บอร์ดทีโอที มีมติรับทราบผลการดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐสามารถให้บริการประชาชนในยุคโควิด-19 และ ตอบโจทย์ New Normal ได้เป็นอย่างดี
นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 6/2563 วันที่ 18 พ.ค. 2563 มีมติรับทราบผลการดำเนินการโครงการเน็ตประชารัฐว่าสามารถบริการประชาชนในช่วงเวลานี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพของโครงการ อีกทั้งยังสามารถรองรับวิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal)
ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นหลัก
โครงการเน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้าน ซึ่งดำเนินการเมื่อปี 2559 โดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มอบหมายให้ ทีโอที เป็นผู้ดำเนินโครงการ ทำให้คนไทยทุกระดับสามารถใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสายเคเบิลใยแก้วนำแสงได้ที่ความเร็วจากเดิม 30 Mbps/10 Mbps ปรับเพิ่มเป็น 100 Mbps/50 Mbps โดยในช่วงที่ผ่านมา มีปริมาณการรับส่งข้อมูลผ่าน Internet Gateway สูงขึ้นถึง 24%
ส่วนการใช้บริการอินเทอร์เน็ตในจุด Free WiFi ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่ประชาชนใช้ได้ในรัศมี 20-30 เมตรได้ฟรีอีกด้วย โดย ทีโอที ได้จัดตั้งศูนย์ Network Operation Center (NOC) ศูนย์บริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยโครงข่ายเน็ตประชารัฐ (Security Management Center : SMC) และศูนย์ข้อมูลรับแจ้งเหตุขัดข้องผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐประชาชน GCC 1111 กด 88 เพื่อเฝ้าระวังและตรวจสภาพการให้บริการแบบ เรียลไทม์ 24 ชั่วโมง
โครงการเน็ตประชารัฐ เป็นโครงการที่ ทีโอที ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส โดยมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ รวมถึงเรื่องการดำเนินงานจัดซื้อ จัดจ้างในโครงการ จะมีส่วนงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น กรมบัญชีกลาง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ร่วมสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด และยังได้มีการทำสัตยาบรรณกับคณะผู้สังเกตการณ์คุณธรรมในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายในโครงการกว่า 11 สัญญา ซึ่งงบประมาณที่ ทีโอที ได้รับจำนวน 13,000 ล้านบาท แต่ใช้งบดำเนินการเพียง 9,848 ล้านบาท คิดโดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายในการวางโครงข่ายประมาณ 300,000 บาทต่อหมู่บ้าน ประกอบด้วย ค่าติดตั้งโครงข่ายและอุปกรณ์ ค่าบริการอินเทอร์เน็ตและซ่อมบำรุง และอบรมประชาชนกว่า 1 ล้านคน เพื่อเป็นเน็ตอาสาประชารัฐในการสื่อสารทำความเข้าใจการใช้โครงข่าย
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงข่ายแบบ Open Access ซึ่งสามารถเปิดให้ผู้ให้บริการทุกรายเข้ามาใช้โครงข่ายเพื่อให้บริการประชาชนได้ ไม่มีการผูกขาดเฉพาะเพียง ทีโอที เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันทุกโอเปอร์เรเตอร์ก็ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงดีอีเอส มาใช้โครงข่ายเน็ตประชารัฐ เพื่อให้บริการประชาชน ซึ่งค่าบริการนี้จะขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการแต่ละราย
สำหรับ ทีโอที มีโปรโมชันพิเศษให้ประชาชนเลือกใช้งาน อัตราค่าบริการตามความเร็วที่ลูกค้าเลือกใช้ตามความต้องการ ส่วนการเป็นลูกค้าหากใช้บริการอินเทอร์เน็ตของ ทีโอที อย่างยาวนานก็จะได้รับสิทธิพิเศษมากมาย อาทิ ยกเว้นค่าติดตั้ง ค่าเดินสายภายใน ค่าอุปกรณ์ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันจากนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงดีอีเอส ที่ให้ ทีโอที จัดทำโปรโมชั่นช่วยเหลือประชาชน ในช่วงโรคระบาดโควิด-19 ที่อัตราความเร็ว 100 Mbps/50 Mbps เพียงเดือนละ 390 บาท โดยให้ใช้ฟรี 3 เดือนแรก ซึ่งปัจจุบันมี ผู้ลงทะเบียนใช้งานโครงข่ายเน็ตประชารัฐแล้วกว่า 8.4 ล้านราย ทั่วประเทศ มีผู้ใช้บริการแล้วกว่า 250,000 ครัวเรือน