xs
xsm
sm
md
lg

ฟูจิตสึไม่หวั่น! โควิด-19 ทำเงินลงทุนไอทีสะดุดทั่วไทย (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฟูจิตสึ (Fujitsu) มองเงินลงทุนไอทีตลาดไทยช่วงโควิด-19 เป็นต้นไปลดลงแน่นอน แต่ไม่ได้หมายความว่าบริษัทไทยจะเลิกลงทุนด้านเทคโนโลยี เพราะจะเป็นการลดเพื่อเลื่อนไปตั้งหลักช่วงไตรมาส 4 ของปี ฟันธงทุกบริษัทตัดสินใจเหมือนกันหมดเรื่องเลื่อนโครงการไอทีดั้งเดิมไปช่วงตุลาคม 63 แล้วเปลี่ยนแผนลงทุนระบบไอทีที่จำเป็นต่อการทำงานจากบ้านหรือ Work From Home ที่ปลอดภัย

นายพรชัย พงศ์เอนกกุล ผู้อำนวยการฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและพันธมิตรธุรกิจ กลุ่มธุรกิจดิจิทัลโซลูชั่น บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลเชิงลึกและทิศทางฟูจิตสึในช่วงโควิด-19 ว่าวิกฤตินี้ทำให้การนำเสนอโซลูชันไอทีกับบริษัทองค์กรไทยเปลี่ยนไป มาเป็นการชูจุดขายเรื่องลดต้นทุน เพื่อทำให้ทุนที่บริษัทมีสามารถเพิ่มยอดขายได้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี จุดขายนี้เปลี่ยนจากเดิมที่เน้นโฟกัสเรื่องปัญหาที่องค์กรเผชิญอยู่ ซึ่งขณะนี้ฟูจิตสึเห็นชัดเจนว่าองค์กรกำลังมีปัญหาหลักคือรายได้ลดลง

“โปรเจ็กที่อาจถูกเลื่อนยาวคือ ERP เช่นเดียวกับโปรเจ็กต์ที่เน้นอัปเกรดระบบ รวมถึงโปรเจ็กต์เกี่ยวกับดาต้าเซ็นเตอร์ก็จะถูกเลื่อนออกไปแล้วเน้นที่คลาวด์เซอร์วิสไปก่อน” พรชัยย้ำ “เรื่อง PDPA (พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) น่าจะเลื่อนไปด้วย แต่ก็ยังไม่แน่ชัด”

เลื่อนไหม? พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล

องค์กรอาจชะลอการลงทุนระบบออกไปแม้ว่า พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือ PDPA มีกำหนดบังคับใช้เดือนพฤษภาคม 63 ซึ่งจะเป็นเส้นตายที่กำหนดไว้ก่อนยุคโควิด-19 ให้คนไทยมีสิทธิ์ขอให้ทุกบริษัทลบทิ้งข้อมูลส่วนตัวออกจากระบบ หรืออาจฟ้องร้องเอาผิดกับบริษัทที่ดำเนินการกับข้อมูลส่วนตัวอย่างไม่เหมาะสม


ในขณะที่ยังไม่มีการประกาศจากรัฐบาลเรื่องการเลื่อนเส้นตาย PDPA ออกไป พรชัยเผยว่าองค์กรจะปรับตัวได้ 3 ทางให้รับกับ PDPA คือทางพนักงาน ทางโปรเซสหรือกระบวนการทำงาน และทางโซลูชัน ดังนั้นองค์กรจะผ่าน PDPA ได้ในขั้นแรกเมื่อมีผู้ดูแลข้อมูล และมีโปรเซสการเก็บข้อมูลที่เหมาะสม ส่วนโปรดักต์หรือโซลูชันนั้นอาจจะเป็นอีกเฟสที่บริษัทสามารถยกระดับด้วยการลงทุนโปรดักต์เพิ่มเติมได้ ซึ่งถ้าไม่มีทุนส่วนนี้ ก็สามารถชะลอไปก่อน

การชะลอโครงการดั้งเดิมที่วางแผนไว้ช่วงก่อนโควิด-19 นั้นเกิดขึ้นตลอด 2 เดือนที่พนักงานของหลายบริษัทต้องทำงานจากบ้านหรือ WFH เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 2,248,330 คน ยอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 154,126 คนทั่วโลก โดยไทยเป็นประเทศอันดับ 3 ที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในอาเซียน รองจากมาเลเซีย และสิงคโปร์


โครงการไอทีดั้งเดิมที่สะดุดทำให้ฟูจิตสึเปลี่ยนโฟกัสธุรกิจมาที่ 4 บริการหลักที่มีโอกาสเติบโตมากกว่าในช่วงโควิด ที่ผ่านมา ฟูจิตสึเน้นให้บริการแมนเนจเซอร์วิส หรือการนำทีมฟูจิตสึเข้าไปนั่งให้บริการลูกค้าลักษณะเดียวกับเอาท์ซอร์สที่มีคนควบคุมใกล้ชิด ซึ่งทั้ง 4 โฟกัสใหม่นี้มาจากการพบว่าในช่วง WFH หลายองค์กรที่เป็นลูกค้าของฟูจิตสึมีปัญหาด้านไอทีใน 4 ส่วน ได้แก่ เวิร์กเพลสหรือสถานที่ทำงาน ทั้งการประชุมคอนเฟอร์เรนซ์คอลและการทำงานทั่วไป, ส่วนรีโมทแอคเซสที่พนักงานสามารถเข้าสู่เครือข่ายจากระยะไกลได้ปลอดภัยเหมือนนั่งอยู่ที่ออฟฟิศ, การรีโมทเข้ามาในเครือข่ายเพื่อดำเนินงาน หรือการอนุมัติงาน และส่วนที่ 4 คือการจัดการจัดการพนักงานจากระยะไกล

“ความท้าทายคือหลายบริษัทไม่ได้วางแผนเรื่องรีโมทแอคเซส ขณะเดียวกันก็มีปัญหาเรื่องการประชุมที่ไม่เสถียร มีปัญหาเช่นภาพกระตุก ตอนนี้ฟูจิตสึทำแคมเปญช่วยลูกค้าก่อนในเฟสแรก เชื่อว่าเฟส 2 จะมีการลงทุนแน่นอน”

ในเฟส 1 ฟูจิตสึเสนอโซลูชั่น #COVIDCAMPAIGN ให้พนักงานองค์กรสามารถใช้งานได้จากบ้าน มีการทำ 4-5 แคมเปญในรูปโซลูชันระยะสั้นให้ใช้ฟรี 3 เดือนก่อนที่ฟูจิตสึจะเริ่มการอบรม และให้ความรู้เรื่องการอัปเกรดเทคโนโลยี WFH ให้ลูกค้าเข้าใจ เบื้องต้นเชื่อว่าช่วงหลังโควิด องค์กรบริษัททั้งในไทยและต่างประเทศจะต้องกลับเข้ามาทำงานตามปกติประมาณตุลาคม 63 แต่จะยังติดภาพ WFH ซึ่งจะช่วยให้องค์กรเปลี่ยนผ่านตัวเองสู่ยุคดิจิทัลหรือดิจิทัลทรานสฟอร์มได้เร็วขึ้น

โควิด-19 รอบ 2 !?
บริษัทวิจัยการ์ทเนอร์คาดคะเนว่า โควิด-19 อาจกลับมารอบ 2 ฟูจิตสึจึงทรานสฟอร์มในบริษัท ให้เป็นเคสจริงที่อธิบายลูกค้าได้ โดยในเฟสแรกที่เกิดเหตุการณ์ พรชัยพบว่าทุกบริษัทรวมถึงฟูจิตสึเองก็มีปัญหาเรื่องรายได้ ทำให้หลายบริษัทมีแผนลดสำนักงาน และตัดค่าใช้จ่ายบางส่วนออกไป

“สิ่งที่เห็นจากเคสจริง คือลูกค้าส่วนมากจะดีเลย์โปรเจ็กต์ออกไป ในช่วงครึ่งปีหลังจึงจะพิจารณาเรื่องการลงทุนโครงการนั้นอีกครั้ง การลงทุนใหม่อาจเทไปที่คลาวด์เลย เราเป็นแมนเนจเซอร์วิสที่ลดต้นทุนได้จึงไม่กระทบมาก ที่กระทบคือลูกค้าขอเครดิตที่นานขึ้น ซึ่งฟูจิตสึและเวนเดอร์หลายที่ก็ช่วยกัน”

โปรเจ็กต์ที่เลื่อนยาวทำให้บริษัทสามารถนำเอางบที่มีมาปรับปรุง WFH ให้ดีขึ้น พรชัยอธิบายว่า WFH ต้องลงทุน 3 ด้านคือการเชื่อมต่อที่ปลอดภัย, โซลูชันเพื่อการทำงานร่วมกันจากระยะไกล และระบบข้อมูลที่บางบริษัทอาจมองข้ามไป เพราะหากเป็นบริษัทขนาดกลางหรือใหญ่ มักจะมีระบบสำรองข้อมูลที่คอมพิวเตอร์ในสำนักงาน แต่การทำงานที่บ้านจะขาดส่วนนี้ไป ทำให้โอกาสข้อมูลรั่วไหลมีมากขึ้น


เค้กก้อนใหญ่ที่ฟูจิตสึมองเป็นโอกาสทองคือโซลูชันซีเคียวริตี้เพื่อการทำรีโมทแอคเซส, ดาต้าแบคอัป และเรื่องประชุมคอลลาบอเรชัน พรชัยเชื่อว่าการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดจะอยู่ที่ระบบซีเคียวริตี้เพื่อการทำรีโมทแอคเซส เพราะค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 200 คน การลงทุนส่วนนี้จะสูงกว่าส่วนอื่น และสูงกว่าแบบปกติที่ไม่รองรับการรีโมทถึง 3 เท่าตัว เรียกว่าจากที่องค์กรเคยจ่าย 5 แสนบาท ก็อาจต้องเพิ่มเป็น 1.5 ล้านบาท ขณะที่ระบบดาต้าแบคอัป การลงทุนจะมีมูลค่าน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม พรชัยมองว่าสุดท้ายแล้ว องค์กรจะไม่สามารถลงทุนเพียง 3 ส่วนนี้ เพราะจะต้องลงทุนเรื่องโครงข่ายภายในบริษัทตัวเองด้วย ทั้งระบบแอปพลิเคชัน หรือดาต้าเซ็นเตอร์ของบริษัทที่จะต้องดีในระดับหนึ่ง และต้องทำให้รองรับการทำงานหลายรูปแบบ ไม่เช่นนั้นงานของธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากความหน่วงช้างของระบบ

“ทั้งหมดนี้เป็นดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน ก่อนหน้านี้คนไม่ทำกันเพราะดูยากและทุนสูง แต่เหตุการณ์นี้ทำให้องค์กรลงมือทำทันที เพราะสะดวกสบายและทำงานได้ดี การ WFH ในช่วงโควิดเป็นเหตุการณ์ที่องค์กรเห็นว่าทำได้ เป็นช่วงเวลาเริ่มต้นที่ดี ซึ่งถ้าไม่พร้อมก็เป็นภัย”

ในส่วนของฟูจิตสึเอง ความท้าทายใหญ่ที่สุดในเวลานี้คือลูกค้าบางรายต้องปิดโรงงาน ทำให้มีการขอส่วนลดราคาค่าบริการตามที่พนักงานลดลง ฟูจิตสึจึงต้องลดต้นทุนเพื่อให้ลูกค้าชำระเงินในราคาที่ลดลงตามสัดส่วนที่ตั้งไว้ ทั้งหมดนี้ฟูจิตสึยืนยันว่าได้รับกระทบบางส่วนเท่านั้น เช่นการขยายบิสสิเนสหรือการเพิ่มพนักงานที่อาจต้องวางแผนใหม่แล้วทยอยเพิ่ม ขณะเดียวกันก็จะปรับแผนขยายธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ตามลูกค้าที่ชะลอการลงทุนไป

“เราไม่หยุด แต่จะวางแผนใหม่และบริหารต้นทุนด้วยงบประมาณที่ลดลง เราทำ 5 แพคเกจโควิดออกมาให้ลูกค้าพิจาณาในราคาไม่สูง ที่จะเริ่ม 1 พ.ค. นี้คือการจัดออนไลน์เทรนนิง เพื่ออัปเดทเทรนด์ใหม่และเทคโนโลยีใหม่ให้ลูกค้า วิกฤตินี้กระทบทุกบริษัท เพียงแต่มากน้อยต่างกัน สำหรับฟูจิตสึเราทำแคมเปญกับทางภูมิภาคด้วย จึงทำได้เร็ว”


สำหรับภาพรวมในตลาดโซลูชันไอทีสำหรับองค์กร พรชัยชี้ว่าไทยมีความต้องการและความท้าทายเหมือนหลายประเทศในอาเซียน เทรนด์ที่เกิดขึ้นคือพิษเศรษฐกิจจะทำให้ลูกค้าองค์กรมองการลดต้นทุนเป็นหลัก โดยงานวิจัยพบว่าการลงทุนระบบไอทีช่วง 3 เดือนทั้งก่อนหน้าและหลังเริ่มเกิดวิกฤติโควิด จะเน้นที่การเอาท์ซอร์สซิ่งเป็นหลัก โดยองค์กร 37% จะลดพนักงานไอทีแบบประจำลง แล้วจ้างผู้ดูแลเป็นเอาท์ซอร์ส สะท้อนว่าบริการของฟูจิตสึนั้นตรงกับเทรนด์พอดี

นอกจากเอาท์ซอร์ส การสำรวจของไอดีซีชี้ว่าการลงทุนระบบไอทีในด้านรองลงมาคือการลงทุนพับลิกคลาวด์เซอร์วิส และด้านซอฟต์แวร์

เป้าหมายการเติบโตฟูจิตสึหลังจากนี้จะยังเป็นแผนเดิม คือการทรานสฟอร์มบริษัทภายใน 3 ปี จากที่มีรายได้จากธุรกิจโปรดักต์และเซอร์วิส ฟูจิตสึจะเป็นบริษัทที่มีรายได้จากเซอร์วิสมากกว่าที่สัดส่วน 45-55 โดยจะพยายามเน้นขายทั้งบริการแมนเนจเซอร์วิสและคลาวด์เซอร์วิส แก่ฐานลูกค้าหลักคือโรงงานภาคการผลิต, สถาบันการเงิน, ค้าปลีก และราชการ ซึ่งใน 4 กลุ่มนี้ ธุรกิจที่กระทบน้อยและยังบวกในสถานการณ์โควิด-19 คือภาครัฐและราชการ

“กลุ่มที่มีลูกค้าเป็นสถาบันการเงินจะลำบาก แต่กลุ่มที่มีลูกค้าเป็นหน่วยงานรัฐบาลจะยังอยู่ได้ เพราะงบประมาณปีที่แล้วจะถูกเอามาใช้ปีนี้ ยังไงปีนี้ก็ต้องลงทุนให้หมด เช่น การไฟฟ้า งบลงทุนไอที 100-300 ล้านบาทนี่มีอยู่แล้ว แต่ปีหน้าก็ต้องดูอีกที” พรชัยทิ้งท้าย “กลุ่มอื่นที่ยังมีเงินหนารองลงมาคือกลุ่มบริษัทด้านการสื่อสาร นอกนั้นลดหมด ทั้งขนส่ง รีเทล โรงงาน เชื่อว่าเฟส 2 จึงเริ่มทรงตัวได้ แต่งบที่มีนั้นลดแน่นอน ไม่คงเดิมหรือเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะพยายามเอาไปใช้รองรับ WFH ในอนาคต”

ถึงเวลา “โควิด-19 รอบ 2” จะได้ไม่ต้องตื่นเต้นหรือสะดุดกันอีก.


กำลังโหลดความคิดเห็น