xs
xsm
sm
md
lg

ทีโอทีและดีแทคลงนามสัญญาให้บริการ 4G LTE-TDD คลื่น 2300 MHz ครั้งแรกในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บมจ.ทีโอที และ เทเลแอสเสท ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มดีแทค ไตรเน็ต พร้อมกับ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ได้ลงนามในสัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคม และสัญญาการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศระบบ 2300 MHz อย่างเป็นทางการเรียบร้อย เพื่อเปิดให้บริการ 4G LTE-TDD คลื่น 2300 MHz บนแบนด์วิดท์ที่กว้างที่สุดถึง 60 MHz เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำของโลก เป็นประโยชน์ให้กับประเทศในการขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมและทั่วถึงในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประชาชนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนในการใช้งานดาต้าที่เติบโตรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจที่ยั่งยืนของ ทีโอทีด้วย

ภายใต้กรอบความร่วมมือที่มีระยะเวลาถึงปี พ.ศ. 2568 ทีโอที จะเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมจากเทเลแอสเสท ซึ่งเป็นบริษัทลูกของดีแทค ไตรเน็ต เพื่อนำมาสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมสำหรับให้บริการไร้สายความเร็วสูง (Broadband Wireless Access, BWA) ทั้งบริการบรอดแบนด์ไร้สายประจำที่ (Fixed Wireless Broadband) และบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) ผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งความจุโครงข่ายส่วนหนึ่ง (Capacity) ทีโอที ได้นำมาให้บริการตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของลูกค้า และตอบสนองนโยบายของรัฐ และความจุโครงข่าย (Capacity) อีกส่วนหนึ่ง จะนำมาให้บริการแก่บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต ในรูปแบบของการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Roaming) โดย ทีโอที จะมีรายได้จากการให้บริการโรมมิ่งปีละประมาณ 4,510 ล้านบาท

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที เปิดเผยว่า จากแนวนโยบาย แผนการบริหารและมาตรการต่างๆ ของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่กำหนดให้คณะกรรมการทีโอที กำกับดูแลให้ ทีโอที ดำเนินงานตามแผนพลิกฟื้นองค์กร ด้วยการจัดทำ แผนดำเนินงานที่ใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จนมาถึงวันนี้ได้นั้น ทีโอที ได้รับความอนุเคราะห์และความช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน

'ทีโอที ขอขอบคุณ กสทช. ที่อนุญาตให้ ทีโอที ปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ 2300 MHz ที่ใช้งานอยู่เดิม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อนำมาให้บริการเสียง ข้อมูล และพหุสื่อ ภายใต้แผนการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz และที่สำคัญ คือ ทีโอที ต้องขอขอบพระคุณสำนักงานอัยการสูงสุดที่กรุณาให้ข้อสังเกตและข้อคิดเห็นเพื่อปรับปรุงร่างสัญญาจนสมบูรณ์เป็นอย่างดี'

จากผู้สนใจ 6 รายที่เข้าร่วมยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นพันธมิตรคู่ค้าบริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz กลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต เป็นผู้ที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกมาอย่างโปร่งใส รัดกุม ทุกขั้นตอนโดยทีมงานที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ในการสรรหาคู่ค้าระดับโลก ซึ่งก็คือ บริษัท เดเทคอน และไพร์มสตรีท แอดไวเซอรี่ ที่เริ่มกระบวนการคัดเลือกคู่ค้าตั้งแต่ปลายปี 2559 โดยกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการสรรหาคู่ค้าอย่างละเอียด ทั้งทางด้านเทคโนโลยี ผลงาน รวมถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา และตลอดจนผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ ทีโอที มั่นใจได้ว่า พันธมิตรคู่ค้าที่ผ่านการคัดเลือกจากที่ปรึกษาจะส่งเสริมการทำธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะบริการไร้สายของ ทีโอที ในระยะยาว และสร้างหลักประกันด้านการเงินให้กับ ทีโอที ได้เป็นอย่างดี

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ความร่วมมือกับทีโอทีนี้มีนัยสำคัญมากต่อการยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตของคนไทยและการพัฒนาประเทศ เพราะดีแทคได้นำคลื่น 2300 MHz ที่มีความกว้างที่สุดถึง 60 MHz มาเพิ่มคุณภาพบริการ และพลิกประสบการณ์การใช้งานดิจิทัลของผู้บริโภคที่จะสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้เร็วขึ้น ลื่นขึ้นมากกว่าเดิม การนำคลื่น 2300 MHz มาเปิดให้บริการครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยให้อยู่ในอันดับผู้นำของกลุ่มประเทศอาเซียน ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย และช่วยกระตุ้นกระบวนการการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัล

'ดีแทคต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ทำให้การลงนามในสัญญานี้ประสบความสำเร็จ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) บอร์ดทีโอที และ กสทช. ทั้งนี้ ดีแทคมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้โอกาสร่วมมือกับทาง ทีโอที เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ดิจิทัล' นายลาร์ส กล่าว
ยืนจากซ้ายไปขวา 1. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ กรรมการ ทีโอที 2. นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการ ทีโอที 3. พลเอก สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์, ประธานกรรมการ ทีโอที 4. นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ ดีแทค 5. นายจุลจิตต์ บุณยเกตุ กรรมการอิสระ ดีแทค 6. นางชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์ กรรมการอิสระ ดีแทค  นั่งจากซ้ายไปขวา 1. นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย ทีโอที 2. นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที 3. นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค 4. นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ ดีแทค
จากการร่วมงานเตรียมการจัดทำร่างสัญญากับกลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต มาเป็นระยะเวลาหนึ่งนั้น ทำให้ ทีโอที รู้สึกยินดีที่ได้ทำธุรกิจร่วมกับกลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต ซึ่งมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการผลักดันประเทศสู่ดิจิทัล และยกระดับศักยภาพของสังคมไทย ด้วยความร่วมมือนี้ นอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในเชิงธุรกิจทั้งกับ ทีโอที และกลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต แล้ว ทีโอที มั่นใจว่า ด้วยศักยภาพขององค์กรที่มีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถเป็นหน่วยงานหนึ่งในการดำเนินการตามแนวนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล ในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทันสมัยของประเทศทั้งโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และโครงข่ายบรอดแบนด์ไร้สายประจำที่ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาโอกาสใหม่ๆ ในการทำธุรกิจให้กับทุกภาคส่วน และในท้ายที่สุดนี้ ทีโอที และกลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จะสามารถร่วมมือกันพัฒนาและนำเสนอบริการต่อยอดธุรกิจรูปแบบใหม่ด้วยนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การดำเนินชีวิตดิจิทัล เพิ่มศักยภาพในการดำเนินภารกิจประจำวันให้ทั้งกับภาคประชาชน หน่วยงานของรัฐ และผู้ประกอบการเอกชนทั่วไป ส่งผลก่อให้เกิดประโยชน์มากมายต่อประเทศชาติในภาพรวม

โครงข่าย 4G LTE-TDD บนคลื่น 2300 MHz จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดของการใช้งานทรัพยากรคลื่นความถี่ด้วยเทคโนโลยี Time Division Duplex (TDD) ในทางเทคนิค TDD คือการใช้งานคลื่นความถี่แบนด์เดียวทั้งรับและส่งข้อมูลในเวลาเดียวกัน จึงทำให้เพิ่มศักยภาพการรองรับรูปแบบการใช้งานดาต้าได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ จากการรายงานของสมาคมจีเอสเอ็ม หรือ GSMA Intelligence การขยายโครงข่าย LTE-TDD ของผู้ประกอบการทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยคาดว่า TDD จะมีสัดส่วนทั่วโลกถึง 22% ในปี พ.ศ. 2563


กำลังโหลดความคิดเห็น