xs
xsm
sm
md
lg

กดปุ่ม “dtac-t” คลื่น 2300 MHz คาดเริ่มให้บริการภายในมิถุนายนนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดีแทค คาดเริ่มเปิดให้บริการคลื่น 2300 MHz ได้ภายในไตรมาส 2 โดยจะเริ่มจากกรุงเทพฯชั้นใน 10 พื้นที่ก่อน ก่อนที่จะเปิดให้บริการ 37 จังหวัดภายในสิ้นปีนี้ และครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2562

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวย้อนไปว่า ในช่วงอดีตที่ผ่านมา ทีโอที เคยใช้คลื่น 2300 MHz ในการให้บริการโทรศัพท์ทางไกลชนบท ภายใต้เทคโนโลยี TDMA ตั้งแต่ปี 2535 จนกระทั่งบริการโทรศัพท์พื้นฐานมีการขยายออกไป บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้บริการดังกล่าวไม่มีความจำเป็นอีก

“ครั้งหนึ่งคลื่น 2300 MHz เคยเป็นเครื่องมือของรัฐในการกระจายความเจริญไปสู่ชนบท ในวันนี้คลื่น 2300 MHz จะกลับมาเป็นเครื่องมือในการกระจายความเจริญให้แก่ผู้บริโภค และเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือผู้บริการ และประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล”

ที่ผ่านมา คลื่น 2300 MHz ถูกกำหนดให้เป็น Unpaired Frequency Bands หรือคลื่นความถี่ที่ใช้งานเป็นผืนเดียวกัน ไม่ได้แบ่งเป็นคลื่นความถี่สูง หรือคลื่นความถี่ต่ำ ดังนั้น เทคโนโลยีที่นำมาใช้งานร่วมกับคลื่นความถี่รูปแบบดังกล่าวก็คือ การนำ TDD-LTE มาใช้งาน

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ทางดีแทค วางงบลงทุนสำหรับการขยายบริการบนคลื่นความถี่ 2100 และ 2300 MHz ในปีนี้ไว้ที่ราว 15,000-18,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ครอบคลุม 37 จังหวัด หรือมากกว่า 25,000 สถานีภายในสิ้นปีนี้

เบื้องต้น ดีแทค จะเริ่มเปิดให้บริการด้วย 10 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในก่อน โดยจะครอบคลุมพื้นที่สาทร พระราม 3 สีลม ราชประสงค์ สุขุมวิท เจริญกรุง ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้

“จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการใช้งานข้อมูลในประเทศไทยที่มีอัตราเฉลี่ยมากกว่า 8GB ต่อผู้ใช้งานต่อเดือน แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการใช้งานดาต้าที่เพิ่มขึ้น และการที่มีคลื่นความถี่ บนเทคโนโลยีใหม่มาให้บริการ จะช่วยตอบโจทย์การใช้งานเหล่านี้”

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีการนำเทคโนโลยี TDD-LTE มาใช้งานแล้ว 57 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในจีน ที่มีการให้บริการ TDD-LTE ทั่วประเทศแล้ว ซึ่งจากจำนวนประชากรในจีนที่มีปริมาณมหาศาลแสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีดังกล่าวเหมาะต่อการใช้งานเพื่อรองรับการเชื่อมต่อดาต้าจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน ในประเทศไทย มีสมาร์ทโฟนจำนวนมากกว่า 70% ที่รองรับ 4G ในขณะนี้ จะสามารถใช้งานบนคลื่นความถี่ 2300 MHz TDD ได้ นอกจากนี้ ยังถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ “5G-ready” เพื่อให้บริการต่อในอนาคต

***ทำไม ดีแทค ถึงเชื่อมั่นใน TDD-LTE

การที่ ดีแทค เลือกนำเทคโนโลยี TDD-LTE มาใช้งานเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และถือเป็นครั้งแรกในกลุ่มของเทเลนอร์ด้วยที่จะได้คลื่นขนาด 60 MHz มาให้บริการ เนื่องจากมองว่ารูปแบบของเทคโนโลยีดังกล่าวเหมาะต่อพฤติกรรมของคนไทย ที่เน้นการรับชมคอนเทนต์เป็นหลัก

เนื่องจากเมื่อให้บริการด้วยเทคโนโลยี TDD-LTE ผู้ให้บริการสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการรับส่งดาต้าให้เหมาะต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ ส่งผลให้ไม่จำเป็นต้องแบ่งเป็นคลื่นสูงคลื่นต่ำ เหมือนเทคโนโลยี FDD-LTE ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ความคล่องตัวของ TDD-LTE จึงเปิดให้ดีแทคสามารถปรับความเร็วในการใช้งานให้แก่ลูกค้าตามความต้องการได้ เช่น ในบางพื้นที่มีการใช้งานดาวน์โหลดสูงๆ ก็สามารถปรับอัตราส่วนในการใช้งานดาวน์โหลดอัปโหลดเป็น 4:1 แต่ถ้าในบางพื้นที่มีการอัปโหลดเพิ่มมากขึ้น ก็สามารถปรับเพิ่มมาเป็น 3:2 หรือ 2:3 ก็ได้

ดังนั้น ผู้บริโภคก็จะได้ความเร็วในการใช้งานที่เหมาะต่อรูปแบบการเชื่อมต่อโดยอัตโนมัติ และที่สำคัญ คือ ช่วยให้ดีแทค สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระดับ 500 Mbps ได้ด้วยการนำคลื่น 60 MHz มาให้บริการแบบ 3CA



กำลังโหลดความคิดเห็น