ทีโอที กางแผนปี 63 เดินหน้าสู่องค์กรดิจิทัลเต็มรูปแบบภายใน 3-5 ปีข้างหน้า พร้อมสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ รวมประมูล 5G คาดปี 62 มีกำไรสุทธิ 300 ล้านบาท และมีรายได้ 54,000 ล้านบาท
น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ เปิดเผยว่า นโยบาย และทิศทางการดำเนินงานในปี 2563 บริษัทมุ่งเดินหน้าสู่องค์กรดิจิทัลเต็มรูปแบบ เพื่อยกระดับขีดความสามารถขององค์กรในทุกมิติ ทั้งกระบวนการทำงานและพัฒนารูปแบบธุรกิจดิจิทัลใหม่ๆ โดยจะพลิกบทบาทเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลเต็มรูปแบบ ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า
พร้อมตั้งเป้ามีรายได้จากธุรกิจดิจิทัลไม่น้อยกว่า 30% ของรายได้จากการดำเนินการของบริษัทเอง มีสัดส่วนพนักงานดิจิทัลประมาณ 30% ของพนักงานทั้งหมด เพื่อให้บริษัทก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจดิจิทัลของประเทศ
นอกจากนี้ บริษัทมุ่งเน้นให้องค์กรอยู่รอดจากการทำธุรกิจด้วยตนเอง
โดยสร้างการเติบโตจากบริการดิจิทัล กำหนดไว้ว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า บริษัทจะมีรายได้จากการดำเนินการของบริษัทเอง 40% และรายได้จากพันธมิตร 60% รวมถึงขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจด้านดิจิทัลที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ด้วยการวางกลยุทธ์ทำธุรกิจที่มุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมและบริการดิจิทัลแก่ลูกค้าตามกลุ่มบริการที่สำคัญ ทั้งบริการโครงสร้างพื้นฐาน บริการโทรศัพท์ประจำที่ บริการบรอดแบนด์ทั้งทางสายและไร้สาย และบริการดิจิทัล
สำหรับกลุ่มบริการในธุรกิจเดิม ยังคงเป็นรายได้หลักมีสัดส่วนสูงถึง 90% ของรายได้จากการให้บริการ โดยบริษัทยังคงมุ่งเน้นพัฒนาการให้บริการบรอดแบนด์ทางสายด้วยเทคโนโลยี FTTx และไร้สายบนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่านความถี่ 2300 MHz ทั้งการขยายพื้นที่ครอบคลุมการบริการมากขึ้น และพัฒนาคุณภาพโครงข่ายหลัก
ขณะที่บริการโทรศัพท์ประจำที่ มีแผนเพิ่มประสิทธิภาพระบบชุมสายโทรศัพท์ ตามแผนงานการปรับเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่จาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก ส่วนบริการโครงสร้างพื้นฐาน มุ่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ และพัฒนาให้ทันสมัยรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอนาคต อาทิ โครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง ท่อร้อยสาย และเสาโทรคมนาคม รวมถึงบริการสื่อสารข้อมูลภายในประเทศและระหว่างประเทศ
ด้านกลุ่มบริการธุรกิจใหม่ บริษัทเร่งลงทุนเพื่อสร้างรายได้ ทั้งการสรรหาพันธมิตรร่วมดำเนินในธุรกิจดิจิทัล และการขยายฐานลูกค้าสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงพัฒนาสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เป็นแหล่งรายได้ใหม่ โดยบริการดิจิทัล ทั้งบริการโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม และบริการดิจิทัลต่างๆ เช่น บริการ Cloud Business Service, Cyber Security, Application & Software จะมีการเติบโตเฉลี่ย 26% ต่อปี ส่วนบริการ ICT Solution & Manage Service เน้นการให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร ครอบคลุมงานออกแบบโซลูชั่น การจัดหาอุปกรณ์ตามความต้องการของลูกค้า รวมถึงการบริหารจัดการระบบหรือเครือข่ายภายในของลูกค้า
ขณะเดียวกัน ในปี 2563 บริษัทเตรียมพร้อมเพื่อสนับสนุนและรองรับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้แก่ โครงการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ หรือโครงการเน็ตประชารัฐ โดยให้บริการต่อเนื่องครอบคลุมการบริหารจัดการและบำรุงรักษาโครงข่ายเน็ตประชารัฐ, โครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (Big Rock) โดยขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และการปรับปรุงโครงข่ายที่เป็นเทคโนโลยีเดิมให้มีประสิทธิภาพด้วยเคเบิลใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ไปยังโรงเรียน โรงพยาบาลของรัฐที่ยังไม่มีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และขยายความจุอินเทอร์เน็ตให้กับโรงพยาบาล เพื่อรองรับการตรวจรักษาทางไกล
รวมไปถึงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยบริษัทเตรียมแผนงานรองรับภายใต้โครงการEEC อาทิ แผน Infrastructure EEC, แผนโครงสร้างพื้นฐานรองรับ Mobile 5G พื้นที่ EEC, แผนโครงสร้างพื้นฐาน (5G Platform Testbed) สำหรับการทดสอบในพื้นที่ EEC, แผน Smart City Platform, แผนปรับปรุงสื่อสัญญาณ, แผนพัฒนาและยกระดับโครงข่ายบรอดแบนด์ความเร็วสูงภายในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ EEC และแผน Local Network เป็นต้น, โครงการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones : SEZs) โดยบริษัทได้เตรียมแผนงานด้านบริการโทรคมนาคมและบริการดิจิทัล เพื่อรองรับโครงการดังกล่าว
และโครงการพัฒนาโครงข่าย 5G โดยบริษัทมีเป้าหมายในการพัฒนาสู่ 5G Infrastructure & Network Sharing ในลักษณะ Large Scale โดยการนำคลื่น 2300 MHz ของ บริษัทมาพัฒนา รวมถึงยังมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการประมูลคลื่น 5G ตามนโยบายของกระทรวงดิจิทัลฯ
“ในอนาคตบริษัทมีแผนการลงทุนที่มุ่งตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ และขยายการให้บริการบรอดแบนด์ทั้งทางสายและไร้สาย รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณรองรับประมาณ 5,000-8,000 ล้านบาท” น.อ.สมศักดิ์ กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานงวด 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.2562) บริษัทมีกำไรสุทธิก่อนรายการพิเศษอยู่ที่ 2,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากงวดเดียวกันปีก่อน โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน (EBITDA) อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท หากรวมรายการพิเศษเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายพนักงานจากการปรับปรุงบัญชีเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จำนวน 2,200 ล้านบาท บริษัทจะมีกำไรจากการดำเนินงาน (EBITDA) อยู่ที่ 8,300 ล้านบาท
ทั้งนี้ แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2562 บริษัทคาดว่าจะมีผลกำไรก่อนรายการพิเศษอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากรวมรายการพิเศษคาดว่าจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท และมีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 54,000 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการดำเนินงานของบริษัทเอง และรายได้จากการดำเนินงานของพันธมิตร
“บริษัทได้ลงทุนเพื่อสร้างรายได้จากบริการใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มบริการที่เป็น Digital Service รวมถึงรายได้ดำเนินงานตามโครงการภาครัฐ และได้เร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานโดยเน้นการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ” น.อ.สมศักดิ์ กล่าว