยายามชี้ข้อดีที่บริการของตัวเองทำให้เกิดขึ้นได้ในสังคม เช่น Amazon ที่ชูประเด็นการสร้างงานนับแสนตำแหน่งทั่ว 42 รัฐ โดยพนักงานของ Amazon ทำเงินขั้นต่ำ 15 เหรียญต่อชั่วโมง มากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลกลาง 2 เท่า ขณะที่ Apple ชูประเด็นนโยบายร้านค้าแอปที่มีความยุติธรรม เท่าเทียมกันกับนักพัฒนาทุกคน โดยค่าคอมมิชชัน 30 เปอร์เซ็นต์ที่เรียกเก็บจากการซื้อขายแอปผ่าน App Store ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำกว่าคู่แข่ง โดยหลังจากที่ App Store เริ่มต้นด้วย 500 แอป วันนี้ App Store ให้บริการมากกว่า 1.7 ล้านแอป และมีเพียง 60 แอปเท่านั้นที่เป็นซอฟต์แวร์ของ Apple ทำให้เห็นชัดว่า Apple สามารถเปิดประตูอุตสาหกรรมนี้ให้กว้างขึ้น

Tim Cook เตรียมฉายมหากาพย์ที่ Apple ต้องแข่งขันกับผู้ผลิตอุปกรณ์ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์
ด้าน Facebook พยายามชี้ให้เห็นข้อดีของการซื้อกิจการอินสตาแกรมและว็อตสแอป (Instagram และ WhatsApp) ว่าเป็นเครื่องมือที่สร้างคู่แข่งให้ธุรกิจในประเทศ เพื่อปกป้องไม่ให้ใครมองว่าการเข้าซื้อ 2 กิจการนี้เป็นการกลืนคู่แข่งของ Facebook ย้ำว่าการซื้อกิจการ Instagram และ WhatsApp ทำให้โครงสร้างพื้นฐานของ Facebook มีความเสถียรและควบคุมสแปมได้ นอกจากนี้ ธุรกิจในสหรัฐฯ และพื้นที่ทั่วโลกยังได้รับประโยชน์จากความสามารถในการเชื่อมต่อกับระบบโฆษณาของ Facebook ได้เต็มที่ ทำให้ผลักดันการสร้างรายได้มากขึ้น โดยบอกว่าผลประโยชน์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นหากบริษัทไม่ได้ซื้อกิจการ Instagram และ WhatsApp

ส่วน Google ร่ายยาวถึงการลงทุนที่ช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันของวงการเทคโนโลยีอเมริกัน ซึ่งต้องต่อสู้กับความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นของจีน โดยกล่าวตรงไปตรงมาว่าการลงทุนของ Google มีส่วนทำให้สหรัฐฯ สามารถเป็นผู้นำโลกได้ เนื่องจากทุกปี Google เป็นหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของโลกในด้านการวิจัยและพัฒนา ล่าสุดคือปีที่แล้วที่ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของ Google เพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าในรอบ 10 ปี จาก 2.8 พันล้านดอลลาร์ เป็น 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ คาดว่า Google จะพาสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ก้าวไปสู่ระบบควอนตัมคอมพิวติ้งเต็มรูปแบบ รวมถึงความก้าวหน้าใหม่ทางการแพทย์ และแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ซีอีโอทั้ง 4 บริษัทจะเป็นพยานกล่าวต่อหน้ารัฐสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 29 ก.ค.2020 เพื่อชี้แจงตามกฎหมายต่อต้านการผูกขาดทางการค้า โดยการสอบสวนของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และคณะกรรมการการค้าของสหรัฐฯ ครั้งนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการมีอิทธิพลในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ ซึ่ง Google นั้นตกเป็นประเด็นเรื่องการครองตลาดโฆษณาออนไลน์ ส่วน Facebook ถูกเพ่งเล็งเรื่องการซื้อกิจการที่ขวางการแข่งขันในตลาดโซเชียลเน็ตเวิร์ก ด้าน Apple ถูกตรวจสอบเรื่องการผูกขาดตลาดแอปพลิเคชัน ขณะที่ Amazon ถูกเพ่งเล็งเรื่องการปฏิบัติต่อผู้ขาย


กำลังโหลดความคิดเห็น