“ซิคเว่ เบรคเก้” ใช้โอกาสบินมาไทยเพื่อประชุมบอร์ดเทเลนอร์ เข้าพบรองนายกฯ สมคิด หวังให้ช่วยประสานสัญญาพันธมิตรทีโอที ยืนยันการปรับองค์กรไม่ใช่เพื่อลดต้นทุน แต่เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อการแข่งขันในอนาคต 5-10 ปีข้างหน้า หยอดคำหวาน ดีแทค สำคัญต่อเทเลนอร์ในแง่การเป็นตลาดทดลองบริการดิจิทัล ก่อนนำไปใช้ในกลุ่มต่อไป
นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์ กรุ๊ป ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้าพบรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพื่อให้รายละเอียดถึงการที่เทเลนอร์ และดีแทค จะเข้าไปช่วยในการผลักดันไทยแลนด์ 4.0 ที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ขณะเดียวกัน ยังได้ฝากรองนายกฯ ให้ช่วยประสานเกี่ยวกับการเจรจาเป็นพันธมิตรระหว่างดีแทค และทีโอที ในการนำคลื่น 2300 MHz มาให้บริการ พร้อมชี้ให้เห็นว่า ถ้าการลงนามเป็นพันธมิตรเลื่อนออกไปก็จะทำให้ทีโอทีขาดรายได้เดือนละกว่า 400 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้พูดถึงการประมูลคลื่น 1800 MHz ที่จะเกิดขึ้นว่า ยังสับสนอยู่กับการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในการประมูลคลื่นของ กสทช. จากเดิมที่มีการเปลี่ยนรูปแบบการประมูลมาเป็นสล็อตละ 5 MHz จำนวน 9 ใบอนุญาต แต่ล่าสุดกลับมาเป็นการประมูล 15 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาตแทน และอยากเห็นแผนการประมูลคลื่นความถี่ในระยะยาว ช่วง 5-6 ปีข้างหน้า
“การที่ไม่มีความชัดเจนในแผนการประมูลคลื่น รวมถึงรูปแบบของการประมูล จะทำให้ผู้ที่สนใจวางแผนในการลงทุนลำบาก และอาจะก่อให้เกิดความต้องการเทียมของการประมูล ทำให้เกิดการนำคลื่นออกมาใช้งานน้อยเกินไป”
ในมุมของดีแทค มองว่า การประมูลคลื่น 1800 MHz ควรจะเป็นสล็อตการประมูลออกเป็น 9 ใบอนุญาตที่ 5 MHz จะเหมาะสมที่สุด เพราะเชื่อว่าผู้ให้บริการบางรายอาจจะไม่ต้องการคลื่นทั้ง 15 MHz และช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นในการลงทุนได้ด้วย
นายซิคเว่ กล่าวถึงการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในเวลานี้ว่า เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนมาก ทำให้หลายองค์กรต้องมีการปรับตัวสู่การเป็นดิจิทัล เซอร์วิส โพรวายเดอร์ ที่ในภูมิภาคยุโรปหลายองค์กรเริ่มปรับตัวไปแล้ว
“การปรับองค์กรให้รับกับยุคดิจิทัลต้องมีความยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพ ดังนั้น สิ่งที่เทเลนอร์ และดีแทคให้ความสำคัญในเวลานี้คือ การเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ที่จะช่วยผลักดันให้ขึ้นเป็นผู้นำในการให้บริการดิจิทัลได้”
นอกจากนี้ ยังระบุถึงความสำคัญของดีแทคในกลุ่มเทเลนอร์ ว่า ปัจจุบันดีแทคสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเทเลนอร์เป็นอันดับ 2 ดังนั้น การสร้างให้ดีแทค กลายเป็นองค์กรดิจิทัล จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้
“ยอมรับว่าในมุมของการเป็นผู้บริหารต้องรู้สึกไม่ดีที่ดีแทคสูญเสียลูกค้าในกลุ่มเติมเงิน แต่คิดว่าสิ่งที่ดีแทคทำในเวลานี้คือ การเตรียมการเพื่ออนาคต เนื่องจากผู้บริโภคมีแนวโน้มเปลี่ยนมาใช้งานรายเดือนมากขึ้น”
ตอนนี้ประเทศไทยมีพฤติกรรมการใช้งานดาต้า ก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับประเทศแถบสแกนดิเนเวียแล้ว ทำให้มองว่า อนาคตกลุ่มลูกค้าที่สำคัญของอุตสาหกรรมคือ ลูกค้าในกลุ่มผู้ใช้บริการรายเดือน และเชื่อว่าดีแทคยังทำได้ดีในกลุ่มนี้อยู่
สำหรับการเตรียมความพร้อมที่เกิดขึ้นนอกจากในแง่ของการปรับองค์กรแล้ว ก็จะมีการเตรียมการด้านเครือข่ายในการใช้งานดาต้า ที่ปัจจุบัน ทางกลุ่มเทเลนอร์ก็ได้เริ่มทดลองใช้งาน 5G เมื่อกฏระเบียบพร้อมก็จะนำประสบการณ์ดังกล่าวมาเปิดให้บริการในตลาดอื่นๆ ต่อไป
ขณะเดียวกัน ก็จะปรับให้องค์กรมีความเข้าใจลูกค้ามากขึ้น ด้วยการแบ่งลูกค้าแต่ละรายออกเป็นเซกเมนต์ที่ต้องทำความเข้าใจ ด้วยการนำระบบวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) เข้ามาใช้ ซึ่งดีแทค ก็ถือเป็นรายแรกๆ ที่นำระบบดังกล่าวเข้ามาใช้
สุดท้ายคือ การนำความรู้ในการให้บริการดิจิทัลของกลุ่มเทเลนอร์ ที่เริ่มนำ IoT มาใช้ในการให้บริการ Smart City Smart Building และ Digital Healthcare ในนอร์เวย์แล้ว ก็มีโอกาสนำเข้ามาให้บริการในประเทศไทยด้วย
“ตอนนี้ผู้บริโภคไทยมีการใช้งานดาต้าต่อเดือนอยู่ที่ราว 6GB ในขณะที่ผู้บริโภคในนอร์เวย์ใช้งานราว 3GB ต่อเดือนเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะนำบริการดิจิทัลทั้งหลายเข้ามาให้บริการในประเทศไทย”
อย่างล่าสุด ที่ดีแทค ทดลองนำรูปแบบการให้บริการมือถือยุคดิจิทัลอย่าง LINE Mobile เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ล่าสุด ก็เริ่มนำคอนเซ็ปต์ดังกล่าวไปให้บริการกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มเทเลนอร์แล้ว และอนาคตก็จะนำการงิเคราะห์ข้อมูลรายบุคคลที่เริ่มใช้กับดีแทคไปใช้งานที่อื่นด้วย